xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปล่อยน้ำทดสอบคลอง กทม.อีเวนต์สร้างภาพของ “ปลอดประสพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปลอดประสพ สุรัสวดี
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ความล้มเหลวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในรอบ 1 ปี คงไม่มีเรื่องไหนหนักหนาสาหัสไปกว่าความผิดพลาดในการจัดการกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง-เหนือตอนล่างที่เกิดขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ที่ผ่านมา

เหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 800 คน สร้างความเสียหายต่อภาคธุรกิจคิดเป็นมูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านบาท รวมทั้งทรัพย์สินของประชาชนเป็นรายบุคคลและรายครัวเรือนอีกประเมินค่าไม่ได้

ภายหลังน้ำลด แม้รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมานับสิบคณะเพื่อหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำอีกครั้ง ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงมีการออก พ.ร.ก.ขอกู้เงินเร่งด่วนมาใช้ แต่มาตรการที่เป็นรูปธรรมก็ยังไม่เห็นชัดเจนนัก แม้ว่าระยะเวลาใกล้จะครบขวบปีของมหาอุทกภัยแล้วก็ตาม

ไม่ว่าจะเป็นโครงการจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท การจัดหาพื้นที่รับน้ำ การซ่อมแซม-สร้างประตูน้ำ การขุดลอกคูคลองหลายแห่งยังไม่ได้เริ่มลงมือดำเนินการ

งานจัดการน้ำที่ดูเป็นรูปธรรมที่สุด เห็นจะเป็นการจัดนิทรรศการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ปี 2555 ภายใต้ชื่อ “มุ่งมั่นทำงาน บริหารจัดการน้ำ เพื่อประชาชน”ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ช่วงวันที่ 31 ส.ค. ถึง 2 ก.ย. 2555 ตั้งแต่เวลา 10.00 ถึง 21.00 น. โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานเปิดงานด้วยตนเอง พร้อมทำหน้าที่เป็น “ไกด์ลีดเดอร์”นำสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศเข้าชมนิทรรศการ ซึ่งแบ่งเป็น 5 จุด แต่ละจุดมีบุคคลระดับรัฐมนตรีคอยบรรยายสรุปให้นายกฯ ฟัง

นอกจากนั้น ยังมีการถ่ายทอดทางช่อง 9 และช่อง 11 พร้อมมีการชี้แจงเป็นภาษาอังกฤษให้แก่สื่อมวลชนต่างประเทศ ทูตานุทูต ภาคเอกชน เอ็นจีโอ ผู้แทนนิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมชมงาน

อย่างไรก็ตาม งานนิทรรศการครั้งนี้ จะเรียกว่าเป็นอีเวนต์สร้างภาพลักษณ์ให้แก่โครงการจัดการน้ำของรัฐบาลก็คงไม่ผิด เพราะดูเนื้อหาของนิทรรศการ ยังไม่มีมาตรการป้องกันที่เป็นเนื้อเป็นหนังให้จับต้องได้ โดยส่วนใหญ่จะพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2554 มากกว่า

อีกอีเวนต์หนึ่ง ที่รัฐบาลเริ่มโหมกระพือข่าวตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการปล่อยน้ำเพื่อทดสอบระบบระบายน้ำคูคลองในกรุงเทพฯ มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เป็นเจ้าของโปรเจกต์ โดยอ้างว่าเป็นครั้งแรกที่มีการทดลองใช้โมเดลระบายน้ำในรูปแบบต่างๆ ในการทดสอบ หลังจากที่มีการขุดลอกคูคลองรอบกรุงเทพมหานครทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก รวมถึงได้ติดตั้งระบบการเตือนภัยเรียบร้อยแล้ว

