xs
xsm
sm
md
lg

โพลย้ำปูไร้น้ำยา แฉ30นักการเมืองฟอกเงินน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (16 ก.ย.) ว่า นายกรัฐมนตรีได้ใช้เวลาช่วงวันหยุดพักผ่อนอยู่ภายในบ้านพักในซอยโยธินพัฒนา 3 กับครอบครัว โดยไม่ได้เดินทางออกไปไหน พร้อมทั้งติดตามรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่เขตเทศบาลเมืองสุโขทัย ซึ่งล่าสุดได้เกิดปัญหาบิ๊กแบ็ก และแนวพนังกั้นน้ำพังลงมาอีกครั้ง โดยคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี แจ้งว่า นายกฯได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้สั่งการให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย และ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะประธาน กบอ. เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคอนเฟอร์เรนซ์ กับผู้ว่าราชการจังหวัด ที่กระทรวงมหาดไทย ในเวลา 13.00 น. (16 ก.ย.) เป็นการด่วน เพื่อเร่งแก้ไขสถานการณ์ และวางแผนการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ พร้อมให้รายงานสถานการณ์ให้ทราบตลอดเป็นระยะๆ

** "ปลอด"คุยใช้เทคโนโลยีสู้น้ำท่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. ที่กระทรวงมหาดไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในฐานะประธานประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ น.อ.อนุดิษฐ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคอนเฟอร์เรนซ์ กับผู้ว่าราชการจังหวัดใน 36 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน ตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และชัยภูมิ
นายยงยุทธ กล่าวว่า นายกฯ มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.สุโขทัย เลยอยากให้ทาง กบอ. และกระทรวงมหาดไทย ทำงานร่วมกัน ตั้งแต่วันนี้เพื่อความอบอุ่น และความสบายใจของประชาชน
นายปลอดประสพ กล่าวว่า นายกฯมีความห่วงใยต่อชีวิต ความรู้สึก ของประชาชน จึงอยากให้มีการติดตามประเมินสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชม. มีการรายงานอย่างเป็นระบบ ในความเห็นของตน เรากำลังต่อสู้อยู่ด้วยกัน 2-3 ด้าน คือ 1.ภัยพิบัติน้ำท่วมที่เป็นไปตามธรรมชาติ เชื่อว่าทำได้ และต้องผ่านให้ได้ และ 2. เรากำลังต่อสู้กับความกลัวของประชาชน เนื่องจากเหตุการณ์ปีที่ผ่านมาสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนเกิดความกลัว ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำให้ได้คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาล จะได้ใช้ชีวิตตามปกติ ทั้งหมดเป็นเป้าหมายที่ต้องทำให้ได้
"ศึกครั้งนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 เดือน แต่จะรู้ผลแพ้ชนะภายใน 1 เดือน เชื่อว่าไม่มีอะไรที่เราจะต่อสู้กับศึกครั้งนี้ไม่ได้ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เรารู้แล้วว่าต้องต่อสู้อย่างไร รวมทั้งใช้การเทคโนโลยีระบบที่ดีที่สุดในโลกที่มีอยู่ทั้งหมดในการหาทาง ผมคิดว่าไม่มีอะไรเกินเลยจนบริหารงาน และฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปไม่ได้" นายปลอดประสพ กล่าว
สำหรับแผนป้องกันการเผชิญเหตุระดับชาติมีด้วยกัน 10 ข้อ ประกอบด้วย
1. การสนธิกำลังฝ่ายอำนวยการและฝ่ายปฏิบัติทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ จากผู้มีอำนาจตัดสินใจ มีความรู้เข้าถึงข้อมูลและกบอ.จะมีการจัดเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง 2.คณะทำงานต้องประเมินการทำงานทุก 3-6 ชั่วโมง 3. จะต้องมีการรายงานสถานการณ์ให้ทราบทุกวันเพื่อการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา 4. ต้องมีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเป็นประจำทุกวัน รวมทั้งจะมีการให้ข้อมูลเป็นรายชั่วโมงอีกด้วยเพื่อผู้สื่อข่าวจะได้ใช้ข้อมูลเดียวกัน 5. ต้องเชื่อมข้อมูลข่าวสารให้ได้ และจะต้องมีระบบสำรอง คือระบบจะล่มไม่ได้โดยเด็ดขาด
6. สแตนด์บาย เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ รถ เรือให้สามารถใช้ได้ตลอดเวลา 7. ติดต่อระบบคอนเฟอร์เรนท์เพื่อจะได้ติดต่อกับผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทันเวลา 24 ชั่วโมง 8. ที่ทำการ กบอ. ทำเนียบรัฐบาล จะต้องมีบอร์ดขนาดใหญ่เพื่อเขียนวาระการทำงานและการสั่งการให้ทุกคนได้เห็นตลอดเวลา 9. ต้องมีการเตรียมรายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ เว็บไซต์ เอสเอ็มเอส ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และพิมพ์แจกให้คนเกี่ยวข้องได้ถือเอาไว้ โดยต้องจัดเก็บข้อมูลให้เสร็จภายใน 2-3 วันนี้ และ 10. ขอให้ฝ่ายทหารได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถประสานกับเหล่าทัพได้มาประจำการที่ กบอ.

