xs
xsm
sm
md
lg

เลิกงัดข้อชั่วคราว "ปู-มาร์ค"ถกดับไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “มาร์ค” ตอบรับนำส.ส.ใต้ ปชป.ร่วมถกรัฐบาลดับไฟใต้ หลัง “ปู” ยอมตามเงื่อนไขนั่งหัวโต๊ะ ดึงอ๊อด-ผบ.ร่วม18ก.ย.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล “เหลิม”เอาอีก เล็งชงแนวคิดเลือกตั้งผู้ว่าฯ ภูเก็ต เพิ่ม หลังถูกอัดคิดแบ่งแยกดินแดนด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ 3 จังหวัดชายแดนใต้

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ตอบรับเงื่อนไขของฝ่ายค้านที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมรับฟังข้อเสนอแนะ และแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ใช่ ยินดี และไม่รู้สึกกังวลอะไร เพราะถือเป็นวาระของชาติ เรายินดีรับฟังจากทางผู้นำฝ่ายค้านหรือสมาชิก ซึ่งบางครั้งขอเรียนว่าเรื่องความมั่นคง เราไม่สะดวกที่จะฟัง ท่ามกลางที่สาธารณะมาก เพราะเป็นเรื่องความมั่นคง ถ้ามีการพูดคุยแนะนำ เราพร้อมที่จะให้ข้อมูลและรับฟัง

เมื่อถามว่า เพราะอะไรถึงเพิ่งตัดสินใจตอนนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวเสียงสูงว่า เปล่า ไม่ได้เพราะอะไร

**มาร์คตอบรับนำส.ส.ถกดับไฟใต้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา กล่าวถึงกรณีที่ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่าเตรียมออกหนังสือเชิญ หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้เชิญนายอภิสิทธิ์ และส.ส.ภาคใต้ร่วมหารือแนวทางแก้ปัญหาไม่สงบชายแดนใต้ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญจาก ร.ต.อ.เฉลิม เห็นแต่ข่าว ซึ่งโดยหลักการ ตนไม่มีปัญหา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันมาตลอดว่าพร้อมร่วมแก้ไข และเห็นว่านายกฯ ต้องมีบทบาทสำคัญ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหาร เนื่องจากขณะนี้มีปัญหา เพราะในขณะที่ทหาร มีการพูดคุย แต่ร.ต.อ.เฉลิม กลับแสดงความเห็นเหมือนไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับเรื่องเงื่อนไขในการมอบตัว ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสน

ดังนั้น นายกฯ จึงเป็นคนที่ต้องกำหนดนโยบาย เพื่อหยุดความสับสน และต้องเชื่อมโยงว่าในทางปฏิบัติ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องการมอบตัว จะเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงมาตรา 21 จึงต้องหารือกันให้ชัดเจน เพราะในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ กำลังพยายามเดินหน้าด้วยโครงสร้างเดิม แต่เป็นกังวลว่า มีโครงสร้างใหม่ที่มาซ้อนอยู่ เช่น ศปก.จชต.

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า แม้ครั้งนี้นายกฯ จะไม่มาสภา แต่ไม่อยากให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับระบบ เพราะนายกฯ ยังมีความรับผิดชอบต่อสภา ซึ่งเป็นหลักการสำคัญ ดังนั้น การที่ตนเองและ สส. เดินทางไปหารือเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ ไม่ได้หมายความว่านายกฯ จะใช้วิธีนี้ในทุกกรณี เพราะนายกฯ มีความรับผิดชอบต้องตอบกระทู้ในสภา และควรไปชี้แจงตอบคำถามด้วยตัวเอง ส่วนหลังจากพบกับนายกฯ แล้ว จำเป็นที่จะต้องอภิปรายในญัตติที่เสนอค้างไว้ในสภาหรือไม่นั้น ก็ต้องรอดูผลการหารือร่วมกันก่อน

** "เฉลิม" เผย"ปู"นัดปชป.ถกดับไฟใต้

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำหนังสือเพื่อเชิญผู้นำฝ่ายค้านและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมประชุมปรึกษาหารือกันในวันอังคารที่ 18 ก.ย.นี้ เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล และหวังว่าอดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงให้ความกรุณามาร่วมประชุมปรึกษาหารือ เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ เพราะปัญหานี้ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีส.ส.ในภาคใต้มากที่สุด และมั่นใจว่ามีความรู้ ความชำนาญ ความเข้าใจดีกว่ารัฐบาล

"การหารือดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ จะเข้ามานั่งเป็นประธานด้วยตัวเอง ไม่ใช่ตน เพราะตนเคยเชิญมาแล้ว 2 ครั้ง ไม่มา โดยยื่นเงื่อนไขต้องให้นายกฯ มาร่วม วันนี้ นายกฯตอบรับที่จะมาร่วมด้วยแล้ว และยังได้บอกกับพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ ไปแล้วเพื่อประสานกับศอ.บต. ผบ.เหล่าทัพ กอ.รมน. และกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ามาร่วมด้วย"

ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับการที่กลุ่มแนวร่วมกลับใจขอมอบตัวกับทางการ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ต้องแยกกัน คือ ถ้าคนที่ถูกจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ฆ่าคนตาย พยายามฆ่า วางเพลิงเผาทรัพย์ แล้วหนีไป อยู่ๆ จะมาขอมอบตัว โดยอาศัยพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินมาตรา 21 โดยไม่ต้องรับผิดนั้น ตนอยากถามว่า แล้วญาติคนตายเขาจะคิดอย่างไร แต่ถ้าเป็นผู้ต้องหาตามพ.ร.ก.สถานการฉุกเฉินไม่เป็นไร และเรื่องนี้คนที่รู้ดีที่สุด คือ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ผบ.ตร.

