"ศุลกากร" จับมือ "ป.ป.ท." เตรียมเชือดธุรกิจนำเข้ารถยนต์มือ 2 เลี่ยงภาษี โดยใช้สิทธินักเรียนไทยในต่างแดน ยอมรับ มีการทำเป็นขบวนการ และมีการปลอมแปลงใบอนุญาตจากพาณิชย์
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงความคืบหน้าในการดูแลรถยนต์นำเข้าเลี่ยงภาษี โดยระบุว่า กรมได้ร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกรมการขนส่งทางบกในการเข้มงวดและหาแนวทางป้องกันการนำเข้ารถยนต์มือ 2 ทั้งคัน โดยใช้สิทธินักเรียนไทยในต่างประเทศ หลังจากพบว่า มีการปลอมแปลงใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์เป็นจำนวนมาก
“ตอนนี้ได้มีการประสานงานกับ ป.ป.ท และกรมการขนส่งทางบก ในการเข้มงวดในส่วนนี้ให้มากขึ้น เพราะพบว่ามีการดำเนินการกันเป็นขบวนการ ซึ่งมีคนที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมายทำความผิด โดยที่ในปีงบ 2554 ที่ผ่านมา กรมสามารถจัดเก็บภาษีรถยนต์ได้ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน จะต้องมีการเสียภาษีศุลกากรประมาณ 80% แต่ถ้านำเข้าเป็นชิ้นส่วนรถยนต์หรืออะไหล่รถยนต์จะเสียภาษีเพียง 20-40% จึงทำให้เกิดการซิกแซกในการเสียภาษีดังกล่าว โดยถ้าไม่มีการดำเนินการป้องกันในส่วนนี้ ก็อาจกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของกรมได้”
นอกจากนี้ กรมยังอยู่ระหว่างรอให้กรมขนส่งทางบกออกประกาศเกี่ยวกับกฎหมายการห้ามจดทะเบียนรถยนต์จดประกอบ หลังจากที่ได้มีการหารือกันระหว่างคลัง คมนาคม และพาณิชย์ ซึ่งได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าจะไม่รับจดทะเบียนรถยนต์จดประกอบ ซึ่งในส่วนนี้ กรมการขนส่งทางบกจะต้องเร่งดำเนินการประกาศออกมาเป็นกฎกระทรวงภายใน 30 วัน หลังมีข้อสรุปดังกล่าว
ทั้งนี้ ข้อสรุปที่ได้คือจะไม่มีการรับจดทะเบียนรถยนต์ประเภทนี้ โดยในส่วนการดำเนินงานของกรมคือ ต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นว่ามีการสำแดงการนำเข้าเป็นอะไร เช่น ถ้าสำแดงเป็นอะไหล่รถยนต์ ก็ต้องไปดูว่าสินค้านั้นตรงตามที่สำแดงหรือไม่ โดยตามสถิติในอดีตที่ผ่านมา มีการนำเข้าโครงรถยนต์ ในระดับ 1 พันคันต่อเดือน แต่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา การนำเข้าในส่วนนี้ลดลงเหลือระดับ 100 คันต่อเดือนเท่านั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่สรรพสามิตประกาศอัตราภาษีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ประกอบชิ้นส่วนนำเข้าเพิ่มขึ้น ทำให้ราคารถยนต์จดประกอบแพงขึ้นตามไปด้วย