** คาดโทษผู้ว่าฯที่ไม่อยู่ในพื้นที่

ประธานกบอ. กล่าวอีกว่า สำหรับในระดับพื้นที่ มีด้วยกัน 9 ข้อ ประกอบด้วย
1. นายกฯสั่งหลายครั้งว่าจะต้องมีการจัดตั้งส่วนหน้าจังหวัด ซึ่งจะต้องมีความชัดจนในเรื่องของสถานที่และการติดต่อตำแหน่งต่างๆ ต้องมีความชัดเจน ทำงาน 24 ชั่วโมง ยิ่งกว่านั้นถ้าพบพื้นที่เสี่ยงภัยระดับจังหวัด ตำบล โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัย ก็ขอให้มีหน่วยเผชิญเหตุในลักษณะระดับโมบาย เตรียมพร้อมไว้ สิ่งที่ นายกฯได้สั่งคือ ข้าราชการต้องอยู่ในพื้นที่ก่อนเกิดเหตุก่อนเสมอ นอกจากนี้ ขอให้ติดต่อสื่อสารได้ตลอดเวลา
2.ในระดับพื้นที่ริมน้ำขอให้มีหน่วยเผชิญเหตุระดับตำบลขึ้นไป ทำให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยหรือพื้นที่ที่หวั่นไหวขอให้มีหน่วยเผชิญเหตุระดับพื้นที่ทำหน้าที่กึ่งโมบาย
3.ให้มีการติดตั้งเครื่องมือสื่อสาร
4. ต้องประเมินสถานการณ์ทุก 3 - 6 ชั่วโมง และให้รายงานเป็นลำดับชั้น
5. คำสั่งนายกฯให้เตรียมอุปกรณ์ในการจัดการในระดับจังหวัด
6. ต้องมีการจัดระบบตรวจสอบ ความพร้อม โรงพยาบาล โรงเรียน และร้านค้า
7.การเตรียมสถานที่ใช้อพยพ สำหรับ คนชราหรือเด็ก อย่ารอให้เกิดเหตุการณ์ก่อนที่ภัยจะมา ขอให้รีบออกก่อนโดยปีนี้จะไม่มีการอพยพแบบลุยน้ำ
8.ระดับ ตำบล อำเภอ ขอให้ขอรายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และส่งมายังส่วนกลาง
9.คำสั่งนายกฯ คือเจ้าหน้าที่จะต้องอยู่พร้อมก่อนเกิดเหตุการณ์เสมอ แม้จะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ไม่เป็นไร
" นายกฯสั่งการว่า ต่อไปข้าราชการจะต้องอยู่ในพื้นที่ก่อนเกิดเหตุทุกครั้ง ถ้าอยู่แล้วไม่เกิดเหตุไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่อยู่แล้วเกิดเหตุจะเป็นไรทันที" ประธานกบอ.ระบุ

**ระดมเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือ

ด้านนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่จ.สุโขทัย ผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอร์เรนท์ ว่า จากการใช้เฮลิคอปเตอร์รอบๆ เทศบาลสุโขทัย พบบางพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขัง เนื่องจากน้ำได้ล้นพนังกันน้ำ โดยเฉพาะบริเวณสะพานแม่ย่า ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำสุด ซึ่งได้มีการเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขณะส่วนแม่น้ำยมลงมาขณะนี้ปริมาณน้ำได้ลดลง เหลือ 400 ลบ.ม. ต่อวินาที จาก 1000 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่ อ.ศรีสัชนาลัย ปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที
“อยากให้ กบอ.เช็กเวลาไหลผ่านเทศบาลสุโขทัย ว่ายังมีเวลาในการเตรียมการป้องกันเท่าไร และในส่วนของเทศบาลเมืองสุโขทัยและเขตอำเภอต่างๆ ที่ตั้งอยู่รอยต่อหลังจาก อ.ศรีสัชนาลัย อย่าง อ.เมือง อ.กงไกลาศ จะต้องมีการเตรียมการป้องกันอย่างไร อีกทั้งระดับน้ำจะสูงเท่าไร ระยะเดินทางกี่ชั่วโมง" นายปรีชา กล่าว
นายรอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กบอ. กล่าวว่า ในส่วน อ.ศรีสัชนาลัย เดิมอยู่ที่ 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที เหลือ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ดังนั้นสถานการณ์น้ำหลังจากนี้ไม่น่าจะลดลงแล้ว นอกจากนี้ ความเห็นของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า จากนี้ไปจะมีช่องว่าง 1 สัปดาห์ หลังจากวันที่ 17 ก.ย. โดยช่วงนี้น้ำฝนที่ จ.แพร่ อุตรดิตถ์ จะลดลงก่อนที่ร่องมรสุมจากประเทศจีนจะขยายตัวลงมายังประเทศไทย
ดังนั้น น่าอาศัยช่วงนี้ไล่นำที่ บางระกำ เพื่อเตรียมรองรับน้ำร่องมรสุมใหม่ เนื่องจากพบว่า สถานการณ์ที่ จ.นครสวรรค์ ดีมากจากปีที่แล้ว น้ำท่วม 4 ล้านไร ปีนี้เหลือเพียง 5-6 แสนไร่เท่านั้น น้ำในเขื่อนก็ไม่ต้องระบายเลย อย่างไรก็ตาม ยังรู้สึกเป็นห่วงพื้นที่ทางทิศตะวันตก ตั้งแต่ จ.อุทัยธานี กำแพงเพชร ตาก ขึ้นไปจนถึงเชียงใหม่ ให้ระมัดระวังเพราะยังมีร่องความกดอากาศต่ำอยู่

**สั่งทภ.3เร่งเข้าช่วยเหลือประชาชน

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงมาตรการการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ภาคเหนือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้กำชับให้ กองทัพภาคที่ 3 โดยให้หน่วยทหารทุกหน่วยที่อยู่ในพื้นที่ ให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ ไม่ต้องรอให้มีการประสานขอความช่วยเหลือ โดยให้หน่วยต่างๆ เข้าไปติดต่อประสานการทำงานเพื่อใช้ศักยภาพของกำลังพล และยุทโธปกรณ์อย่างเต็มที่ เช่น การขนย้ายสิ่งของ การอพยพ อุดรอยรั่ว ทำพนังกั้นน้ำตามจุดต่างๆ โดยประสานความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าทุกฝ่ายพยายามเตรียมการป้องกันน้ำท่วมอย่างเต็มความสามารถ ด้วยการขุดคูคลอง จัดที่รองรับน้ำ แต่ว่าพื้นต้นน้ำบริเวณลุ่มแม่น้ำยม มีฝนตกมาอย่างหนัก และต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำที่ลุ่มแม่น้ำยมสูงมากซึ่งแม่น้ำยมไม่มีเขื่อนที่รองรับน้ำ ทำให้น้ำไหลลงมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งพนังกั้นน้ำทำไว้ตรงขอบสูงเพียง 7.40 เมตร แต่ระดับน้ำขนาดนี้สูง 7.30 เมตร แต่สาเหตุที่น้ำเข้ามาในพื้นที่ตัวเมือง เพราะพนังกั้นน้ำที่ทำไว้ 7.40 เมตรนั้นไม่เท่ากันตลอดแนว จะสูงหรือจะต่ำขึ้นอยู่กับพื้นดินข้างล่าง จึงเป็นเหตุให้น้ำล้นทะลักเข้ามาในเขตพื้นที่ตัวเมือง นอกจากนี้ ยังมีน้ำที่ผุดขึ้นมาจากใต้พนังกั้นน้ำ ที่เข้ามาเพิ่มอีก ซึ่งขนาดนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และทหารกำลังเร่งทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยและทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
"ในพื้นที่ จ.สุโขทัย ที่มีน้ำทะลักเข้ามาในตัวเมืองกองทัพภาคที่ 3 ได้เร่งทำกระสอบทรายเพื่อเข้าไปเสริมในจุดพนังกั้นน้ำที่เป็นพื้นที่ต่ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้ามาในตัวเมือง ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการเร่งอพยพพี่น้องประชาชนออกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจนกว่าน้ำจะลดระดับลง พร้อมส่งชุดแพทย์ลงพื้นที่เพื่อให้การรักษาผู้ที่บาดเจ็บหรือมีอาการป่วย" โฆษก ทบ.ระบุ

