xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” รับคำเชิญ “ปู” ถกแก้ใต้ ห่วงแนวคิดทหาร-ตำรวจเริ่มปีนเกลียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” พร้อมรับคำเชิญนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถกแก้ปัญหาภาคใต้ ห่วงแนวคิดทหาร-ตำรวจเริ่มปีนเกลียว หวั่นผู้ปฏิบัติเกิดความสับสน จี้ “ปู” แสดงภาวะผู้นำ ร่วมแก้ปัญหา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภา กล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เตรียมทำหนังสือเชิญ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ว่า ยังไม่ได้รับการประสานอย่างเป็นทางการ เห็นแต่จากข่าว แต่โดยหลักการไม่มีปัญหา เพราะการที่นายกฯ เชิญ ส.ส.ไปโดยไม่เดินทางไปสภาฯ เพื่อรับฟังญัตติเรื่องการแก้ปัญหาภาคใต้ ตนก็ไม่ติดใจ เพราะกรณีนี้รัฐบาลอาจคิดว่ามีความละเอียดอ่อน เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ที่พรรคยืนยันมาตลอดว่าพร้อมร่วมแก้ไข และเห็นว่านายกฯ ต้องมีบทบาทสำคัญเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหาร เนื่องจากขณะนี้มีปัญหา เพราะในขณะที่ทหาร มีการพูดคุยแต่ ร.ต.อ.เฉลิมกลับแสดงความเห็นเหมือนไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับเรื่องเงื่อนไขในการมอบตัว ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสน

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ดังนั้นนายกฯ จึงเป็นคนที่ต้องกำหนดนโยบายเพื่อหยุดความสับสน และต้องเชื่อมโยงว่า ในทางปฏิบัติข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องการมอบตัว จะเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงมาตรา 21 จึงต้องหารือกันให้ชัดเจน เพราะในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ กำลังพยายามเดินหน้าด้วยโครงสร้างเดิม แต่เป็นกังวลว่ามีโครงสร้างใหม่ที่มาซ้อนอยู่ เช่น ศปก.จชต. ทำให้เกิดความสับสนเพราะรองนายกฯ คนหนึ่งก็บอกว่า เรื่องที่ทหารทำเป็นเรื่องของทหาร แต่ ร.ต.อ.เฉลิมดูแลตำรวจและแสดงความไม่เห็นด้วย ทำให้เกิดความสับสน

ดังนั้น เมื่อได้พบกับนายกฯ ก็จะได้เสนอในหลายเรื่อง โดยเฉพาะโครงสร้างการบริหารจัดการ บทบาทของนายกฯ การกำหนดทิศทางให้ชัด รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขใหม่ ที่จะทำให้เกิดปัญหา โดยเห็นว่าควรจะยึด ศปก.จชต. เพราะถ้ายังมีอยู่ยิ่งจะทำให้เกิดความสับสน จึงควรให้โครงสร้างเดิมได้ทำงานอย่างเต็มที่จะดีกว่า ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็พยายามเสนอแนวทางการแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง อย่างไรก็ตามจะพยายามเสนอความเห็นเพื่อแก้ปัญหาต่อไป เพราะโครงสร้างที่มีอยู่มีการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นหากปฏิเสธก็ไม่ใช่การส่งสัญญาณที่ดี

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า แม้ว่าในครั้งนี้นายกฯ จะไม่มาสภา แต่ไม่อยากให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับระบบ เพราะนายกฯยังมีความรับผิดชอบต่อสภา ซึ่งเป็นหลักการสำคัญ ดังนั้นการที่ตนและส.ส. เดินทางไปหารือเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้นั้น ไม่ได้หมายความว่านายกฯจะใช้วิธีนี้ในทุกกรณี เพราะนายกฯ มีความรับผิดชอบต้องตอบกระทู้ในสภา และควรไปชี้แจงตอบคำถามด้วยตัวเอง ส่วนหลังจากพบกับนายกฯ แล้วจะเป็นที่จะต้องอภิปรายในญัตติที่เสนอค้างไว้ในสภาหรือไม่นั้น ก็ต้องรอดูผลการหารือร่วมกันก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น