xs
xsm
sm
md
lg

ตีกลับกู้ 1.5หมื่นล้าน ครม.ให้ 2 พันล้านแก้ปัญหายาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (28 ส.ค.)นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังประชุมครม. ว่า ที่ประชุมครม.ไม่อนุมัติกรอบวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้รักษาเสถียรภาพราคายาง แต่ให้ใช้วงเงินสินเชื่อเดิมที่ยังเหลืออยู่อีก 2 พันล้านบาทไปก่อน
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ไม่ได้ตั้งคณะทำงานในการแก้ปัญหาราคายางพาราเพิ่ม อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาราคายางพารานั้น จะใช้เงินที่เหลือจากโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางที่เหลืออยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาทนำมาแก้ปัญหา โดยให้กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงคมนาคมหารือเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ราคายางพารา นอกจากนี้ ให้ศึกษาในเรื่องมาตรการชะลอการส่งออกยาง ใน 3 ประเทศผู้ส่งออกยางพารา ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพื่อเป็นข้อมูลเตรียมการสำหรับการประชุมไตรภาคี 3 ประเทศผู้ส่งออก ยางพารา วันที่ 29 ส.ค.นี้ สำหรับงบประมาณ ในการแก้ปัญหาราคายางพาราจำเป็นต้องขออนุมัติเพิ่มเติมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะหารือกัน.

**2 พันล.รักษาเสถียรภาพราคายาง
น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติให้องค์การสวนยางกู้เงินจาก ธ.ก.ส.ในส่วนของสถาบันเกษตรกรจำนวน 2,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 เพื่อดำเนินการตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน และยกเว้นค่าธรรมเนียมในการค้ำประกัน หลังจากได้เบิกเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติไปก่อนหน้านี้จำนวน 10,000 ล้านบาทเต็มจำนวนแล้ว และเพื่อให้มีการดำเนินโครงการฯ เกิดความต่อเนื่อง
ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(ก.น.ย.) ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง โดยเร็วในการจัดทำรายละเอียดยุทธศาสตร์ ทั้งในด้านของการจัดระบบ สต๊อก ปริมาณการรับซื้อ และราคาที่เหมาะสม แล้วนำกลับมาเสนอที่ประชุม ครม.อีกครั้ง
ปัจจุบันมีสถาบันเกษตรสนใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 676 แห่ง ใน 52 จังหวัด ซึ่งได้รับการอนุมัติแล้ว 611 แห่ง และองค์การสวนยางได้เปิดจุดรับซื้อยางรวม 42 จุด โดยรับซื้อยางไปแล้ว 61,762 ตัน คงเหลือพื้นที่โกดังเก็บยางได้อีก 13,000 ตัน ซึ่งองค์การสวนยางได้หาสถานที่เก็บยางเพิ่มอีก 8,000 ตัน

**ชง 15,000 ล้าน รับซื้อยาง อังคารหน้า
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ชาวเกษตรกรที่ปลูกยางพาราทั้งประเทศ ขอให้มีความเชื่อมั่นและมั่นใจในนโยบายของรัฐบาลที่จะรับซื้อยางพาราเพื่อซื้อนำตลาด โดยเป้าหมายของราคายังอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนการกำหนดราคารับซื้อในแต่ละจุดเราจะให้ราคาที่ดึงดูดพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกยางพาราให้มากที่สุด ซึ่งงบประมาณ15,000 ล้านบาท ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอซื้อนำยางพารา ขณะนี้เหลืออยู่ 2,000 กว่าล้านบาท ซึ่งจะเดินหน้าในการรับซื้อต่อไป และจะไม่ล้มเลิก นอกจากนั้นได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวยยาง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะร่วมกันหายุทธศาสตร์ในการพัฒนาและยกระดับราคายางพารา รวมถึงการแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะขออนุมัติงบประมาณมาซื้อนำยางพาราในวงเงิน 15,000 ล้านบาท ในการประชุมครม.ครั้งหน้า วันอังคารที่ 4 ก.ย.
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการนโยบายยางพาราฯจะเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์หลักทั้งหมด คือ นำงบประมาณที่ได้มาซื้อนำตลาดเพิ่มหรือการระบายและการขายสินค้า เพราะประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียจะมีการทำข้อตกลงกับไทยทุกปี ว่าในแต่ละปีต้องการลดปริมาณการส่งออกเท่าไหร่ แต่ขณะนี้ทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงไทยได้ทำการขายสินค้ายางพาราสู่ตลาดเดียวกัน ดังนั้นจึงมีการตกลงกันว่าให้เก็บยางไว้ก่อน จากนั้นจะระบายอย่างไรค่อยว่ากัน รวมถึงการส่งเสริมการบริโภคยางภายในประเทศอย่างไร
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ทางด้านกระทรวงคมนาคม นำโดย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม ได้เสนอในที่ประชุมครม.วันนี้ว่า มีผลการศึกษาของกระทรวงคมนาคมร่วมกับกรมวิชาการเกษตร พบว่าสามารถนำยางพาราแปรรูปมาทำวัสดุที่สำคัญในการทำถนนได้ โดยเฉพาะถนนที่ใช้ในทางลาด โดยจะได้คุณภาพที่ดี แต่งบประมาณจะค่อนข้างสูงกว่ายางมะตอย
เรื่องของยางพาราเป็นเรื่องความต้องการของพี่น้องประชาชนและเป็นความเดือดร้อนของเกษตรกรจริง แต่ต้องยอมรับความจริงว่ามีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น กระบวนการในการรับซื้อยางของเกษตรกรเอง มีการซื้อดักหน้าโดยซื้อในราคาถูกและนำมาขายในราคาที่แพงกว่า โดยอาศัยช่องว่างและข้อเสีย เช่น จุดรับซื้อน้อย ระยะการเดินทางลำบาก หรือมีกระบวนการในการปั่นป่วนราคา โดยจะสังเกตได้ว่าเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีม็อบเรียกร้อง ในขณะที่เกษตรกรในภาคอื่น เช่น ภาคอีสานหรือจังหวัดบึงกาฬ ที่ปลูกยางเหมือนกันก็ไม่ได้มีปัญหา เพราะฉะนั้นจะเป็นปัญหาเรื่องการเมืองหรืออื่นใดก็ตามรัฐบาลก็พร้อมที่จะแก้ไข และในวันพฤหัสที่ 30 ส.ค. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ จะไปตอบกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎร์ ถึงเรื่องต่างๆเกี่ยวกับยางพาราที่ยังเป็นข้อกังขาของประชาชนและฝ่ายค้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น