*โกงเงินน้ำท่วมไปฟอกที่ฮ่องกง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ขณะนี้เกิดวิกฤตน้ำท่วมรอบสองในหลายพื้นที่ ซึ่งสะท้อนถึงการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยพรรคมองว่า วิกฤตรอบสองแสดงให้เห็นว่า มีปัญหาหลายประการในการทำงานของรัฐบาล ทั้งที่ มีเวลากว่า 1 ปีที่ จะป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้นอีกในปีนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ไม่โปร่งใส ทำให้ปัญหาที่ไม่ควรเกิดต้องเกิดซ้ำอีก และแม้รัฐบาลจะเตรียมงานอย่างดี ดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมากว่า 1 ปี แต่ระบบเตือนภัยล่าช้า ไม่ทำงาน ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า
"การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลไม่โปร่งใส รัฐบาลใช้งบไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท และยังมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.อีก 3.5 แสนล้านบาท แต่ทั้งหมดไม่มีประสิทธิภาพ ไม่โปร่งใส มีการปกปิดรายละเอียดในการใช้งบประมาณบอกแต่เพียงมีโครงการอยู่ที่ไหนอย่างไร แต่ไม่บอกรายละเอียดว่าแต่ละโครงการใช้งบประมาณอย่างไร ใช้เวลาดำเนินการยาวนานแค่ไหน และประชาชนไม่มีตรวจสอบได้
นอกจากนี้เลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ออกมาแฉว่า มีข้อมูลจากหน่วย ป.ป.ช. ของฮ่องกง ระบุว่า มีนักการเมืองไทย 30 คน มีชื่อไปไซฟ่อนเงินทุจริตน้ำท่วมหมื่นล้านบาท ที่ฮ่องกง ทั้งมีตัวบุคคลพร้อมที่จะให้ข้อมูล หากรัฐบาลต้องการ แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่เห็นรัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องนี้แต่อย่างไร จะจัดการกับการทุจริตเกี่ยวกับน้ำท่วมอย่าไร ดังนั้นขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งจัดการ อย่ามัวแต่สร้างภาพ


