xs
xsm
sm
md
lg

กบอ.อ้างน้ำท่วมสุโขทัยคันกั้นน้ำเก่า-ปภ.เตือน 5 จังหวัดเหนือระวังน้ำป่า-ดินถล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุการณ์น้ำท่วมใน จ.สุโขทัย (ภาพเมื่อ 10 ก.ย. 55)
โฆษกรัฐบาล เผย กบอ.รายงาน ครม.สถานการณ์น้ำไม่น่าห่วง เตือนอาจมีมรสุมซ้ำรอยสัปดาห์ก่อน แต่ไม่น่าห่วง ส่วนน้ำในเขื่อนยังอยู่ในระดับควบคุม ย้ำน้ำท่วมกลางเมือง “สุโขทัย” เหตุคันกั้นน้ำเก่า ด้าน ปภ.เตือน 5 จังหวัดภาคเหนือระวังน้ำป่าไหลหลาก-ดินภูเขาถล่ม

วันนี้ (11 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์ภาพรวมของภูมิอากาศและสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ว่า ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.เป็นต้นไป ร่องความกดอากาศต่ำจะมีกำลังแรงขึ้นและเลื่อนมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นด้วย ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยกลับมามีฝนเพิ่มมากอีกครั้ง โดยมรสุมดังกล่าวเป็นตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดฝนตกในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้อ่อนตัวลงและกลับมามีกำลังแรงขึ้นอีกครั้ง เชื่อว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงมากกว่า 3-4 วันที่ผ่านมา

นายชลิตรัตน์กล่าวว่า ค่าเฉลี่ยน้ำฝนทั้งประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 55 จนถึงปัจจุบันพบว่า มีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของปี 54 ประมาณร้อยละ 20 สำหรับน้ำท่าในบริเวณจุดสำคัญ ได้แก่ที่ จ.นครสวรรค์ มีไหลผ่าน 1,829 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ซึ่ง ณ เวลาเดียวกันของปีก่อนไหลอยู่ที่ 3,000 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ไหลอยู่ที่ 1,500 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งถือว่าปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักยังไม่เกินความจุของลำน้ำ และไม่มีน้ำล้นตลิ่ง แต่มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง โดยที่แม่น้ำปิงที่ จ.เชียงใหม่ ต่ำกว่า 1.21 เมตร แม่น้ำวังที่ จ.ลำปาง ตำว่าตลิ่ง 3.79 เมตร แม่น้ำยมต่ำกว่าตลิ่ง 72 เซนติเมตร แม่น้ำน่านต่ำกว่า 4.7 เมตร และแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ ต่ำกว่าตลิ่ง 2.88 เมตร จากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ต่ำกว่าตลิ่ง 5 เมตรเศษ แต่มีปริมาณน้ำฝนลงมาจึงเพิ่มขึ้น ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ จ.ชัยนาท ท้ายเขื่อน ต่ำกว่า 2.34 เมตร

สำหรับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก 6,965 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 52 จากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ร้อยละ 49 เขื่อนสิริกิติ์ น้ำไหลลง 66 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ปริมาณน้ำในอ่าง 5,764 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 61 ในส่วนของการบริหารน้ำในเขื่อนของ กบอ. เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี พบว่ามีน้ำไหลเข้ามากกว่าปกติ จึงได้มีการระบายน้ำออก 27 ล้าน ลบ.ม. เริ่มตั้งวันที่ 6 ก.ย.เป็นต้นมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีการระบายน้ำออก 1-1.5 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน อย่างไรก็ตาม จากภาวะฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากใน 5 จังหวัด ได้แก่ ระยอง พิจิตร ตาก สระแก้ว และเพชรบูรณ์ ส่วนเหตุน้ำท่วมที่เกิดใน จ.สุโขทัยนั้น เป็นเพราะพนังกั้นน้ำที่สร้างตั้งแต่ปี 2544 โดยสร้างแบบไม่เสาเข็ม และมีสภาพชำรุดทำให้รับปริมาณน้ำไม่ไหว จนเกิดท่วมในเขตเศรษฐกิจของ จ.สุโขทัย ขณะที่ในจุดอื่นๆ คาดว่าจะไม่มีปัญหาและไม่มีน้ำท่วมหนักเช่นกับปีที่แล้ว

ด้าน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการประสานข้อมูลกับกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ภาวะฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินภูเขาที่ชุ่มน้ำอยู่แล้ว อาจถล่มลงมาได้ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย 5 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย ที่ อ.แม่สรวย อ.เวียงป่าเป้า อ.แม่ฟ้าหลวง จ.ลำปาง ที่ อ.เมืองปาน อ.วังเหนือ อ.แจ้ห่ม จ.พะเยา ที่ อ.เชียงคำ อ.ปง จ.แพร่ ที่ อ.วังชิ้น อ.เด่นชัย และ จ.อุตรดิตถ์ ที่ อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ลับแล อ.ท่าปลา จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวทั้งที่ลาดเชิงเขา ทางน้ำไหลผ่าน และที่ลุ่มริมแม่น้ำติดตามประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด หากสังเกตพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น น้ำในลำธารเปลี่ยนสีเป็นสีเดียวกับสีดินบนภูเขา สัตว์ป่าแตกตื่น มีเสียงดังอื้ออึงจากป่าต้นน้ำ เป็นต้น ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ในทันที

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ดังกล่าว จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกำชับให้มิสเตอร์เตือนภัยเฝ้าระวังภัยในระยะนี้เป็นพิเศษ โดยหมั่นตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ ให้รีบแจ้งเตือนชาวบ้านอพยพหนีภัยตามแผนที่กำหนดไว้โดยเร็วที่สุด สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น