“เอาล่ะ อาจจะเป็นผู้ต้องตามหมายจับ ป.วิอาญา แต่เมื่อเข้ามามอบตัว มีเจตนาดี ก็ให้ประกันตัว คดีก็ต่อสู้ไป ก็ให้โอกาส เปิดโอกาส ก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าฆ่าคนตาย พยายามฆ่า เข้ามาแล้วเลิกกัน มันก็จะกระไรอยู่ มันต้องเห็นหัวอกญาติผู้ตาย ญาติผู้บาดเจ็บ ญาติผู้เสียหายบ้าง แต่ถ้าเป็นผู้ต้องหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จับไปเหอะ อะไรก็ง่าย”รองนายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า โดยหลักแล้วเมื่อมีการมอบตัวแล้ว ยังมีขั้นตอนอะไรอีกเยอะ ไม่ใช่มอบตัวแล้วจบ และกลับไปอยู่บ้านได้เลย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนขอไม่แสดงความเห็น

เมื่อถามว่าคิดว่าจะมีปัญหาตามมาหรือไม่ เพราะคนที่มามอบตัวเหล่านี้ก็เคยปล้นปืน เคยฆ่าคนตาย รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่เอา ตนไม่พูดรายละเอียด ขอพูดในหลักการเท่านั้น คือ ถ้าเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ต้องมาต่อสู้คดี จะมาผ่อนปรนให้ประกันตัวก็ว่ากันไป เป็นการให้โอกาสก็ส่วนหนึ่ง แต่คดีจะจบไม่ได้ แต่ถ้าเป็นความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็สามารถใช้ตามมาตรา 21 ได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวความขัดแย้งของท่านและพล.อ.ยุทธศักดิ์ ในเรื่องนี้ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่มี จะไปขัดแย้งอะไร ตนเป็นร.ต.อ. แต่ท่านยุทธศักดิ์ เป็นพล.อ. จะได้ขัดแย้งได้ไง แต่มันต้องหลากหลายความคิด ยืนยันรัฐบาลชุดนี้ไม่มีขัดแย้ง นายกฯ รับมือได้หมด ใครยุ่งยากนายกฯ ดุทีเดียวเรียบร้อยหมด

เมื่อถามว่า จะเสนอหลักการของท่านให้พล.อ.ยุทธศักดิ์ หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่เสนอ ตนพูดให้สังคมได้ยินก็พอแล้ว ไปจุ้นจ้านกับท่านได้อย่างไร

“ยืนยันอีกครั้งว่าการทำงานของผู้มีหน้าที่ ผมไม่เกี่ยวข้องและไม่ขัดแย้ง ทางพล.อ.ยุทธศักดิ์ ก็ทำดี ทางกองทัพก็ทำเก่ง แต่ในฐานะนักกฎหมายผมก็ต้องพูดอย่างนี้ แต่ไม่ขัดแย้งหรือคัดค้าน”ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

**ชงแนวคิดเลือกตั้ง “ผวจ.ภูเก็ต”เพิ่ม

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า จากที่ตนได้มีการเสนอความคิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หากตรงนั้นจะทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ก็จะเพิ่มจังหวัดภูเก็ตไปอีกจังหวัดหนึ่ง ซึ่งมีคนแสดงความคิดเห็นเป็นนักการเมือง โดยบอกว่าจะเป็นการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งจะมีการแบ่งแยกดินแดนไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่หลักเป็นของรัฐบาล ตนอ่านข่าวเมื่อเช้าก็ดีใจว่ามีผู้นำการศึกษา ผู้นำในพื้นที่เห็นตรงกับตน

"การเพิ่มจังหวัดภูเก็ตเข้าไปด้วย เพื่อทำให้คนทั้งประเทศสบายใจ เพราะมีความหวาดระแวงว่า 3 จังหวัด เลือกแล้วจะเป็นการแบ่งแยกดินแดน ส่วนจังหวัดภูเก็ต เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ก็เป็นจังหวัดที่หารายได้เลี้ยงประเทศ มีความเจริญไม่แพ้กรุงเทพฯ"

**"อดุลย์" ชี้อาร์เคเคต้องคัดกรอง

พล.อ.ต.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแกนนำกลุ่มอาร์เคเคเข้ามอบตัวกับพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ว่า มีการประสานกับตำรวจ กับยุติธรรมในพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งคนที่เข้ามามอบตัวจะมีขั้นตอนการคัดกรอง ส่วนจะเป็นเมื่อไร ก็อยู่ที่พื้นที่

เมื่อถามว่าผู้ที่มีหมายจับตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อปี 2548 หรือกลุ่มนายสะแปอิง บาซอ จะมีการคัดแยกด้วยหรือ พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า มีขั้นตอนทางกฎหมายอยู่แล้ว เดี๋ยวจะมีการชุบตัว ขั้นแรกก็รับเรื่องก่อนแล้วค่อยนำมาสู่กระบวนการคัดกรอง ใครจริงใครไม่จริง ส่วนข้อเรียกร้องของคนมีหมายจับเราก็ต้องรับฟังเป็นข้อมูล
กำลังโหลดความคิดเห็น