**โพลย้ำ ปชช.ไม่เชื่อน้ำยารัฐบาลปู

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน กรณี “น้ำท่วม” ณ วันนี้ จากทั่วประเทศ จำนวน 1,422 คน ระหว่างวันที่ 12-15 ก.ย.55 จากสถานการณ์น้ำท่วมในภูมิภาคต่างๆ ที่เริ่มปรากฏให้เห็นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายฝ่ายมีความกังวล โดยเฉพาะประชาชนที่เคยได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา ในขณะที่รัฐบาล หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่างเร่งให้การช่วยเหลือ และเฝ้าติดตามรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นและเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาให้ถูกจุดทั้งในระยะสั้น และระยะยาว สรุปผลได้ดังนี้
1. ความคิดเห็นของประชาชนกับสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ อันดับ 1 ยังรู้สึกวิตกกังวลอยู่ โดยเฉพาะช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน และสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน 35.19 % อันดับ 2 หวังว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้คงจะไม่รุนแรงเหมือนปีที่แล้ว 32.53 % อันดับ 3 รัฐบาลคงจะมีความพร้อม และรับมือกับสถานการณ์น้ำได้ เนื่องจากมีบทเรียนจากปีที่ผ่านมา 14.86 % อันดับ 4 ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างจริงจัง 10.98 % และอันดับ 5 ภาครัฐต้องไม่ปิดบังข่าว/สื่อมวลชนจะต้องเกาะติดและรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 6.44 %
2. ประชาชนคิดว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วจะเป็นอย่างไร อันดับ 1 สถานการณ์น้ำปีนี้น่าจะน้อยกว่าปีที่แล้ว 46.83 % เพราะภาครัฐมีการวางแผนและเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมพอสมควร รัฐบาลรู้ถึงปัญหาและเตรียมการป้องกันได้ดีมากขึ้นนักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่าปริมาณน้ำในปีนี้น่าจะน้อยกว่าปีที่แล้ว ฯลฯ อันดับ 2 คงจะพอๆ กัน 28.78 % เพราะสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก มีหลายๆ ปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น สภาพภูมิอากาศปริมาณน้ำเหนือและน้ำป่าที่ไหลลงมา ฯลฯ และอันดับ 3 สถานการณ์น้ำปีนี้น่าจะมากกว่าปีที่แล้ว 24.39 % เพราะในระยะนี้มีข่าวฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน กลัวว่าปริมาณน้ำจะมีมากเกินไปเนื่องจากเพิ่งจะเริ่มเข้าสู่หน้าฝนได้ไม่นาน , ปริมาณน้ำในแม่น้ำ ลำคลองเพิ่มสูงขึ้น, ท่อระบายน้ำต่างๆ อุดตัน ฯลฯ
3. ความวิตกกังวลของประชาชนกับสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ อันดับ 1 ค่อนข้างวิตกกังวล 37.40 % เพราะไม่มั่นใจในการเตรียมการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล , ขณะนี้มีหลายพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมประชาชนได้รับความเดือดร้อนกันมาก ฯลฯ อันดับ 2 ไม่ค่อยวิตกกังวล 35.43 % เพราะน้ำท่วมที่ผ่านมาเป็นบทเรียนครั้งสำคัญทำให้รู้ว่าจะต้องมีวิธีการป้องกัน หรือเตรียมการรับมือกับน้ำท่วมในปีนี้อย่างไรรัฐบาลน่าจะป้องกันน้ำท่วมได้ดีกว่าปีที่แล้ว ฯลฯ อันดับ 3 วิตกกังวลมาก17.47 % เพราะปัญหาน้ำท่วมส่งผลกระทบในทุกๆด้าน โดยเฉพาะชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ความทุกข์ยากในเรื่องที่อยู่อาศัยทรัพย์สินข้าวของเสียหาย การเดินทางลำบาก คนในครอบครัวเกิดความเครียดและกังวล ฯลฯ และอันดับ 4 ไม่วิตกกังวล 9.70 % เพราะอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เครียดไปก็เท่านั้น ภัยธรรมชาติเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้, ปีที่แล้วยังสามารถผ่านสถานการณ์น้ำท่วมมาได้ ฯลฯ
4. ความมั่นใจของประชาชน กับการป้องกันแก้ไขน้ำท่วมของรัฐบาล อันดับ 1 ไม่น่าจะป้องกันได้ 40.07 % เพราะปริมาณน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือ และน้ำจากฝนตกชุกมีปริมาณมากทำให้เกิดการท่วมขังอย่างรวดเร็ว , การระบายน้ำเป็นไปได้ยาก ฯลฯ อันดับ 2 น่าจะป้องกันได้บ้าง 28.23 % เพราะทั้งภาครัฐและประชาชนต่างมีการเตรียมการป้องกันไว้พอสมควร ในแต่ละพื้นที่มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอยู่ตลอดเวลา ฯลฯ อันดับ 3 ป้องกันไม่ได้ 26.34 % เพราะเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คิดว่าประชาชนน่าจะเจอกับสถานการณ์น้ำท่วมทุกๆ ปี แต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและการเตรียมการป้องกัน ฯลฯ และ อันดับ 4 ป้องกันน้ำท่วมได้แน่นอน 5.36 % เพราะรัฐบาลมีเวลาในการศึกษาถึงแนวทางและการเตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหา มีการขุดลอกคูคลอง สร้างคันกั้นน้ำการทดสอบการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฯลฯ
5. สิ่งที่ประชาชนอยากฝากบอกรัฐบาล คือ อันดับ 1 รัฐบาลจะต้องเอาจริงเอาจังในการเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเต็มที่ 41.08 % อันดับ 2 มีการแจ้งข่าวสารหรือการเตือนภัยเรื่องน้ำท่วมที่รวดเร็ว ชัดเจน และถูกต้อง 20.33 % อันดับ 3 การสั่งการหรือมอบหมายให้หน่วยงานในแต่ละพื้นที่มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง 14.23 % อันดับ 4 การเตรียมการช่วยเหลือเรื่องถุงยังชีพ เรือ ห้องน้ำ ห้องส้วม ที่พักอาศัยชั่วคราวให้เพียงพอ 12.80 % และ อันดับ 5 รัฐบาลจะต้องออกมาให้ข่าวหรือข้อมูลที่เป็นจริงกับประชาชนในเรื่องน้ำท่วมเป็นระยะๆ 11.56 %
กำลังโหลดความคิดเห็น