xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ชี้รัฐเสียหลักใช้อำนาจไม่ชอบธรรม เปิดทาง “อาเซียน” ร่วมสร้างสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” สวมบทอดีตผู้นำประเทศไทยในเวทีวิชาการนานาชาติ  ม.อ.หาดใหญ่ หยิบปัญหาชุมนุมทางการเมือง-ไฟใต้เป็นกรณีศึกษา ชี้ถึงเวลาต้องยอมรับบทบาทอาเซียน หรือแม้แต่ประเทศที่สามในการร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยเพื่อสันติภาพ แต่ต้องทำความความเข้าใจและยืดหยุ่น เพราะรัฐบาลเสียหลักใช้อำนาจไม่ชอบธรรมเสียเอง ระบุคนต่างกลุ่มยังไม่ยอมรับความจริง “สันติภาพ” จึงไม่เกิดขึ้น 



วันนี้ (7 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. เวทีการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์และสันติศึกษาในบริบทอาเซียน ณ หอประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้เริ่มเป็นวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ท่ามกลางนักวิชาการ นักวิจัยจากหลายหน่วยงานทั้งใน และต่างประเทศ รวมถึงนักศึกษา ประชาชนทั่วไปร่วมงานอย่างคึกคัก โดยในเช้าวันนี้เป็นการปาฐกถาพิเศษ “วิสัยทัศน์ผู้นำเกี่ยวกับการเมือง ความขัดแย้ง และสันติภาพในประเทศสมาชิกอาเซียน” นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และมาเลเซีย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และอดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในขณะนี้คนในโลกสนใจกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะส่วนหนึ่งส่วนใด เพราะมีผลกระทบต่อโลกทั้งมวล และตนยินดีที่ทราบว่าวันแรกที่ประชุมได้มีการหยิบยกปัญหาของประเทศไทยมาพูดในเวทีนี้ เพื่อการแลกเปลี่ยนและรับฟังข้อเสนอแนะ ซึ่งในขณะนี้กำลังก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมีความสำคัญในระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งให้ความสำคัญใน 3 เสาหลัก คือ เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ถ้าขาดเสาหลักอันใดก็จะไม่ประสบความสำเร็จ สะท้อนชัดเจนว่าความสงบสันติต้องอยู่ในวิสัยทัศน์ของผู้นำทุกท่าน เช่นเดียวกับอาเซียนที่หลีกเลี่ยงไม่พูดคุยเรื่องนี้ไม่ได้

ความขัดแย้งไม่ว่าระดับชาติหรือภูมิภาค จะต้องมีการพูดคุย แก้ไข ที่ต้องพูดในสมาชิกอาเซียนเพราะหวังจะประสบความสำเร็จใน 2-3 ปีนี้ ซึ่งประชาคมอาเซียนต้องร่วมรักษาความสงบ ไม่ถูกคุกคาม เพื่อไม่ให้ข้อตกลงเกิดความล้มเหลว

ประการแรกต้องมองรากเหง้าปัญหา 2 ทศวรรษ เราคิดว่านี่คือรุ่งอรุณแห่งทศวรรษ เราถูกหลอกด้วยเทคโนโลยีแห่งการสื่อสาร ทุกคนมีส่วนร่วมได้รับประโยชน์ร่วมกัน และนี่คือน่าจะเป็นเป้าหมายที่จะบรรลุความสุขสงบได้ แต่ 20 ปี กลับตรงกันข้าม ประเทศชายขอบไม่ได้มีความเจริญ หลายประเทศเกิดข้อขัดแย้งที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา เกิดความตึงเครียด และประเทศที่เห็นว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยก็มีปัญหา นั่นสะท้อนถึงทิศทางการพัฒนาในระดับโลกที่ยังไม่เห็นกลไกเชิงสถาบันที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญมาปาถกฐาแก่นักวิชาการนานาชาติถึงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ว่าจะมีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร ภายใต้บริบทของความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
แม้แต่ซีเรียนั้น นานาชาติก็พยายามแสวงหาสันติไปให้ หรือในอาเซียนเองก็น่าจะมีกลไกไขข้อพิพาทเกิดขึ้น ทำให้มีการประชุมระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ แต่ก็ยังไม่มีกรอบที่ชัดเจน เราจึงจำเป็นต้องหันมาดูข้อพิพาทเหล่านี้ และไม่สามารถอ้างได้เลยว่าข้อขัดแย้งมาจากความแตกต่าง เราต้องอยู่ในโลกที่มีความหลากหลาย นั่นต่างหากที่ต้องเฉลิมฉลองในความแตกต่างที่เป็นสีสัน เราจึงต้องไม่ลบล้างความหลากหลายนั้น

