xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” จี้รายงาน 24 ชม.สั่ง ขรก.อยู่พื้นที่ ขู่ฟันพวกหายหัว - มท.ยันสุโขทัยไม่หนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (แฟ้มภาพ)
“ยงยุทธ” นำทีม รมต.ถกน้ำท่วมผ่านทางไกลร่วม 36 ผวจ. เผยนายกฯ ห่วงสถานการณ์ สั่ง กบอ.เดินงานร่วม มท. ขอสื่ออย่าพาดหัวแรง อ้างสุโขทัยไม่หนักตามข่าว “ปลอด” บอก “ปู” ขอแจ้ง 24 ชม. ลั่นสู้ได้ โวจ่อใช้เทคโนโลยีดีที่สุดในโลกช่วย ชูแผนป้องกันระดับชาติ 10 ข้อ และระดับพื้นที่อีก 9 จี้ ขรก.อยู่ในพื้นที่ ถ้าหายหัวก่อนเกิดเหตุฟันแน่ “รอยล” แนะไล่น้ำบางระกำสัปดาห์หน้า


วันนี้ (16 ก.ย.) ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อเวลา 13.00 น. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และน.อ.อนุดิษฐ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดใน 36 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน ตาก กำแพงเพชร อุตรดิษถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และชัยภูมิ

นายยงยุทธกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดสุโขทัย อยากให้ทาง กบอ.และกระทรวงมหาดไทย ทำงานร่วมกันตั้งแต่วันนี้เพื่อความอบอุ่นและความสบายใจ ทั้งนี้ อยากขอความร่วมมือสื่อมวลชนเกี่ยวกับสีสันที่ใช้ในการพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ การนำเสนอข่าวว่าควรนำเสนอไปตามข้อเท็จจริง เพราะบางครั้งการนำเสนอข่าวมันดูตื่นเต้นเกินความเป็นจริง โดยเฉพาะ จ.สุโขทัย ที่ไม่ได้รุนแรงตามที่เป็นข่าว ซึ่งถ้าผู้สื่อข่าวสงสัยอะไรให้ไปตรวจสอบข้อมูลจากทาง กบอ.ก่อน นอกจากนี้ ขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลาเพื่อสะดวกและสามารถติดต่อและรายงานสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

นายปลอดประสพกล่าวว่า นายกฯ ในฐานะผู้นำของรัฐบาลมีความห่วงใยต่อชีวิต ความรู้สึกของประชาชน จึงอยากให้มีการติดตามประเมินสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง มีการรายงานอย่างเป็นระบบ ในความเห็นของตนเรากำลังต่อสู้อยู่ด้วยกันสองถึงสามด้าน คือ 1. ภัยพิบัติน้ำท่วมที่เป็นไปตามธรรมชาติ เชื่อว่าทำได้และต้องผ่านให้ได้ และ 2. เรากำลังต่อสู้กับความกลัวของประชาชน เนื่องจากเหตุการณ์ปีที่ผ่านมาสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนเกิดความกลัว ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำให้ได้คือทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาล จะได้ใช้ชีวิตตามปกติ ทั้งหมดเป็นเป้าหมายที่ต้องทำให้ได้

“ศึกครั้งนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 เดือน แต่จะรู้ผลแพ้ชนะภายใน 1 เดือน เชื่อว่าไม่มีอะไรที่เราจะต่อสู้กับศึกครั้งนี้ไม่ได้ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเรารู้แล้วว่าต้องต่อสู้อย่างไร รวมทั้งใช้การเทคโนโลยีระบบที่ดีที่สุดในโลกที่มีอยู่ทั้งหมดในการหาทาง ผมคิดว่าไม่มีอะไรเกินเลยจนบริหารงานและฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปไม่ได้” นายปลอดประสพกล่าว

นายปลอดประสพกล่าวต่อว่า สำหรับแผนป้องกันการเผชิญเหตุระดับชาติมีด้วยกัน 10 ข้อ ประกอบด้วย 1. การสนธิกำลังฝ่ายอำนวยการและฝ่ายปฏิบัติทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ จากผู้มีอำนาจตัดสินใจ มีความรู้เข้าถึงข้อมูลและกบอ.จะมีการจัดเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง 2. คณะทำงานต้องประเมินการทำงานทุก 3-6 ชั่วโมง 3. จะต้องมีการรายงานสถานการณ์ให้ทราบทุกวันเพื่อการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา 4. ต้องมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเป็นประจำทุกวัน รวมทั้งจะมีการให้ข้อมูลเป็นรายชั่วโมงอีกด้วยเพื่อผู้สื่อข่าวจะได้ใช้ข้อมูลเดียวกัน 5.ต้องเชื่อมข้อมูลข่าวสารให้ได้ และจะต้องมีระบบสำรอง คือระบบจะล่มไม่ได้โดยเด็ดขาด

6. สแตนด์บายเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ รถ เรือให้สามารถใช้ได้ตลอดเวลา 7. ติดต่อระบบคอนเฟอร์เรนท์เพื่อจะได้ติดต่อกับผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทันเวลา 24 ชั่วโมง 8. ที่ทำการกบอ.ทำเนียบรัฐบาลจะต้องมีบอร์ดขนาดใหญ่เพื่อเขียนวาระการทำงานและการสั่งการให้ทุกคนได้เห็นตลอดเวลา 9. ต้องมีการเตรียมรายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ เว็บไซต์ เอสเอ็มเอส ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และพิมพ์แจกให้คนเกี่ยวข้องได้ถือเอาไว้ โดยต้องจัดเก็บข้อมูลให้เสร็จภายใน 2-3 วันนี้ และ 10. ขอให้ฝ่ายทหารได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถประสานกับเหล่าทัพได้มาประจำการที่กบอ.

