คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทย หรือที่มักเรียกว่า “ไฟใต้” เป็นเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในสี่จังหวัดภาคใต้ อันได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ จ.สงขลา ซึ่งเกิดมาจากฝีมือของขบวนการโจรก่อการร้ายที่ต้องการจะแบ่งแยกดินแดน และเกิดจากความขัดแย้งอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเหตุการณ์ฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนรายวัน วางเพลิง วางระเบิด และ “คาร์บอมบ์”ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวในลักษณะต้องการแบ่งแยกดินแดนจะไม่อาจเป็นความจริง แต่ก็สร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นต่อพื้นที่ 4 จังหวัดในทุกมิติ โดยเฉพาะความเสียหายด้านจิตใจ ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเยียวยาผู้ที่ได้ความสูญเสียทุกภาคส่วน
สำหรับการเยียวยาผู้ที่ได้รับความสูญเสีย แม้เริ่มขึ้นต้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลที่ผ่านมาทุกคณะต่างมีนโยบายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในรูปของตัวเงิน และการดูแลเยียวยาด้านจิตใจอย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเร่งนำสันติสุข และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การเยียวยาที่เห็นชัดเป็นรูปธรรมที่สุด คือ การที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้อนุมัติเงิน 2,080 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะของหน่วยงานหลักในการดูแลการ เยียวยา รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ได้ดำเนินการมอบเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มีมติในวันที่ 14 สิงหาคม 2555 เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่เสียชีวิต ทุพพลภาพ บาดเจ็บ และครอบคลุมทั้งประชาชนทั่วไป รวมถึงพระสงฆ์ นักบวชในศาสนาอื่น นักท่องเที่ยวต่างชาติ จากเดิมรายละ 100,000 บาท และประชาชนที่ช่วยเหลือทางราชการ จากเดิมรายละ 200,000 บาท ให้เท่าเทียมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐย้อนหลังไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 เป็น 500,000 บาท โดยจะทยอยจ่าย ปีละ 100,000 บาท ให้เสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ 2558 โดยร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา รวมทั้งคณะอนุกรรมการเยียวยาชุดต่างๆ ได้ทำการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้สูญเสีย และผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนสิ้นสุดเดือนรอมฏอน ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2555 นี้เป็นต้นไป ดังต่อไปนี้
1.ศอ.บต. ได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ดำเนินการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีประชาชนที่เสียชีวิต ทุพพลภาพ และบาดเจ็บ ในแต่ละจังหวัด 4 จังหวัด รวม 6,868 คน เป็นเงิน 430,210,000 บาท
2.ศอ.บต. ร่วมกับคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ดำเนินการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้รับผลกระทบกรณีต่างๆ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2555 ณ อาคารอเนกประสงค์ ศอ.บต. อ.เมือง จ.ยะลา โดยได้เชิญกงสุลใหญ่ประเทศอินโดนีเซีย และกงสุลใหญ่ประเทศมาเลเซีย ประจำจังหวัดสงขลา ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทน กอ.รมน. สื่อมวลชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน รวม 4 กรณี เป็นเงิน 525,596,800 บาท ดังนี้
2.1 กรณี รายละ 7.5 ล้านบาท จ่ายงวดแรก 3.5 ล้านบาท ที่เหลือจะทยอยจ่ายปีละ 1 ล้านบาท รวม 4 ปี ดังนี้
1) กรณีอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส 85 รายๆ ละ 3.5 ล้านบาท เป็นเงิน 297.5 ล้านบาท
2) กรณีอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา 19 รายๆ ละ 3.5 ล้านบาท เป็นเงิน 66.5 ล้านบาท
3) กรณีสูญหาย และละเมิดสิทธิมนุษยชน จำนวน 5 ราย เป็นเงิน 14.5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 378.5 ล้านบาท
2.2 กรณีมัสยิดกรือเซะ 34 ราย เป็นประชาชน 32 ราย เจ้าหน้าที่ 2 ราย รายละ 4 ล้านบาท เป็นเงิน 136 ล้านบาท
2.3 กรณีข้าราชการที่เสียชีวิต และทุพพลภาพ จำนวน 100 รายๆ ละ 100,000 บาท เป็นเงิน 10,000,000 บาท กรณีข้าราชการยังได้ขอให้กระทรวง ทบวง กรมต้นสังกัดของข้าราชการทำการเยียวยาโดยให้สิทธิ และจัดสวัสดิการให้เป็นพิเศษ และได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ข้าราชการที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอ ได้แก่ ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา พระ เป็นต้น ซึ่ง ศอ.บต. ได้แจ้งให้กระทรวงศึกษาพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยาและจัดสวัสดิการเพิ่มเติมให้เพื่อความเสมอภาคและเป็นธรรมแล้ว 2.4 กรณีชดเชยเยียวยาผู้ถูกควบคุมตัว หรือถูกคุมขังตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และต่อมา ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีความผิด จำนวน 29 ราย เป็นเงิน 1,096,800 บาท โดยจะได้เร่งรัดจ่ายเงินเยียวยาทุกกรณี ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2555 นี้
3.ในการช่วยเหลือเยียวยา ศอ.บต. ยังได้ให้ความสำคัญการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย การยึดหลักธรรมภิบาล การป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ที่แอบอ้างเป็นนายหน้าในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งได้ทำการชี้แจงประชาสัมพันธ์ให้ผู้รับผลกระทบ รวมทั้งประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลข่าวสารด้านการเยียวยาอย่างทั่วถึง
แน่นอนว่า การเยียวยาบาดแผลทางจิตใจ ด้วยการใช้เงินเพียงอย่างเดียว คงจะแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งของความเป็นธรรม แต่การสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่มีความเห็นต่าง คิดต่าง และกลุ่มประชาชนที่จับอาวุธก่อการร้ายนั้น หน่วยงานทุกหน่วยต้อง “ถักทอ” การทำงานให้เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งเดียว และต้องขับเคลื่อนอย่างพร้อมเพรียงกันด้วยการยึดหลักความเป็น “เอกภาพ”
ซึ่งมุมมองของผู้นำศาสนาที่เป็นประธานอนุกรรมการเยียวยา กรณีมัสยิดกรือเซะ อย่าง นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลาม จ.ปัตตานี หรือ “บาบอแม” เห็นว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น รัฐบาลโดยกองทัพ โดย ศอ.บต. ต้องเปิดพื้นที่การพูดคุยแบบสันติวิธี เพื่อสร้างความเข้าใจ ลดความหวาดระแวง และต้องเน้นเรื่องงานพัฒนา และเรื่องความเป็นธรรมเป็นหลัก โดย ศอ.บต. ต้องเป็นผู้ผลักดันเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ใช่แค่มอบเงินเยียวยาแล้วจบ ทุกอย่างยังไม่จบ แต่เป็นการเริ่มต้นที่ดีเท่านั้น หน่วยราชการทุกหน่วยงานรวมทั้งปกครองท้องถิ่น ต้องรับนโยบาย ศอ.บต. ไปดำเนินการในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นธรรม และการพัฒนาด้านอื่นๆ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา องค์กรเอกชน ต้องร่วมมือกัน โดยมีกองทัพเป็นผู้รับผิดชอบงานความมั่นคง ป้องกันชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน เพื่อให้พื้นที่ 4 จังหวัดเกิดความสงบสุขในอนาคต