xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” สกัดม็อบ “รถหรู-บิ๊กไบค์” หาทางแก้ปัญหาหมื่นรายค้างจดทะเบียนก่อนออกกฎคุมเลี่ยงภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
“คมนาคม”สั่งขบ.ประเมินผลกระทบก่อนออกกฎกระทรวงงดจดทะเบียนรถนำเข้าแยกชิ้นส่วนตัวถังรถเก๋ง-โครงมอเตอร์ไซด์ “ชัชชาติ”เตรียมนัดกลุ่มรถหรู-บิ๊กไบด์ หารือทางออก 1 ส.ค.นี้ ก่อนออกกฎคุมเลี่ยงภาษี ยันประกาศในปีนี้แน่ เหตุพบมีกว่า 10,000 คันยังค้างจดทะเบียนหวั่นกลายเป็นรถเถื่อนสวมทะเบียนปลอม

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ให้กระทรวงคมนาคมงดการรับจดทะเบียนรถที่ใช้ชิ้นส่วนและโครงรถยนต์ที่ประกอบดัดแปลงเป็นรถยนต์ใหม่ และเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ประชุมและมีมติให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ออกกฎกระทรวงงดการจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่นำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้แล้วเข้ามาประกอบในประเทศ (ยกเว้นรถยนต์ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์) โดยกฤษฎีกาอยู่ระหว่างตรวจร่างประกาศฯ นั้น ขณะนี้พบว่าหากประกาศกฎกระทรวงทันทีในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อรถกว่า 10,000 คันที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนมาแล้วแต่ยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการเสียภาษีสรรพสามิต ตรวจสภาพสานักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และจดทะเบียนกับ ขบ.โดยจะกลายเป็นรถผิดกฎหมายทันที ดังนั้นจึงสั่งการให้ ขบ.ศึกษาผลกระทบ รวมถึงแนวทางแก้ปัญหา และจะหารือกับผู้นำเข้าในวันที่ 1 สิงหาคมนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 ขบ.ได้ยกร่างกฎกระทรวงส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา โดยกำหนดรถที่งดรับจดทะเบียนรวม 4 ประเภท คือ 1. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง) 2. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้) 3. รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถปิกอัพ) 4. รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (มอเตอร์ไซค์) โดยกำหนดระยะเวลาให้ผู้ที่ประกอบรถไว้ก่อนแล้วสามารถนำรถมาจดทะเบียนได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ โดยคาดว่ากฎกระทรวงจะออกประกาศได้ภายในปี 2555

กรมขนส่งฯ มีหน้าที่รับจดทะเบียน เมื่อประกาศกฎกระทรวงออกไปครบ30 วันหยุดรับจดทะเบียน ซึ่งจะกระทบกลุ่มที่นำเข้าชิ้นส่วนมาแล้วแต่ยังค้างการจดทะเบียน โดยเป็นรถจักรยานยนต์ 10,000 คัน รถเก๋งและกระบะอีก 2,000 คัน ซึ่งมีข่าวว่าจะปิดถนนประท้วงเพราะหลังออกกฎกระทรวงรถเหล่านี้จะกลายเป็นรถเถื่อนหรืออาจจะมีการนำป้ายทะเบียนปลอมมาติด กระทรวงคมนาคมถือเป็นปลายน้ำ จึงต้องพิจารณาผลกระทบและหาทางแก้ไขก่อนที่จะงดรับจดทะเบียนเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด โดยในช่วงนี้ให้ผู้ที่นำเข้ามาแล้วเร่งดำเนินการเสียภาษี จดทะเบียนให้เรียบร้อย เพราะ ขบ.ยังรับจดทะเบียนอยู่ ส่วนกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นต้นน้ำ ได้ออกประกาศให้ตัวถังของรถยนต์นั่ง และโครงรถจักรยานยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าตั้งแต่ 27 มิถุนายน 2555 ช่วยปิดช่องทางการเพิ่มรถเข้ามาในระบบแล้ว” นายชัชชาติกล่าว

โดยการจดทะเบียนรถจดประกอบ มี 4 ขั้นตอนหลังนำเข้าชิ้นส่วน คือ 1. เสียภาษีศุลกากร ตัวถัง 80% ชิ้นส่วนอื่นๆ 30% 2. ขั้นตอนประกอบรถยนต์จะต้องเสียภาษีสรรพสามิต ส่วนต่างของชิ้นส่วน และราคาเมื่อประกอบแล้ว 3. ขั้นตอนตรวจสภาพ (สมอ.) โดยเสียค่าบริการ 35,000 บาทต่อคัน รถมอเตอร์ไซค์ รถเก๋ง และรถกระบะ (1 ตัน) ยกเว้นรถใช้ก๊าซ CNG LPG ขีดความสามารถ ตรวจสอบมลพิษ โดยสถาบันยานยนต์ และกรมควบคุมมลพิษ มีข้อจำกัดในการตรวจสภาพรถเก๋งได้วันละ 4 คัน รถจักรยานยนต์วันละ 16 คันเท่านั้น 4. ขั้นตอนการจดทะเบียนโดย ขบ.

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ต้องออกกฎกระทรวงดังกล่าวเพราะการนำเข้าโครงและชิ้นส่วนรถยนต์มาประกอบในประเทศมีการเลี่ยงภาษี เนื่องจากเป็นการนำรถยนต์เก่าที่ใช้แล้วจากต่างประเทศมาถอดแยกชิ้นส่วนออกเพื่อให้อยู่ในรูปแบบของอะไหล่รถยนต์และนำเข้าผ่านพิธีการศุลกากร ซึ่งจะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0-30 (หากนำเข้ารถใหม่ทั้งคัน เสียภาษีในอัตราร้อยละ 200) และมีผู้นำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลบางส่วนหลีกเลี่ยงไม่นำรถไปตรวจสภาพกับ สมอ.โดยนำรถไปติดตั้งก๊าซ NGV แบบชั่วคราว เพื่อให้เหมือนว่าเป็นรถใช้พลังงานทดแทนที่เลี่ยงขั้นตอนนี้ได้ ซึ่งทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ปีละ 8,000-9,000 ล้านบาท และยังส่งผลกระทบทำให้เกิดมลพิษ เป็นการทำลายอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ และเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคอีกด้วย โดย สถิติการจดทะเบียนรถที่ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนอุปกรณ์รถเก่าปี 2553 มีจำนวน 6,239 คัน และปี 2554 มีจำนวน 8,506 คัน



กำลังโหลดความคิดเห็น