xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” เมินขยายอายุแท็กซี่ ชี้ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ เตรียมถกร่วมพลังงาน 16 ส.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
“คมนาคม” ชี้อายุรถแท็กซี่ 9 ปีเหมาะสม ระบุปรับเป็น 12 ปีเจ้าของอู่ได้ประโยชน์และรถเก่าจะก่อมลพิษสูง ขณะที่ไม่เห็นด้วยให้รถเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1300 ซีซีเป็นแท็กซี่ เหตุเล็กเกินไป สั่ง ขบ.ทบทวนขนาด 1300-1500 ซีซีเพิ่มเติม พร้อมหารือทุกฝ่ายที่ ก.พลังงาน 16 ส.ค.นี้ เชื่อ 2 สัปดาห์สรุปได้ทุกประเด็น

จากกรณีที่นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานสหกรณ์รถแท็กซี่สยาม ในฐานะประธานกลุ่มเครือข่ายรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ยื่นหนังสือต่อนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คัดค้านนโยบายของกระทรวงคมนาคม ในการแก้ไขกฎกระทรวงให้รถแท็กซี่ที่มีเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1500 ซีซีสามารถจดทะเบียนเป็นรถแท็กซี่ได้ และขอขยายอายุรถแท็กซี่จากปัจจุบัน 9 ปี เป็น 12 ปี นั้น

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การขยายอายุจาก 9 ปีเป็น 12 ปีต้องพิจารณาว่าประโยชน์ไปอยู่ที่ใคร ซึ่งกระทรวงคมนาคมเห็นว่าทั้งประชาขนและคนขับแท็กซี่ไม่ได้ประโยชน์เพราะคนขับซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของรถ ดังนั้นประโยชน์จะไปอยู่ที่กลุ่มอู่เจ้าของรถ ขณะเดียวกัน เห็นว่าอายุ 9 ปีถือว่าเหมาะสมแล้ว เพราะการขยายอายุใช้งานออกไปจะทำให้เกิดมลพิษในอากาศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากรถแท็กซี่ต้องวิ่งตลอดเวลา ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมโดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักแล้ว

ทั้งนี้ ในปี 2544 ผู้ประกอบการแท็กซี่เคยขอขยายอายุการใช้งานรถแท็กซี่จาก 9 ปีเป็น 12 ปีแล้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ รถใหม่มีราคาสูง จึงมีการแก้กฎกระทรวงเพื่อให้มีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 12 ปี ต่อมาในปี 2548 กรมควบคุมมลพิษได้ศึกษาและพบว่ารถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่มิเตอร์) ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปจะมีอัตราการระบายมลพิษเกินกว่ามาตรฐานถึง 50% จึงได้มีการทบทวนอายุการใช้งานใหม่ และออกประกาศใช้บังคับกฎกระทรวงฉบับที่ 48 พ.ศ.2548 พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ให้รถแท็กซี่มิเตอร์มีอายุใช้งานไม่เกิน 9 ปีเหมือนเดิม บังคับใช้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2548

“อายุรถ 9 ปีจะมีความสัมพันธ์กับการกำหนดค่าเช่าและอัตราค่าโดยสารและปัญหามลพิษ ส่วนรถที่ใช้ก๊าซ LPG และ NGV เป็นเชื้อเพลิง ทาง ขบ.ได้จ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังศึกษา พบว่าการปล่อยมลพิษไม่ต่างจากน้ำมัน เพราะมีความร้อนสูงกว่าทำให้เกิดการสึกหรอ ที่ผ่านมานายวิฑูรย์ไม่เคยเข้ามาหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งกระทรวงพร้อมพิจารณาหากมีข้อเสนอเพิ่มเติม แต่ขอให้แท็กซี่ดูข้อมูลให้รอบด้านก่อนว่าเหมาะสมและเกิดประโยชน์กับคนขับรถและผู้โดยสารจริงหรือไม่” นายชัชชาติกล่าว

สำหรับข้อเสนอที่ต้องการให้ปรับลดขนาดเครื่องยนต์ให้ต่ำกว่า 1500 ซีซี เพื่อให้คนขับรถสามารถมีรถแท็กซี่เป็นของตัวเองได้ง่ายขึ้นนั้น เบื้องต้น ทาง ขบ.เห็นว่าหากเป็นรถเครื่องยนต์ขนาดต่ำกว่า 1300 ซีซี (อีโคคาร์) เป็นแท็กซี่ไม่เหมาะเพราะขนาดเล็กมาก ขณะที่ปัจจุบันกำหนดให้รถต้องมีเครื่องยนต์มากกว่า 1500 ซีซีขึ้นไป ดังนั้นจะมีการทบทวนเป็นขนาด 1300-1500 ซีซีเพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยต้องดูว่าจะทำให้มีปริมาณรถเพิ่มมากขึ้นหรือไม่

“หากปรับลดเครื่องยนต์ให้ต่ำเกินไปจะทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวก และไม่เป็นธรรม เพราะพื้นที่ภายในรถจะแคบมาก กระเป๋าหรือสัมภาระขนาดใหญ่อาจจะเข้าไม่ได้ ส่วนการจะนำมาตรการด้านภาษีมาช่วยจะไม่เกี่ยวกับมาตรการคืนภาษีตามนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล โดยจะต้องหารือกับกระทรวงการคลังว่าได้ประโยชน์คุ้มกับการชดเชยหรือไม่ แต่ยืนยันว่าจะไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์กับค่ายรถใดแน่นอน” นายชัชชาติกล่าว

อย่างไรก็ตาม เรื่องขนาดเครื่องยนต์รถแท็กซี่ การปรับเปลี่ยนจะต้องแก้ไขกฎกระทรวง 2 ฉบับ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ถึงจะแล้วเสร็จ จึงไม่สามารถซื้อรถแท็กซี่ได้ทันปีนี้แน่นอน ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะหาข้อสรุปเรื่องขนาดเครื่องยนต์ ภายใน 2 สัปดาห์นี้และในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ จะมีการหารือ ร่วมกับนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมกับรับฟังความเห็นของกลุ่มแท็กซี่อีกครั้งผู้ประกอบการรถแท็กซี่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่กระทรวงพลังงาน

ปัจจุบันมีรถแท็กซี่จดทะเบียนทั้งสิ้น 104,235 คัน แบ่งเป็น นิติบุคคล 113 ราย จำนวน 75,780 คัน บุคคลธรรมดา 28,455 ราย จำนวน 28,455 คัน

กำลังโหลดความคิดเห็น