“องอาจ” โวย “นายกฯ ปู” แถลงการณ์บิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี สร้างภาพม็อบ “เสธ.อ้าย” เตรียมใช้ความรุนแรงจึงต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง แถมข่มขู่จะใช้กฎหมายที่แรงขึ้น เตือนระวังรัฐบาลก่อเหตุรุนแรงแล้วโยนบาปให้ผู้ชุมนุม ตอก “เรืองไกร” ยุ ส.ส.รัฐบาลโดดประชุม สกัดญัตติซักฟอก ยัน ม.122 ให้สิทธิ ส.ส.ทำหน้าที่ในสภาปกป้องผลประโยชน์ ปชช. แนะ “ปู” ยอมเข้าร่วมงานตรวจสอบเพื่อกู้ความสง่างาม
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.ภาค กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ เมื่อคืนวันที่ 22 พ.ย. ถึงเหตุผลในการใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในฯ ในการจัดการกับการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ที่มี พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เป็นประธาน ในวันที่ 24 พ.ย. โดยเห็นว่ามีอยู่หลายประเด็นที่ อยากจะตั้งข้อสังเกตว่า นายกรัฐมนตรีกำลังใช้การแถลงการณ์บิดเบือนข้อเท็จจริง พยายามสร้างภาพให้เห็นว่ามีความรุนแรงเกินความเป็นจริง ซึ่งตนคิดว่าการแถลงเหตุผลในการใช้กฎหมายความมั่นคง นายกฯ ควรแถลงตามข้อมูลที่เป็นความจริง ไม่ควรสร้างภาพเกินเลย จากความเป็นจริง ในถ้อยแถลงของนายกฯ
ประการที่ 1 ในถ้อยแถลงของนายกฯ พูดอย่างทำอย่าง นายกฯ อ้างว่าขอให้ใช้เวทีรัฐสภาในการแก้ปัญหา ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่ขอเท็จจริง ตอนกลางวันมีการประชุมสภาฯ นายกฯ ก็ไม่มาตอบกระทู้ถาม มอบให้รัฐมนตรีมาตอบโดยอ่านจากเอกสารเพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นสภามีการพิจารณาญัตติเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ไม่สามารถประชุมต่อไปได้ เพราะ ส.ส.รัฐบาลไม่เข้าประชุมสภา จะเห็นว่าที่นายกฯ แถลงว่าให้ใช้เวทีรัฐสภาในการแก้ปัญหา จึงไม่เป็นความจริงเป็นการพูดอย่างทำอย่าง และไม่รู้เลยว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่สภา พูดตามสคริปต์เท่านั้น
2. ในการแถลงของนายกฯ มีถ้อยคำที่ใส่ร้ายป้ายสีผู้ที่จะมาชุมนุมว่าล้มล้างประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ตนเองนั้นก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน ผู้ชุมนุมมีแต่พูดถึงการจะขจัดการเมืองชั่วๆ ออกไปจากเวที การที่ นายกฯ ออกมาอ้างรายงานฝ่ายความมั่นคงว่าผู้ชุมนุมจะล้มล้างระบอบประชาธิปไตยนั้น ถือว่าเป็นการใส่ร้าย
3. มีการขมขู่ป้องปรามผู้ชุมนุม ชี้ให้เห็นว่าจะมีการก่อให้เกิดความรุนแรง การก่อจลาจล การจับตัวนายกฯ การอ้างว่าจะมีการเตรียมการใช้กฎหมายที่สูงกว่ากฎหมายความมั่นคง ตนไม่ทราบรัฐบาลเตรียมกฏหมายที่สูงกว่าคืออะไร เพราะฉะนั้นตนมองว่าการใช้กฎหมายความมั่นคงเป็นการใช้กฎหมายที่เกินกว่าเหตุ เพราะผู้ชุมนุมประกาศว่าจะชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ ตนวิตกกังวลว่ารัฐบาลจะเป็นผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงเองแล้วโยนบาปให้ผู้ชุมนุม
นายองอาจยังกล่าวถึงการอภิปรายไว้วางใจรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 25-27 พ.ย.นี้ ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมีแนวทางคือ อภิปรายตามบทบัญญัติ ข้อกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ อภิปรายบนพื้นฐานและข้อมูลหลักฐานและเหตุผลที่เป็นจริง เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล การอภิปรายจะกระชับตรงประเด็นมุ่งในเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ แต่ที่มีความวิตกคืออยากให้รัฐบาลยอมรับการตรวจสอบของฝ่ายค้านที่ทำงานตามปกติ
ส่วนที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.ออกมาเรียกร้องและยื่นหนังสื่อต่อรองประธานสภาฯ โดยเกรงว่าจะมีสถานการณ์ความวุ่นวายหากการชุมนุมของกลุ่ม อพส.ยืดเยื้อ พร้อมแนะให้ ส.ส. ใช้เอกสิทธิ์ไม่เข้าร่วมประชุมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ซึ่งจะทำให้การอภิปรายไม่สามารถเปิดประชุมได้ ซึ่งตนมองว่าอาจจะเป็นย่างก้าวหนึ่งที่จะทำให้ไม่มีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และเป็นการโยนหินถามทางของอดีต ส.ว.ท่านนี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีความพยายามที่จะทำให้การอภิปรายเป็นหมันมาแล้ว
“การที่อดีต ส.ว.อ้าง มาตรา 122 นั้น ผมเห็นว่าเป็นการให้เอกสิทธิ์ที่ให้ ส.ส.และ ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่ประชุมในสภา ไม่ใช่เป็นการให้เอกสิทธิ์ในการอ้างที่จะไม่เข้าร่วมประชุมสภา แต่มีการพยายามตีความในมาตราดังกล่าวให้เป็นประโยชน์กับรัฐบาล หาทางเลี่ยงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และอย่าหาหนทางใดๆ ในการยุติหรือยับยั้ง เพราะจะไม่มีความสง่างาม โดยเฉพาะตัวนายกฯ เองที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สง่างามในการเป็นนายกฯ และการปฏิบัติตนที่ไม่เหมาะสมแล้ว อย่าให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ให้ความสำคัญต่อสภาอีก จึงขอให้นายกฯ เข้าร่วมการอภิปราย”
allowTransparency="true">