xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดีเดย์ TOR น้ำ24ก.ย. สานฝันพนักงานเชียร์เขื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-สัปดาห์ก่อนเขียนถึงมติคณะรัฐมนตรีที่“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ได้รายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการน้ำลุ่มน้ำยม โดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบบูรณาการ

รายงานถึงผลการศึกษาสรุปว่า ทางเลือก “การจัดการน้ำในลุ่มน้ำยม” ที่มีด้วยกัน 4 ทางเลือก

ทางเลือกที่ 1 มีการพัฒนาเฉพาะมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและการปรับปรุงประสิทธิภาพการชลประทาน

ทางเลือกที่ 2 มีการพัฒนาในมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ทั้งอ่างเก็บน้ำและฝาย/ประตูระบายน้ำตามลำน้ำยม รวมถึงการพัฒนาและจัดสรรน้ำโครงการขนาดเล็กในพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก

ทางเลือกที่ 3 มีการพัฒนาในมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนแม่น้ำยม และเขื่อนแม่น้ำยมตอนบน

ทางเลือกที่ 4 มีการพัฒนาในมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนแก่งเสือเต้น

ผลสรุปจาการมีส่วนร่วมในการจัดระดับความสำคัญของทางเลือกในการพัฒนาลุ่มน้ำยมพบว่า ผู้มีส่วน ได้เสียส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับทางเลือกที่ 4 รองลงมาได้แก่ ทางเลือกที่ 3 ทางเลือกที่ 2 ทางเลือกที่ 1 ตามลำดับ ยกเว้นกลุ่มองค์กรอิสระที่ให้ความสำคัญกับทางเลือกที่ 4 น้อยที่สุด
ถือเป็นผลจากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ทางเลือกในการจัดการลุ่มน้ำยม” ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนและลุ่มน้ำยมตอนล่าง รวม 9 จังหวัด ได้แก่ จ.พะเยา ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร และนครสวรรค์ โดยจัดให้มีการประชุมทั้งหมดจำนวน 9 ครั้ง โดยพื้นที่และกลุ่มประชากรเป้าหมายของการประชุมในพื้นที่ลุ่มน้ำยมได้ครอบคลุมพื้นที่และกลุ่มประชากรเป้าหมายที่มาจากพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยทั้ง 11 ลุ่มน้ำดังกล่าวข้างต้น มีพื้นที่ครอบคลุม 161 ตำบล 33 อำเภอ 10 จังหวัด มีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมถึง 6,313 คน

แต่กลับเป็นที่สังเกตว่า ตามข้อเสนอที่ส่งเข้าครม.มีการระบุว่า เมื่อได้ฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่แล้ว จะได้นำความเห็นไปปรับปรุง เป็นข้อกำหนดงาน (TOR ) สำหรับการศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการลุ่มน้ำยมฯ ต่อไป

และนำเสนอระบบการจัดการน้ำลุ่มน้ำยมฯ ที่ ดำเนินการแล้วเสร็จต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ แห่งชาติและครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปเป็นกรอบการกำหนดแผนงาน/ โครงการ และการดำเนินการใดๆ ในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมต่อไป

ทั้งนี้ตามกรอบแผนงานโครงการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำตอนบน มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ได้บรรจุโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และเขื่อนแม่วงศ์เอาไว้ เหมือนกับเป็นการยัดไส้โครงการ!

จนเรื่องนี้ “กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่” ที่ออกมา “คัดค้านการสร้างเขื่องแม่วงก์ และเขื่อนแก่งเสื้อเต้นมากว่า ๆ10 ๆปี ได้ประณาม กลุ่มคนที่พยามยามโครงการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำตอนบน มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท

ว่าเป็นแค่พวก “พนักงานเชียร์เขื่อน” ฉวยโอกาสความเดือดร้อนของประชาชนผลาญงบประมาณแผ่นดิน มีชื่อ “นายบรรหาร ศิลปะอาชา” อดีตนายกฯ ผู้รับเหมาก่อสร้าง “นายปลอดประสพ สุรัสวดี” รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ อดีตอธิบดีกรมประมง “นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายรักเกียรติ สุขธนะ) “นายธีระ วงศ์สมุทร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ลูกมือนายบรรหาร หรือรัฐมนตรีเป่าสากเรียกพี่ ฯลฯ

ที่ต่างดาหน้ากันออกมาเสนอให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จังหวัดแพร่ รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ อีกด้วย

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า เห็นว่าบุคคลดังกล่าว ที่ฉวยโอกาสอาศัยความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนแสวงหาผลประโยชน์บนคราบน้ำตาประชาชน ด้วยการเสนอโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่พร้อมงบประมาณมหาศาล มุ่งหน้าผลาญงบประมาณแผ่นดินอย่างไร้ยางอาย