ประธาน กบอ.กล่าวอีกว่า สำหรับในระดับพื้นที่ มีด้วยกัน 9 ข้อ ประกอบด้วย 1. นายกฯ สั่งหลายครั้งว่าจะต้องมีการจัดตั้งส่วนหน้าจังหวัด ซึ่งจะต้องมีความชัดจนในเรื่องของสถานที่และการติดต่อตำแหน่งต่างๆ ต้องมีความชัดเจน ทำงาน 24 ชั่วโมง ยิ่งกว่านั้นถ้าพบพื้นที่เสี่ยงภัยระดับจังหวัด ตำบล โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัย ก็ขอให้มีหน่วยเผชิญเหตุในลักษณะระดับโมบาย เตรียมพร้อมไว้ สิ่งที่นายกฯ ได้สั่ง คือ ข้าราชการต้องอยู่ในพื้นที่ก่อนเกิดเหตุก่อนเสมอ นอกจากนี้ ขอให้ติดต่อสื่อสารได้ตลอดเวลา 2. ในระดับพื้นที่ริมน้ำขอให้มีหน่วยเผชิญเหตุระดับตำบลขึ้นไป ทำให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยหรือพื้นที่ที่หวั่นไหวขอให้มีหน่วยเผชิญเหตุระดับพื้นที่ทำหน้าที่กึ่งโมบาย 3. ให้มีการติดตั้งเครื่องมือสื่อสาร

4. ต้องประเมินสถานการณ์ทุก 3-6 ชั่วโมงและให้รายงานเป็นลำดับชั้น 5. คำสั่งนายกฯให้เตรียมอุปกรณ์ในการจัดการในระดับจังหวัด 6. ต้องมีการจัดระบบตรวจสอบ ความพร้อม โรงพยาบาล โรงเรียน และร้านค้า 7. การเตรียมสถานที่ใช้อพยพ สำหรับ คนชราหรือเด็ก อย่ารอให้เกิดเหตุการณ์ก่อนที่ภัยจะมา ขอให้รีบออกก่อนโดยปีนี้จะไม่มีการอพยพแบบลุยน้ำ 8. ระดับ ตำบล อำเภอ ขอให้ขอรายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และส่งมายังส่วนกลาง และ 9. คำสั่งนายกฯ คือเจ้าหน้าที่จะต้องอยู่พร้อมก่อนเกิดเหตุการณ์เสมอ แม้จะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ไม่เป็นไร

“นายกฯ สั่งการว่าต่อไปข้าราชการจะต้องอยู่ในพื้นที่ก่อนเกิดเหตุทุกครั้ง ถ้าอยู่แล้วไม่เกิดเหตุไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่อยู่แล้วเกิดเหตุจะเป็นไรทันที” ประธาน กบอ.ระบุ

ด้าน นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอเรนทซ์ว่า จากการใช้เฮลิคอปเตอร์รอบๆ เทศบาลสุโขทัย พบบางพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขัง เนื่องจากน้ำได้ล้นพนังกันน้ำ โดยเฉพาะบริเวณสะพานแม่หญ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำสุด ซึ่งได้มีการเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขณะส่วนแม่น้ำยมลงมาขณะนี้ปริมาณน้ำได้ลดลง เหลือ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จาก 1000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่อำเภอศรีสัชนาลัย ปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

“อยากให้ กบอ.เช็กเวลาไหลผ่านเทศบาลสุโขทัยว่ายังมีเวลาในการเตรียมการป้องกันเท่าไร และในส่วนของเทศบาลเมืองสุโขทัยและเขตอำเภอต่างๆ ที่ตั้งอยู่รอยต่อหลังจาก อ.ศรีสัชนาลัย อย่าง อ.เมือง อ.กงไกลาศ จะต้องมีการเตรียมการป้องกันอย่างไร อีกทั้งระดับน้ำจะสูงเท่าไร ระยะเดินทางกี่ชั่วโมง” นายปรีชากล่าว

ทำให้นายรอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ (กบอ.) กล่าวว่า ในส่วน อ.ศรีสัชนาลัย เดิมอยู่ที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้น สถานการณ์น้ำหลังจากนี้ไม่น่าจะลดลงแล้ว นอกจากนี้ ความเห็นของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า จากนี้ไปจะมีช่องว่าง 1 สัปดาห์หลังจากวันที่ 17 ก.ย. โดยช่วงนี้นำฝนที่ จ.แพร่ อุตรดิตถ์ จะลดลงก่อนที่ร่องมรสุมจากประเทศจีนจะขยายตัวลงมายังประเทศไทย ดังนั้น น่าอาศัยช่วงนี้ไล่น้ำที่บางระกำ เพื่อเตรียมรองรับน้ำร่องมรสุมใหม่ เนื่องจากพบว่าสถานการณ์ที่ จ.นครสวรรค์ ดีมากจากปีที่แล้ว น้ำท่วม 4 ล้านไร่ ปีนี้เหลือเพียง 5-6 แสนไร่เท่านั้น น้ำในเขื่อนก็ไม่ต้องระบายเลย อย่างไรก็ตาม ยังรู้สึกเป็นห่วงพื้นที่ทางทิศตะวันตก ตั้งแต่ จ.อุทัยธานี กำแพงเพชร ตาก ขึ้นไปจนถึงเชียงใหม่ ให้ระมัดระวังเพราะยังมีร่องความกดอากาศต่ำอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น