xs
xsm
sm
md
lg

“สรรเสริญ” เผยเคารพศาลคดี “แท็กซี่เสื้อแดง” ติดใจตำรวจให้ข้อมูลบิดเบือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะอดีตโฆษก ศอฉ. (ภาพจากแฟ้ม)
อดีตโฆษก ศอฉ.เผยเคารพคำตัดสินของศาล คดี “พัน คำกอง” แท็กซี่เสื้อแดงถูกยิง กังขาตำรวจให้การว่าผ่านเข้าพื้นที่ไม่ได้ ทั้งที่ตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของ ศอฉ. เชื่อสังคมรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะชายชุดดำที่ คอป.แถลงว่ามีอยู่จริง มองเป็นบทเรียนของทุกฝ่าย

วันนี้ (17 ก.ย.) พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะอดีตโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ให้สัมภาษณ์ในรายการ นิวส์อาว ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ถึงกรณีที่ศาลอาญามีคำสั่งผลชันสูตรสาเหตุการตายของนายพัน คำกอง โชเฟอร์แท็กซี่ นปช.ช่วงระหว่างชุมนุมปี 2553 เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ช่วงกระชับพื้นที่ ว่า ก็ต้องเคารพในการตัดสินของศาล แต่ว่าในขั้นตอนต่อไปก็ต้องเป็นเรื่องที่ทางศาลจะส่งสำนวนกลับไปที่อัยการ และส่งต่อไปที่ดีเอสไอ เพื่อที่จะสืบสวนสอบสวนในรายละเอียดต่อไปว่า เหตุการณ์ที่ว่านั้น รถตู้คันที่อยู่ในที่เกิดเหตุเข้าไปทำอะไร ผู้ตายเข้าไปในตรงนั้นทำอะไร แล้วก่อนเหตุการณ์มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อจะพิสูจน์ความจริงและหาตัวผู้กระทำผิด ก็เป็นขั้นตอนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อศาลชี้ออกมาก็ต้องเคารพในการพิพากษา ก็ต้องว่าไปตามกระบวนการและขั้นตอน

ส่วนการปฏิบัติการในภาพรวมของ ศอฉ. พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องลับ เป็นเรื่องที่สังคม ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง รวมทั้งประชาชนก็รับรู้รับทราบอยู่ว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นมาจากอะไร ก่อนที่สถานการณ์จะรุนแรงบานปลาย การชุมนุมนั้นแกนนำก็อ้างว่าเป็นการชุมนุมที่ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความรุนแรง สันติอหิงสา แต่ภาพที่ปรากฏ คำสั่งศาลก็ออกมาในช่วงนั้นว่าเป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย แล้วก็เป็นที่ปรากฏซึ่งวันนี้ในคำแถลงของทางคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ก็สรุปใจความโดยรวมได้ว่า มีชายชุดดำอยู่จริง

“ชายชุดดำที่ว่า บางทีอาจจะไม่ได้ใส่ชุดดำ อาจใส่ชุดอย่างอื่นแทน ก็เรียกกันในนามว่าชายชุดดำ มีการใช้อาวุธสงคราม ยิงทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปในที่ต่างๆ แล้วก็แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ถามว่าเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติอะไรได้อีกที่ดีไปกว่านี้ เราก็พยายามทำตามขั้นตอนของกฎหมาย พยายามควบคุมทุกอย่างโดยใช้ขั้นตอนการควบคุมฝูงชนตามหลักสากล 7 ขั้นตอนที่ผมเคยอธิบายความจนน้ำลายแห้งเนี่ย ในขณะเดียวกันเมื่อมีการใช้อาวุธสงคราม เจ้าหน้าที่ก็ต้องพยายามที่จะปกป้องตัวเองด้วย เพราะเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เขาก็มีสิทธิ์ที่จะปกป้องตัวเอง ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องปกป้องพี่น้องประชาชนแล้วก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนด้วย” พ.อ.สรรเสริญ กล่าว

อดีตโฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ในเหตุทั้งหมดเราอย่าเพิ่งไปมองผลสรุปสุดท้ายว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ต้องใช้กระสุน ก็จะต้องมองตั้งแต่เหตุเริ่มต้นว่า เริ่มต้นมันมีอะไรเกิดขึ้น มันถึงพัฒนาจนกระทั่งถึงเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้กระสุนจริง ก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่ทหารจะออกมาได้มีความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายไหม หรือว่าเฉย เฉื่อยชา หรือมีบทเรียนจากการปฏิบัติงานครั้งก่อน ซึ่งปฏิบัตินานแล้วมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจนไม่กล้าที่จะกระทำ เมื่อเป็นเช่นนั้นถามว่า บทเรียนมีแล้วจะใช้เหตุเป็นข้ออ้างว่า เลยไม่กล้าปฏิบัติจนต้องใช้ทหาร มันเหมาะสมไหม ตนเห็นว่าสังคมต้องมองทุกๆ มุม

