“รองฯ เฉลิม” เผย “ปู” พร้อมนั่ง ปธ.ถกแก้ปัญหาไฟใต้ เตรียมเชิญ ปชป.เข้าร่วม ชี้เข้าใจสาเหตุกว่า รบ. พร้อมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมถก ย้ำไอเดียให้ จว.ชายแดนใต้เลือกผู้ว่าฯ เอง ไม่เกี่ยวแบ่งแยกดินแดน อ้าง จนท.ยังเป็นคนไทย แจงยกภูเก็ตให้เลือกเช่นกันเพื่อความสบายใจ เผยกลุ่มความไม่สงบมอบตัว ต้องเห็นใจญาติเหยื่อที่ได้ผลกระทบ ชี้คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุยง่าย แต่ฆ่า-เผา-ปล้น ต้องแยกออก ปัดขัดแย้ง “ยุทธศักดิ์” เรื่องนี้ “อดุลย์” ยันมีขั้นตอน ไม่ปล่อยให้ชุบตัว
วันนี้ (12 ก.ย.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดตนเองที่ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่หากไม่สบายใจจะรวมภูเก็ตไปด้วย แต่กลับมีนักการเมืองออกมาทักท้วงแนวคิดนี้ โดยกล่าวหาว่าจะเป็นการแบ่งแยกดินแดนว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะโดยหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งแล้วจะแบ่งแยกดินแดนไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ก็เป็นของรัฐบาล และรัฐไทยก็เป็นรัฐเดียวไม่ใช่รัฐคู่
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวด้วยว่า สำหรับการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ก่อนหน้านี้ตนได้ทำหนังสือเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และส.ส.ภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมหารือถึงแนวทางแก้ปัญหา แต่ก็ถูกปฏิเสธ โดยอ้างว่านายกฯ ต้องมาร่วมฟังด้วยจึงจะยอมมาร่วม ดังนั้นเมื่อวานนายกฯได้มีการตอบรับแล้ว
“เมื่อวานนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผมจะทำหนังสือบ่ายนี้เพื่อเชิญผู้นำฝ่ายค้านและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมประชุมปรึกษาหารือกันในวันอังคารที่ 18 ก.ย.นี้ เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล และผมหวังว่าอดีตนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำฝ่ายค้านและส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงให้ความกรุณามาร่วมประชุมปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ เพราะปัญหานี้ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี ส.ส.ในภาคใต้มากที่สุด และผมมั่นใจว่ามีความรู้ ความชำนาญ ความเข้าใจดีกว่ารัฐบาล” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า ในการหารือดังกล่าวนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ จะเข้ามานั่งเป็นประธานด้วยตัวเอง ไม่ใช่ตน เพราะตนเคยเชิญมาแล้ว 2 ครั้งไม่มา โดยยื่นเงื่อนไขต้องให้นายกฯมาร่วม วันนี้นายกฯ ตอบรับที่จะมาร่วมด้วยแล้ว นอกจากนี้ตนได้บอกกับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ ไปแล้วเพื่อประสานกับ ศอ.บต. ผบ.เหล่าทัพ กอ.รมน. และกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ามาร่วมด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับการที่กลุ่มแนวร่วมกลับใจขอมอบตัวต่อทางการ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ต้องแยกกันคือถ้าคนที่ถูกจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ฆ่าคนตาย พยายามฆ่า วางเพลิงเผาทรัพย์ แล้วหนีไป จู่ๆ จะมาขอมอบตัวโดยอาศัย พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินมาตรา 21 โดยไม่ต้องรับผิดนั้น ตนอยากถามว่าแล้วญาติคนตายเขาจะคิดอย่างไร แต่ถ้าเป็นผู้ต้องหาตาม พรก.สถานการฉุกเฉินไม่เป็นไร และเรื่องนี้คนที่รู้ดีที่สุดคือ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ ผบ.ตร.
