xs
xsm
sm
md
lg

ไล่ยกแก๊ง"จัดการน้ำ" คุยโม้-สร้างภาพ-ผลาญงบฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (12 ก.ย.) กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ออกแถลงการณ์ประณามพนักงานเชียร์เขื่อน ฉวยโอกาสความเดือดร้อนของประชาชนผลาญงบประมาณแผ่นดิน พร้อมเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงให้สาธารณชนได้รับรู้ พร้อมเสนอใช้แนวทางจัดการน้ำชุมชนเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป ส่งต่อสื่อมวลชนทุกแขนง
ในแถลงการณ์ระบุว่า จากสถานการณ์น้ำทะลักเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจเมืองสุโขทัย กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอแสดงความเห็นใจ และขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องชาวสุโขทัย ฝ่าวิกฤตอุทกภัยในครั้งนี้ได้อย่างเข้มแข็ง และขอให้พี่น้องชาวไทยส่งกำลังใจ กำลังทรัพย์ สิ่งของเครื่องใช้ช่วยเหลือกันเหมือนดั่งน้ำใจไทยที่ไม่เคยทิ้งกันมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ความเดือดร้อนของพี่น้องชาวสุโขทัย ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ กลับมีพนักงานเชียร์เขื่อน อย่าง นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ ผู้รับเหมาก่อสร้าง นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อดีต อธิบดีกรมประมง นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายรักเกียรติ สุขธนะ) นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ลูกมือนายบรรหาร หรือรัฐมนตรีเป่าสากเรียกพี่ ฯลฯ ที่ต่างดาหน้ากันออกมาเสนอให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จ. แพร่ รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ อีกด้วย
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอประณามพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าว ที่ฉวยโอกาสอาศัยความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนแสวงหาผลประโยชน์บนคราบน้ำตาประชาชน ด้วยการเสนอโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่พร้อมงบประมาณมหาศาล มุ่งหน้าผลาญงบประมาณแผ่นดินอย่างไร้ยางอาย
อีกทั้งแนวทางการสร้างเขื่อนดังกล่าวจะเป็นการทำลายป่าสักทอง อุทยานแห่งชาติแม่ยมกว่า 65,000 ไร่ และทำลายป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์อีกกว่า 13,000 ไร่ รวมทั้งสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะนำมาซึ่งปัญหาโลกร้อน อีกทั้งจะก่อให้เกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง รุนแรงขึ้นในอนาคตอีกด้วย
พร้อมกับเรียกร้องให้บุคคลดังกล่าวยุติการผลาญงบประมาณแผ่นดิน ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ และหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่า ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่า อันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เราเห็นด้วยกับแนวทางของกรมทรัพยากรน้ำในการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงตลอดลุ่มลำน้ำยม ซึ่งมีทั้งสิ้น 364 โครงการ รวมวงเงินกว่า 4,866 ล้านบาท และมีความจุของน้ำมากกว่า 1,572 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าความจุของเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เสียอีก
แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า ตามข้อมูลและข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า จุดที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น สถานีอุทกวิทยา (Y20 อ.สอง จ.แพร่ ) ระบุว่า ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอยู่ในเกณฑ์น้อย วิกฤต นั่นหมายความว่า ฝนตกใต้จุดที่จะสร้างเขื่อน และไม่มีทางไหลย้อนกลับไปเข้าเขื่อนได้ ดังนั้น หากมีเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ตามที่กล่าวอ้าง
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่าขอให้ผู้มีอำนาจได้ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงในการพิจารณาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และขอเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงปริมาณน้ำที่แท้จริงให้สาธารณชนได้รับรู้โดยทั่วกันด้วย
พร้อมกันนี้ ทางกลุ่มฯ ยืนยันที่จะคัดค้านโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จนถึงที่สุด และขอเตือนเจ้าหน้าที่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ห้ามเข้าพื้นที่ หากเราพบเห็นจะไม่รับรองความปลอดภัย แต่อย่างใด