เมื่อถามว่า เฉพาะเหตุการณ์ที่ราชปรารภ การตัดสินใจของเจ้าพนักงานทหารเป็นอย่างไร พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า ตนอยู่ในส่วนของ ศอฉ.ที่ศูนย์ตรงกลาง โดยรายละเอียดตนไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนนัก แต่โดยหลักการก็คือ เราพยายามที่จะกันไม่ให้มีการนำอาวุธ มีการจัดคนเข้าไปเพิ่มเติมในพื้นที่ราชประสงค์ ด้วยเหตุที่อยากให้การชุมนุมนั้นยุติ เพราะว่าเหตุความวุ่นวาย ความเดือดร้อนมันเกิดขึ้นกับบ้านเมือง ทั้งระบบเศรษฐกิจ ทั้งประชาชน ก็พยายามทุกวิถีทาง แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ต้องดูลงไปในรายละเอียดว่า จริงๆ แล้วในการตกลงใจในพื้นที่ ผู้ที่มีอำนาจตกลงใจในระดับพื้นที่ ท่านก็ต้องดูดุลยพินิจของท่าน

“วิเคราะห์ตามสถานการณ์ว่า ถ้ามีเหตุรถจะผ่านเข้าไป จะต้องแจ้งให้รถนั้นหยุดด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงว่าอย่าเข้าไป เพราะเราก็ไม่รู้ว่ามีอะไรในรถมาบ้าง ไม่มีใครยืนยันได้ ไม่มีใครไปตรวจสอบในรถก่อนได้ว่า มันมีระเบิด มันมีอาวุธหรือเปล่า เพราะในช่วงที่ผ่านมามันมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บังคับหน่วยในพื้นที่ แต่เราก็มั่นใจว่ากำลังพลทุกนายในพิ้นที่ก็ไม่ได้ต้องการที่จะทำร้ายประชาชน ก็พยายามทำอย่างรอบคอบ อย่างรัดกุมที่สุด แล้วก็ทราบว่าผู้ที่เสียชีวิตไม่ได้อยู่ในรถ”

เมื่อถามว่า ในคำสั่งของศาลอาญา โดยข้อเท็จจริงขัดแย้งกับรายงานที่มีอยู่หรือไม่ พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า เท่าที่ตนถูกเรียกไปเป็นพยาน เจ้าหน้าที่ที่เรียกไปก็บอกว่าเขาอยู่ในส่วนของการประกาศให้รถคันนั้นหยุด แต่รถคันนั้นก็ยังฝ่าเข้ามา แล้วก็ฝ่าเลยแนวที่เขาอยู่ แล้วก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด จนกระทั่งรถนั้นหยุด ตอนที่ตนไปให้การในฐานะพยานเขาก็ถามถึงสถานการณ์โดยทั่วไป การชี้แจงแถลงข่าว แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดที่เขาเรียกไปแล้วบอกว่าไปอยู่ในกลุ่มของผู้ที่ใช้อาวุธ เพราะฉะนั้นตรงนี้ตนก็ตอบรายละเอียดมากไปกว่านี้ไม่ได้ เมื่อหมดภาระหน้าที่ไปสอบตนก็กลับ

ทั้งนี้ ตนรู้สึกว่าคนไปให้การหลังจากตนอีก 1-2 คน ก็ให้การในลักษณะว่าอยู่ในส่วนของคนที่ประกาศ ซึ่งใช้โทรโข่งประกาศออกไปว่าให้รถตู้คันนี้หยุด ซึ่งรถตู้คันดังกล่าวพยายามออกไปจากซอยราชปรารภ 8 มุ่งหน้าไปทางสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงก์ แล้วรถคันนี้ก็จอดอยู่พักหนึ่ง เขาก็พยายามใช้โทรโข่งขนาดใหญ่เพื่อให้เสียงดังขึ้น สักพักรถตู้คันนี้วิ่งฝ่าเข้ามาก็วิ่งฝ่าแนวที่เจ้าหน้าที่ใช้โทรโข่งประกาศ แล้วก็มีเสียงปืนดังหลายนัด จนกระทั่งรถหยุด แต่ตัวเขาซึ่งอยู่ในโซนที่ประกาศเขาไม่ได้เป็นผู้ยิง