นายปลอดประสพ แถลงเมื่อวันที่ 29 ส.ค.ว่า จะปล่อยน้ำเข้ามาตามคูคลองในอัตราไม่เกิน 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยวันที่ 5 ก.ย. จะทดสอบที่คลองทวีวัฒนาและคลองอื่นๆ ที่เชื่อมต่อกันในกรุงเทพมหานคร ทางฝั่งตะวันตก โดยคลองทวีวัฒนาสามารถรองรับการไหลผ่านของน้ำได้สูงสุด 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และวันที่ 7 ก.ย. จะทดสอบทางฝั่งตะวันออก บริเวณคลองระพีพัฒน์และคลองลาดพร้าว โดยคลองระพีพัฒน์สามารถรองรับการไหลผ่านของน้ำได้สูงสุดกว่า 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนคลองลาดพร้าวสามารถรองรับการไหลผ่านของน้ำได้สูงสุด 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

นายปลอดประสพ อ้างว่า การทดสอบครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำที่ใช้ในการเกษตรเนื่องจากกรมชลประทานได้จัดสรรน้ำไว้แล้ว แต่จะช่วยให้สามารถหาจุดทรุดตัวของคูคลองบริเวณใต้สะพานเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม สิ้นสุดคำแถลงของนายปลอดประสพไม่นาน เสียงคัดค้านก็ดังขึ้นทันที โดยสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน เพราะเห็นว่ายังขาดข้อมูลการวิเคราะห์ และการประเมินผลที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน รวมทั้งสภาพภูมิประเทศ และสภาพคลองของ กทม.และปริมณฑล ยังมีการขุดลอกคูคลองยังไม่สมบูรณ์ บางคลองยังมีปัญหาวัชพืชและผักตบชวาเต็มคลอง เช่น คลองระพีพัฒน์ คลองสามวา เป็นต้น

นอกจากนั้นยังขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนหรือพลเมืองในพื้นที่ อีกทั้งการทดสอบดังกล่าวไม่มีความจำเป็นในการวางแผนการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคตเลย แต่อาจจะจำเป็นในการเร่งรีบใช้เงินโดยเปล่าประโยชน์ หรือผลาญงบประมาณกันเล่นของรัฐบาลเท่านั้น

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้เรียกร้องให้ กบอ. ล้มเลิกการซักซ้อมดังกล่าว และหากยังเดินหน้าแล้วก่อให้เกิดความเสียหาย ชาวบ้านที่เดือดร้อนสามารถแจ้งความเอาผิดประธานและคณะกรรมการ กบอ. ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งหรือทางปกครองต่อศาลได้

ขณะที่นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เห็นว่า การทดลองระบบระบายน้ำในช่วงฤดูฝนเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะคณะทำงานบริหารจัดการน้ำชุดที่แล้วได้สั่งให้รื้อระบบป้องกันน้ำฝนของ กทม.เพื่อให้น้ำเหนือไหลออกปากอ่าวเมื่อปลายปี 2554 ออกไปแล้ว ฉะนั้น ระหว่างการทดลองระบบเกิดมีฝนตกขึ้นมาผู้ที่ตัดสินใจดำเนินการเรื่องนี้จะต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับ กทม. และตนทราบมาว่าในที่ประชุม กบอ.วิศวกรชั้นผู้ใหญ่หลายคนไม่เห็นด้วย

นายธีระชนแนะนำว่า ผู้ที่ดำเนินการเรื่องนี้จะต้องไปดูพื้นที่ต้นน้ำว่าเขื่อนมีสภาพเป็นอย่างไร การปล่อยน้ำมาจากเขื่อนในปริมาณมากจะทำให้เกิดสภาวะน้ำแล้งหรือไม่ และจะต้องไปดูคลองระพีพัฒน์ที่เมื่อช่วงน้ำท่วมปลายปี 54 ได้มีการไปขวางคลองเอาไว้ แล้วแก้ไขปัญหาหรือยัง ประตูระบายน้ำจำนวน 14 บาน และเขื่อนอีก 20 กว่าจุด สถานีสูบน้ำ 3 แห่งที่คลองหกวาสายล่างมีการซ่อมแซมหมดแล้วหรือยัง

