xs
xsm
sm
md
lg

“เจ๊ะอาลี” ตัวการใหญ่นำพวก 100 คนสงบศึกป่วนใต้กับแม่ทัพภาค 4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมเป็นประธานในการแสดงตัวยืนยันยุติการต่อสู้ของนายแวอาลีคอปเตอร์ วาจิ หรือ “เจ๊ะอาลี” ตัวการใหญ่รางวัลนำจับ 1 ล้านบาท และนำผู้หลงผิดจำนวน 100 คน มาเข้าร่วมเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามแผนพาคนกลับบ้าน “เจ๊ะอาลี” ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ พร้อมทั้งขอทราบทิศทางความชัดเจนแนวทางปฏิบัติต่อประเด็นข้อเรียกร้อง เผยหากรัฐให้ความเป็นธรรมจะเป็นตัวดูดให้ “สะแปอิง บาซอ” และ “มะแซ อุเซ็ง” ออกมาร่วมยุติศึกด้วย

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 11 ก.ย.55 ที่หอประชุมบรมราชกุมารี สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม จ.นราธิวาส ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส พล.ท.อดุมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เดินทางมาเป็นประธานการแสดงตัวยืนยันเพื่อยุติการต่อสู้ ของนายแวอาลีคอปเตอร์ วาจิ หรือชื่อจัดตั้ง เจ๊ะอาลี ซึ่งทางการเคยตั้งรางวัลนำจับ 1 ล้านบาท ที่เป็นตัวการใหญ่ร่วมวางแผน และสั่งการให้แกนนำระดับปฏิบัติการนำกำลังบุกปล้นปืนที่กองพันพัฒนา 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 4 นาย ได้นำผู้หลงผิด จำนวน 100 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเข้าร่วมเพื่อเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามแผนพาคนกลับบ้าน ของโครงการประสานใจเพื่อสันติสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 
โดยการแสดงตัวยืนยันเพื่อยุติการต่อสู้ของ นายแวอาลีคอปเตอร์ และพวกในครั้งนี้ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกในนาม Badan Penyelarasan Wawasan Baru Melayu Patani หรือกลุ่มปลดปล่อยความขัดแย้งเขตปกครองใหม่มลายูปัตตานี มีข้อสรุปร่วมกัน 3 ข้อ เสนอต่อแม่ทัพภาค 4 คือ

1.เมื่อเข็มมุ่งทางยุทธศาสตร์การต่อสู้ลำหน้ามวลชน และยาวไกลเกินไป
2.การชี้นำแนวทางขององค์กรนำไม่สามารถให้คำอธิบายได้อย่างชัดเจนในทางยุทธวิธีเพื่อให้บรรลุทางยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ
และ 3.เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรัฐกำหนดนโยบายที่เป็นการสร้างสรรค์มากขึ้น พวกเราจึงต้องกำหนดแนวทางใหม่เช่นกัน

พร้อมทั้งขอทราบทิศทางความชัดเจนแนวทางปฏิบัติต่อประเด็นข้อเรียกร้องในเบื้องต้นจำนวน 3 ข้อ คือ 1.รัฐมีมาตรการดำเนินการต่อสู้ผู้ที่ยุติบทบาทความรุนแรงต่อรัฐโดยเฉพาะผู้ที่มีหมายจับอย่างไร
2.รัฐจะจัดการความขัดแย้งให้เป็นรูปธรรมอย่างไรเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในพื้นที่
และ 3.รัฐมีหลักประกันเช่นไรในการกำหนดนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม

“เราคาดหวังคำตอบที่เป็นรูปธรรม จะเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างสังคมให้มีความสันติสุข ยุติความรุนแรงโดยสิ้นเชิง ถึงแม้อาจจะมีบางคนบางกลุ่มยังคงต้องการเคลื่อนไหวด้วยวิธีรุนแรง แต่ในที่สุด ก็จะเป็นส่วนน้อย และสุดโต่งในทัศนะของมวลชนส่วนใหญ่”

 
รายงานข่าวแจ้งว่า หากรัฐดูแล และให้ความเป็นธรรมต่อนายแวอาลีคอปเตอร์ และพวกเป็นอย่างดี ทราบว่าในอีกไม่นานนี้ นายสะแปอิง บาซอ และนายมะแซ อุเซ็ง แกนนำคนสำคัญที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีการประสานเพื่อออกมาแสดงตัวยืนยันยุติการต่อสู่กับรัฐ ซึ่งเรื่องนี้มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูง แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทัพ และรัฐบาลที่ต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจน ในเรื่องของคดีความ เพื่อให้ผู้หลงผิดที่เหลือเข้ามามอบตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากหน่วยข่าวความมั่นคง ยังได้เปิดเผยอีกด้วยว่า การขอเจรจากับรัฐบาล เรื่องความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของนายคัสตูรี มะโกตา หัวหน้ากลุ่มพูโล ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่ประเทศสวีเดน ได้มีการประสานตรงไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2554 ที่ผ่านมา โดยผ่านทางเว็บไซด์ แต่เรื่องดังกล่าวเงียบหายไป ซึ่งเป็นข้อกังขาอย่างหนึ่งที่กลุ่มขบวนการโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่กล้าออกมามอบตัว เนื่องจากตัวจักรสำคัญของรัฐบาลไม่เอาด้วย จึงทำให้ภาคใต้ร้อนระอุเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น