ความหลากหลายมีจุดกำเนิดมาจากความแตกต่างมีทั้งกายภาพ ความคิด ปัญหาที่ท้าทายของเราจึงต้องหาหนทางให้แก่ประชาชนที่แตกต่างอยู่กันอย่างสงบ สันติ และเราเห็นในจุดนี้ว่าไม่ได้ทำให้เกิดข้อขัดแย้งหากว่ามีเป้าหมาย และจุดประสงค์ร่วมกันก็จะสามารถก้าวข้ามจุดนี้ได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากข้อขัดแย้งบางประการจำเป็นต้องมีข้อแก้ไขที่จำเพาะเจาะจง เพราะไม่มีกระบวนการจากการพูดคุยกับผู้ที่อยู่ใดที่สามารถใช้ได้ทุกเรื่อง ในวงการสันติภาพก็มีความเห็นเช่นนั้น มิฉะนั้น จะกลายเป็นความไม่ไว้วางใจ เกิดความเสียหายซึ่งหลักความยุติธรรมเมื่อเกิดข้อพิพาท ไม่ว่าฝ่ายใดก็เสียสมดุล แบ่งเป็นขั้ว และเกิดความแตกแยก

ทว่า บางขณะรัฐบาลเลือกวิธีแก้ไขที่ใช้กำลัง กฎหมายความมั่นคง แต่นั่นเป็นวงจรทำให้เกิดความขัดแย้งใหม่ที่ต้องแก้ปัญหา เช่น ในประเทศไทยความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องหลายปี และกรณี 3 จชต.ที่มีมิติของเชื้อชาติเข้ามาเสริมเกิดขึ้นกว่า 8 ปี แม้เราจะมีลักษณะของการพัฒนาการประชาธิปไตย แต่มีกลุ่มที่มีผลประโยชน์ต่างกัน ทำให้สถานการณ์กลายเป็นวิกฤต มีคนทำลายหลักนิติธรรม และต้องคิดย้อนไปถึงคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ หรือกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการใช้อำนาจอธิปไตยที่ผิด ทำให้มีการตอบโต้เพราะการปิดพื้นที่ของบางกลุ่ม จนมีการยึดอำนาจ กลุ่มอื่นๆ ก็ลุกขึ้นรวมตัวมาตอบโต้อีก เพราะ 2 ฝ่ายต่างคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อรัฐบาลเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ใช้อำนาจในทางที่ผิด ทำลายหลักนิติธรรมเสียเอง นำมาซึ่งความสูญเสีย เราจะแก้ไขอย่างไรเมื่อมาถึงจุดที่ลุกลาม เพราะการใช้กำลังทหารความมั่นคงอย่างเดียวต้องระมัดระวังเพื่อมิให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเสียเอง และต้องแก้ไขปัญหาจากทางการเมืองด้วย ในลักษณะของการเป็นผู้นำทางการเมือง

วิธีการมุ่งสู่การแก้ปัญหาก็ต้องแสวงหาความจริง ทำให้มีการตั้ง คอป.ของรัฐบาลชุดก่อน รายงานกำลังจะเสร็จเร็วๆ นี้ และจะนำไปสู่แผนปรองดองต่อไปเมื่อเรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ เสียก่อน แต่ขณะที่เราดำเนินการตามกระบวนการก็ต้องรู้รากเหง้าของปัญหาให้ได้ ต้องมีวัฒนธรรมของการอดทน ขันติ และอยู่ร่วมกันได้ไม่ว่าจะมีสถานการณ์ความคิดแตกต่างกันอย่างไร

นายอภิสิทธิ์ กล่าวเน้นย้ำว่า เราให้ความสำคัญหลักการพัฒนาหลักนิติธรรมเพื่อการแก้ไข ไม่ใช่มาจากด้านบนแต่ต้องส่งมาจากด้านล่างที่เป็นประชาชน ชุมชนด้วย ให้มีบทบาทในการร่วมร่างกฎหมาย และข้าราชการต้องมีความรับผิดชอบในการใช้อำนาจ วิธีการเช่นนี้จะเป็นขั้นตอนสร้างความเชื่อใจซึ่งกันและกัน และทำให้เกิดการยอมรับความหลากหลาย นี่เป็นทิศทางที่รัฐบาลเดิมได้นำเสนอ และหวังว่ารัฐบาลปัจจุบันจะเห็นด้วยว่ามีเหตุผล มีประโยชน์ที่จะใช้แนวทางเช่นนี้ต่อไป แต่เราก็ยังเห็นว่ารัฐบาลยังขาดความมุ่งมั่นที่จะนำไปสู่นโยบาย