“ถ้าสิ่งเหล่านี้ครบถ้วนแล้วก็ขอให้ทดสอบเลย แต่ถ้าน้ำฝนมาจะต้องรับผิดชอบ เพราะได้มีการรื้อระบบป้องกันน้ำฝนของกรุงเทพมหานครไปแล้ว ซึ่งการกระทำการใดๆ ขอให้นึกถึงประชาชน และขอให้คนที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมทางน้ำได้โปรดรับฟังความคิดเห็นของวิศวกรผู้ใหญ่ที่มีใบประกอบวิชาชีพและมีความรู้ด้านนี้โดยตรงที่อยู่ร่วมในที่ประชุม กบอ.บ้าง” นายธีระชนกล่าว

คำพูดของนายธีรชน ทำให้นายปลอดประสพเลือดขึ้นหน้า ออกมาสวนทันทีว่า นายธีรชนไม่ได้เป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ที่รับผิดชอบเรื่องน้ำ ความคิดเห็นของนายธีระชนไม่ใช่ความเห็นของผู้รับผิดชอบ และไม่ตรงกับความจริง เพราะ กบอ.ไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ทำงานร่วมกับ กทม. มาตลอด เสียงวิจารณ์ของนายธีระชนเป็นการพูดอย่างที่นักการเมืองพูด เพราะอยากจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.

นายปลอดประสพ อ้างว่า ได้รายงานแผนการทดสอบนี้ให้นายกรัฐมนตรีทราบเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วง จึงสั่งการให้ กบอ.ออกแถลงการณ์เรื่องนี้ ตนได้ขอให้กรรมการ กบอ.ทุกคนช่วยชี้แจงเรื่องนี้ และจะจัดทำเอกสารชี้แจง รวมถึงประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ผ่านทาง ช่อง 9 และช่อง 11

ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เห็นว่า การทดสอบระบบของ กบอ.ครั้งนี้ โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย แต่เมื่อเป็นเจตนาของรัฐบาล ในฐานะที่ตนต้องดูแลประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯก็มีความเป็นห่วง เพราะเดิมพันคือคน คือ บ้านเรือนของประชาชน หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ

พร้อมให้ข้อมูลว่า ในส่วนของคลองมหาสวัสดิ์ ขณะนี้การก่อสร้างเขื่อนริมแม่น้ำของ กทม.ยังไม่แล้วเสร็จดี เช่น บริเวณวัดปุรณาวาส เป็นต้น และที่น่าเป็นห่วงมาก คือ คลองลาดพร้าวที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับดำเนินการขุดลอก ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ทำการขุดลอกเลย ซึ่งคลองลาดพร้าวเป็นคลองยาวและผ่านพื้นที่หลายเขตฯรวมทั้งจะส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่องในคลองเปรมประชากรและคลองบางเขน ที่มีบ้านเรือนประชาชนจำนวนมาก

นั่นแสดงว่า คำพูดของนายปลอดประสพที่ว่า กบอ.ได้ประสานกับ กทม.ตลอดนั้น ไม่เป็นความจริง และที่อ้างว่าต้องการทดสอบระบบการระบายน้ำหลังจากการขุดลอกคูคลองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน

การที่นายปลอดประสพเร่งจะให้มีการปล่อยน้ำเพื่อทดสอบ ทั้งที่สภาพคูคลองยังไม่มีความพร้อมตามที่กล่าวอ้าง จึงน่าสงสัยว่า มีวาระซ่อนเร้นเรื่องการเร่งใช้งบประมาณตามแถลงการณ์ของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงการโหมสร้างภาพ เพื่อไม่ให้รัฐบาลถูกด่า ก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึง

ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตรฯ และประธาน กบอ. ผู้ผลักดันมาตรการปล่อยน้ำทดสอบระบบคูคลองระบายน้ำใน กทม.
กำลังโหลดความคิดเห็น