เมื่อถามว่า กองทัพจะถือว่าคดีนี้เป็นบทเรียนในแง่มุมไหนได้บ้าง พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า โดยบทเรียนคงไม่ใช่แค่ผู้ปฏิบัติอย่างเดียว เป็นบทเรียนของทุกฝ่าย ทั้งผู้ชุมนุมที่พยายามใช้ว่าการชุมนุมด้วยความสันติ อหิงสา แท้จริงแล้วท่านเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงหรือเปล่า กรณีที่มีชายชุดดำที่ใช้อาวุธ จะแต่งกายด้วยชุดดำหรือสีทำนองคล้ายๆ สีดำแต่เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นผู้ที่ใช้อาวุธสงครามยิงออกไปยังจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานก็จริง ท่านได้ให้ท้ายพวกนี้หรือเปล่าท่านได้สนับสนุนพวกนี้หรือเปล่า ท่านปากว่าตาขยิบหรือไม่

“เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานในฐานะผู้ควบคุมกฎหมายตั้งแต่การปฏิบัติการชุมนุมได้เริ่มต้นตั้งแต่แรก ท่านแข็งขันเต็มที่ไหม ท่านบังคับใช้กฎหมายเต็มที่ไหม เจ้าหน้าที่ทหารที่ไปในการปฏิบัติภารกิจ ท่านมีนโยบาย มีคำสั่งที่ชัดเจนในการตกลงใจปฏิบัติไหม ท่านใช้ดุลยพินิจอะไร ท่านคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ผมว่ามันเป็นบทเรียนกับทุกฝ่าย ที่จะต้องร่วมกันเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้มันเกิดขึ้นอีก” พ.อ.สรรเสริญ กล่าว

เมื่อถามว่า ตามคำสั่งศาลระบุว่า เชื่อได้ว่าในที่เกิดเหตุมีเพียงเจ้าพนักงานทหารที่สามารถพกพาอาวุธปืนได้เท่านั้น โอกาสที่จะมีคนร้ายหลายคนพร้อมอาวุธปืนผ่านเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมดังกล่าวย่อมเป็นไปไม่ได้ พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า ตนเคารพในคำชี้ของศาล แต่ตนติดใจอยู่นิดเดียว ตรงที่มีเจ้าพนักงานตำรวจที่ให้ข้อมูลว่า แม้ตำรวจก็ยังผ่านไปไม่ได้ ถามว่า ศอฉ.มันประกอบด้วยทหารอย่างเดียวหรือเปล่า ศอฉ.ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราชการประจำ จากทุกกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง ตำรวจก็เป็นหนึ่งใน ศอฉ. ทำไมท่านถึงเข้าไม่ได้ ท่านก็เป็นเจ้าพนักงาน ท่านเข้าไปปฏิบัติภารกิจก็ต้องดูกัน ต้องย้อนถามตัวท่านว่า ถ้าตำรวจเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของ ศอฉ.หรือไม่ ก็ท่านรักษาการ ผบ.ตำรวจ นั่งประชุมทุกวัน

มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 16.30 น. พ.อ.สรรเสริญให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ศาลท่านชี้ ตามสิ่งที่ได้ท่านไต่สวน ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เป็นผู้ดำเนินการหรือไม่ หรือการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง เกิดจากเจ้าหน้าที่หรือไม่ ดังนั้นเราเคารพในการชี้ของศาล แต่ขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องที่ทางศาลจะต้องส่งสำนวนต่อไปทางอัยการ และอัยการจะส่งต่อไปยังพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกระบวนการต่อไป

“สิ่งหนึ่งที่กองทัพอยากชี้แจงทำความเข้าใจส่วนหนึ่งคือ ต้องย้อนกลับไปดูถึงสาเหตุในกระบวนการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ในขั้นต่อไปว่า ที่เกิดอย่างนั้น มีมูลเหตุมาจากอะไร เจ้าหน้าที่ทำตามกฏหมายอะไร แล้วพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่เข้าประกาศเป็นพื้นที่อันตรายที่ห้ามเข้าไปหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องระมัดระวังในการนำเสนอ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีผลกระทบต่อความรู้สึกของทุกฝ่าย อย่าลืมว่าในเหตุการณ์ที่ว่ามานี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนอยากให้เกิด ในขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต มีด้วยกันทุกฝ่าย” พ.อ.สรรเสริญ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น