“ปัญหาหนึ่งของประเทศสมาชิกนั้นย่อมระทบต่อกลุ่มอาเซียน สมาชิกอื่นๆ จึงน่าจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเข้ามาค้นหาข้อยุติ ซึ่งไม่อาจปฎิเสธได้ว่าอาจจะมีกลไกของประเทศที่สามเข้ามาช่วยเกื้อหนุน เป็นคนกลาง วิธีการเช่นนี้เคยประสบความสำเร็จมาก่อนในกลุ่มประเทศอาเซียน กรณีของติมอร์ตะวันออกอินโดนีเซียก็ยอมให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วม แม้แต่ประเทศไทยก็เข้าไปช่วย และขณะนี้ เราไม่น่าจะจำกัดตัวเองว่าจะมีเฉพาะสมาชิกอาเซียนเข้ามาช่วย แต่ประเทศอื่นๆ ก็ได้ แม้แต่กรณีของพม่าก็มีสหประชาชาติเข้ามา หรือฟิลิปปินส์ก็มี ซึ่งจะช่วยให้เกิดความร่วมมือในฐานะที่มีคนกลางช่วยเหลือประสาน

แต่ขอเตือนว่าถ้าจำเป็นต้องมีการเข้ามามีส่วนร่วมของประเทศที่สาม คนภายนอกก็จำเป็นต้องทำด้วยความเข้าใจปัญหาอย่างละเอียดอ่อน ไม่เฉพาะเจตนาดีอย่างเดียว แต่ต้องระวังไม่ให้เสียสมดุลด้วย ซึ่งผมหมายถึงความยืดหยุ่นของรูปแบบที่น่าจะเหมาะสมที่สุดของการร่วมหาข้อยุติข้อขัดแย้ง” อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อและว่า

ข้อดีของประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นกว่าสิบปีนั้น ได้เผชิญกับข้อละเอียดอ่อนมากมาก แม้จะมีความเป็นอิสระแต่ก็ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวร่วมกันได้ อาเซียนมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนร่วมกัน และทำงานสำเร็จร่วมกับหลายๆ ประเทศ

“ผมมีความมั่นใจว่าทุกท่านต้องการเห็นข้อยุติทุกประการในโลกนี้ แต่ต้องทราบความเป็นจริงด้วย เพราะข้อขัดแย้งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ทำอย่างไรที่จะสร้างสังคมที่เรียนรู้ที่จะอยู่ท่ามกลางความหลากหลาย ทั้งในภาคสื่อ ธุรกิจ หรืออื่นๆ ต้องร่วมกันสร้างค่านิยมทางประชาธิปไตย มีสันติ และความอดทนที่จะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันบนโลกที่เราอาศัยอยู่”

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายปาฐกถาว่า ความขัดแย้งที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง เพราะการกำหนดความจริงนั้นในแต่ละกลุ่มไม่สามารถยอมรับได้ นั่นเป็นสะพานสำคัญที่จะต้องเชื่อมโยงการยอมรับความจริงร่วมกัน เช่นเดียวกับห้วงเวลาที่ตนเป็นรัฐบาลนั้นต้องเผชิญความขัดแย้งอย่างตึงเครียด ตอนนี้หากระหว่างสองฝ่ายไม่เต็มใจที่จะยอมรับแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะเกิดความปรองดอง แม้ว่าความจริงไม่ได้ถูกเปิดเผยทั้งหมด แต่ถ้าไม่พยายามที่จะเปิดพื้นที่สร้างความเชื่อมโยงว่าทำไมสิ่งเดียวกันเราถึงเห็นต่างกัน นั่นเป็นความคับแค้นใจเช่นเดียวกับที่ผมเผชิญที่ไม่สามารถเข้าถึงช่องทางสื่อสารกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับผม กรณี 3 จชต.ก็เช่นกัน ชาวบ้านไม่ได้ทราบไปทุกเรื่อง สภาพที่จะให้ผู้นำชุมชนร่วมแก้ไขปัญหาก็ยังไม่เกิดขึ้น

ต่อจากนั้น ดร.มหาธีร์ โมฮำหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ขึ้นปาถกฐาในลำดับต่อมา

กำลังโหลดความคิดเห็น