** ไล่"ปลอด-รอยล"และกบอ.ทั้งคณะ

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้นายกฯ ปลด "ปลอดประสพ-รอยล และ คณะกรรมการ กบอ. ออกทั้งคณะ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวในการป้องกันน้ำท่วม
โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่รัฐบาลได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการ กบอ.ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2555 โดยมี นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธานฯ มีนายรอยล จิตรดอน นายอำพน กิตติอำพน และนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นกรรมการ และข้าราชการระดับปลัดกระทรวงและอธิบดี ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำร่วมเป็นคณะกรรมการ
จากนั้นนายกรัฐมนตรี ก็มีนโยบาย “บางระกำโมเดล” มาจนถึงการทัวร์นกขมิ้น เพื่อสร้างภาพโชว์ว่าได้มีการบริหารน้ำตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ จนกระทั่งมาถึงการซักซ้อมการปล่อยน้ำ-ผลักดันน้ำ ในพื้นที่กทม. ฝั่งตะวันตก พร้อมกับการคุยโม้โออวดถึงศักยภาพในการบริหารจัดน้ำว่า “ปี 2555 น้ำจะไม่ท่วม 100 %” ภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท
แต่ขณะนี้ ได้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดโดยเฉพาะ จ.สุโขทัย และหลายอำเภอในจ.อยุธยา เกิดความเดือดร้อนและเสียหายต่อชาวบ้านและเกษตรกร เป็นจำนวนมาก หน่วยงานของรัฐในระดับพื้นที่ต้องนำเงินจากภาษีท้องถิ่นของประชาชนไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้วหลายล้านบาท ในขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบโดยตรงคือ กบอ. กับออกมาปฎิเสธความรับผิดชอบ แบบไม่ละอายโดยอ้างว่า “เป็นเหตุสุดวิสัย” ทั้ง ๆ ที่มีเงินงบประมาณอย่างมหาศาล และมีระยะเวลาที่มากเพียงพอที่จะบริหารจัดการน้ำท่วมได้ แต่กลับทำงานแบบใช้ปากบริหารงาน-สร้างภาพไปวัน ๆ
เหตุดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาด ล้มเหลว และไร้ประสิทธิภาพ ในการบริหารงานของ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานฯ กบอ. นายรอยล จิตรดอน ปธ.คณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำในคณะกรรมการ กบอ. และคณะกรรมการคนอื่นๆ โดยชัดแจ้ง จึงขอเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจในทางบริหารสั่งปลด นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานฯ กบอ. นายรอยล จิตรดอน และ คณะกรรมการ กบอ. อื่นทั้งชุดออกไปเสีย แล้วแสงหาผู้ที่มีความรู้-ความเชี่ยวชาญ ในการบริหารจัดการน้ำโดยตรง มาทำหน้าที่แทน เพื่อให้คำสั่งดังกล่าวเป็นขวัญและกำลังใจให้กับพี่น้องชาวสุโขทัย และอยุธยาต่อไป นายกรัฐมนตรี ยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องนี้ นายกฯ จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จากความผิดพลาดล้มเหลวนี้ทั้งหมดในกระบวนการทางศาล

** จวกรัฐล้มเหลวจัดการปัญหาน้ำ

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (Green Politics) กล่าวว่า ปรากฏการณ์น้ำท่วมหนักที่ จ.สุโขทัย อยุธยา และอีกหลายพื้นที่ในขณะนี้ สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาล ทั้งที่มีเวลาเตรียมรับมือมากว่า 1 ปี ตั้งกรรมการหลายคณะ สารพัดผู้เชี่ยวชาญ และ ตั้งวงเงินมหาศาลด้วยการ ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท แต่การทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบกลับขาดเอกภาพ โดยเฉพาะมีความขัดแย้งในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำคณะต่างๆที่ตั้งขึ้นมา โดยกรรมการก็มีมุมมองที่ต่างกันแบบสุดขั้ว แต่สุดท้ายต้องยอมฝ่ายการเมือง ที่มีอำนาจเหนือกว่า ทำให้กรรมการคณะต่างๆ ไร้ทิศทาง จนชาวบ้านสับสน ขาดความเชื่อมั่น ยิ่งน้ำเริ่มท่วมรอบนี้ ได้ยินข้ออ้างจาก กบอ. ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ยิ่งตอกย้ำถึงความล้มเหลว ผิดพลาดของรัฐบาลและคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่สนใจแต่เมกะโปรเจกต์ และงบประมาณ ที่สำคัญพื้นที่ที่กำลังท่วมในขณะนี้ เป็นพื้นที่ที่นายกฯ เพิ่งไปตรวจดูความพร้อม ในการจัดการน้ำทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และจัดทัวร์นกขมิ้น สร้างภาพหว่านเงินไปหลายจังหวัด
นอกจากนี้ ที่น่าวิตกที่สุดก็คือ ความไม่เป็นเอกภาพระหว่างรัฐบาลกับ กทม. ที่มีการชิงไหวชิงพริบ ชิงความได้เปรียบ และเล่นการเมืองกันมากเกินไป ยิ่งใกล้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ยิ่งเห็นการเมืองเรื่องน้ำท่วม จากการเมืองน้ำเน่ามากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น