“อาจจะเป็นผู้ต้องตามหมายจับ ป.วิอาญา แต่เมื่อเข้ามามอบตัว มีเจตนาดี ก็ให้ประกันตัว คดีก็ต่อสู้ไป ก็ให้โอกาส เปิดโอกาสก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าฆ่าคนตาย พยายามฆ่า เข้ามาแล้วเลิกกัน มันก็จะกระไรอยู่ มันต้องเห็นหัวอกญาติผู้ตาย ญาติผู้บาดเจ็บ ญาติผู้เสียหายบ้าง แต่ถ้าเป็นผู้ต้องหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จับไปเหอะ อะไรก็ง่าย” รองนายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่าโดยหลักแล้วเมื่อมีการมอบตัวแล้วยังมีขั้นตอนอะไรอีกเยอะ ไม่ใช่มอบตัวแล้วจบ และกลับไปอยู่บ้านได้เลย ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนขอไม่แสดงความเห็น เมื่อถามว่าคิดว่าจะมีปัญหาตามมาหรือไม่ เพราะคนที่มามอบตัวเหล่านี้ก็เคยปล้นปืน เคยฆ่าคนตาย รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่เอา ตนไม่พูดรายละเอียด ขอพูดในหลักการเท่านั้น คือถ้าเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ต้องมาต่อสู้คดี จะมาผ่อนปรนให้ประกันตัวก็ว่ากันไป เป็นการให้โอกาสก็ส่วนหนึ่ง แต่คดีจะจบไม่ได้ แต่ถ้าเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็สามารถใช้ตามมาตรา 21 ได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวความขัดแย้งของท่านและพล.อ.ยุทธศักดิ์ ในเรื่องนี้ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่มี จะไปขัดแย้งอะไร ตนเป็น ร.ต.อ. แต่ท่านยุทธศักดิ์เป็น พล.อ. จะได้ขัดแย้งได้ไง แต่มันต้องหลากหลายความคิด ยืนยันรัฐบาลชุดนี้ไม่มีขัดแย้ง นายกฯรับมือได้หมด ใครยุ่งยากนายกฯ ดุทีเดียวเรียบร้อยหมด เมื่อถามว่าจะเสนอหลักการของท่านให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่เสนอ ตนพูดให้สังคมได้ยินก็พอแล้ว ไปจุ้นจ้านกับท่านได้อย่างไร
“ยืนยันอีกครั้งว่าการทำงานของผู้มีหน้าที่ ผมไม่เกี่ยวข้องและไม่ขัดแย้ง ทาง พล.อ.ยุทธศักดิ์ก็ทำดี ทางกองทัพก็ทำเก่ง แต่ในฐานะนักกฎหมายผมก็ต้องพูดอย่างนี้ แต่ไม่ขัดแย้งหรือคัดค้าน” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถพูดได้หรือไม่ว่าแนวคิดในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะดีกว่าการมามอบตัวของแนวร่วมเหล่านี้ รองนายกฯ กล่าวว่า คงพูดอย่างนั้นไม่ได้ แต่แนวคิดของตนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เขาเลือกคนที่ประชาชนเขาเคารพ นับถือมาเป็นผู้ว่าฯ เขาก็ต้องมีความเชื่อถือและมั่นใจ การก่อเหตุร้ายก็จะลดลง แต่แนวคิดนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย กลัวว่าจะสับสน
เมื่อถามว่าภูเก็ตมาเกี่ยวอะไรด้วยกับแนวคิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองนายกฯ กล่าวว่า ตนทำให้คนทั้งประเทศสบายใจ เมื่อมีความหวาดระแวงว่า 3 จังหวัดเลือกแล้วจะมีการแบ่งแยกดินแดน จ.ภูเก็ต เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นจังหวัดที่หารายได้เลี้ยงประเทศ มีความเจริญคล้ายกรุงเทพฯ ก็เลือกตั้งอีกสักจังหวัดจะเป็นอะไรไป
ด้าน พล.อ.ต.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแกนนำกลุ่มอาร์เคเคเข้ามอบตัวกับ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 มีการประสานงานกับตำรวจรือไม่ว่า มีการประสานกับหน่วยงานกับตำรวจกับยุติธรรมในพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งคนที่เข้ามามอบตัวจะมีขั้นตอนการคัดกรอง ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่ก็อยู่ที่พื้นที่ เมื่อถามว่าผู้ที่มีหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อปี 2548 หรือกลุ่มนายสะแปอิง บาซอ จะมีการคัดแยกด้วยหรือ พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า มีขั้นตอนทางกฎหมายอยู่แล้ว เมื่อถามว่าในฐานะที่เคยอยู่ภาคใต้คิดว่าต้องแยกคดีฆ่าคนด้วยหรือไม่ พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า ต้องมีขั้นตอนอยู่แล้ว เดี๋ยวจะมีการชุบตัว ขั้นแรกก็รับเรื่องก่อนแล้วค่อยนำมาสู่กระบวนการคัดกรอง ใครจริงใครไม่จริง ส่วนข้อเรียกร้องของคนมีหมายจับเราก็ต้องรับฟังเป็นข้อมูล