อีกด้าน ที่จะต้องจับตาดู เพราะเกี่ยวข้องกับกรณีแรก

“กบอ. ดีเดย์ 24 กย.ตัดสินคุณสมบัติทีโออาร์น้ำรอบแรกแบ่งเค๊ก 3 แสนล้าน คาดดำเนินการก่อสร้างได้ทันปีหน้า”หัวข้อข่าวข้างต้นยืนยันความคืบหน้า “พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท”

เนื่องจากวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ครั้งที่ 2/2555 ที่ทำเนียบรัฐบาล

“นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รองประธานและโฆษกคณะกรรมการบริการและจัดการอุทกภัย (กบอ) ออกมาเปิดเผย “ปฏิทินเมกกะโปรเจกส์น้ำ 3.5 แสนล้าน” เพื่อเดินหน้าทีโออาร์

ในวันที่ 14 ก.ย. กบอ. จะเปิดให้ผู้สนใจยื่นกรอบแนวคิดบริหารจัดการน้ำฯ งบประมาณรวม 3 แสนล้านบาท โดยจะพิจารณาบริษัทที่ผ่านเข้ารอบแรกจากคุณสมบัติเบื้องต้น ได้แก่ ค่าประสบการณ์ หรือ Pre-Q ในวันที่ 20 ก.ย. นี้

พร้อมทั้งเปิดให้บริษัทที่ไม่ผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ ได้ยื่นอุทธรณ์ ในวันที่ 21 ก.ย. เพื่อพิจารณาในรอบสอง โดย กบอ. จะประกาศผลผู้เข้ารอบอีกครั้งในวันที่ 24 ก.ย. โดยผู้ผ่านเข้ารอบแรกจะใช้เวลา 60 วัน นับจากนี้ในการจัดทำกรอบแนวคิดการบริหารจัดการน้ำฯ หรือ Conceptual Plan ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลด้านรายละเอียดด้านเทคนิค ประมาณราคา และกรอบเวลา ให้แล้วเสร็จตามกำหนดการ

ที่จะต้องยื่นให้กับคณะกรรมการตรวจสอบทีโออาร์พิจารณาอีกทั้งใน วันที่ 23 พ.ย.2555

ในวันที่ 31 ม.ค.2556 คณะกรรมการจะประกาศรายชื่อกลุ่มบริษัทที่ผ่านการพิจารณากรอบแนวคิด หรือ Short List กลุ่มละ 3 ราย เพื่อเดินหน้าทำโครงการบริหารจัดการน้ำฯ ต่อในส่วนของรายละเอียด โดยแบ่งเป็น 2 แพคเกจ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำอื่น

ในวันที่ 15 มี.ค. 2556คณะกรรมการจะคัดเลือก 6 กลุ่มย่อย ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย โดยพิจารณาจากข้อเสนอด้านราคาและเทคนิค และจะประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก

ในวันที่ 16 เม.ย.2556 หลังจาก ครม. ได้อนุมัติผลการคัดเลือก และดำเนินการจัดสรรเงินกู้ในขั้นตอนต่อไป

รองประธานและโฆษก กบอ. มองว่า การเปิดให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอโครงการบริหารจัดการน้ำขงอประเทศไทยนับเป็นเรื่องดีที่ เพราะตอนนี้มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำจากต่างชาติจำนวนมาก เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ทั้งผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลี จีน และญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการบริหารจัดการน้ำของประเทศในอนาคต ซึ่งต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในช่วง 3-4 ปี ข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม กรอบแนวคิดที่นำเสนอเข้ามาในบางโครงการสามารถดำเนินการได้ในทันที โดยไม่ต้องทำอีไอเอ เช่น ส่วนของศูนย์บัญชาการ หรือ Command Center แต่สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่จำเป็นต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อีไอเอ เอชไอเอ และขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ภาครัฐจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะเวลาการประชุม ยอมรับว่า เป็นขั้นตอนที่ทำให้การดำเนินงานหลายโครงการในช่วงที่ผ่านเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่ง กบอ. จะไม่เข้าไปก้าวก่ายในขั้นตอนการพิจารณา เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย

“ปฏิทินเมกกะโปรเจกส์น้ำ 3.5 แสนล้าน”

ออกมาภายหลังที่ประชุม คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่ กบอ.เสนอในการปรับหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างหรือ ทีโออาร์ บริษัทเอกชน 395 ราย ในการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัย

โดยปรับลดหลักเกณฑ์ประสบการณ์ทำโครงการที่เคยทำให้ภาครัฐเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าโครงการต่อ 1 โครงการ จากเดิมกำหนดที่เคยวางไว้สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่จะต้องมีประสบการณ์ทำโครงการให้ภาครัฐไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท และไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ของผู้ประกอบการทั่วไป

เพื่อขยายระยะเวลาการตรวจสอบรายละเอียดการยื่นเอกสารทั้งหมดของทีโออาร์ จาก 24 สิงหาคม เป็นวันที่ 24 กันยายน 2555

เป็นการการันตีว่า “ทีโออาร์” 8 หน้ากระดาษ ป้องกันน้ำท่วมได้?

กำลังโหลดความคิดเห็น