กระทรวงเกษตรฯ ผลาญงบฯแก้ปัญหายางพาราไปแล้ว 15,000 ล้านราคายังดิ่งเหว เตรียมขออนุมัติ ครม.เพิ่มอีก 15,000 ล้าน เข้าแทรกแซงตลาด พร้อมยาหอมให้มั่นใจจะทำให้ราคาอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ชาวเกษตรกรที่ปลูกยางพาราทั้งประเทศ ขอให้มีความเชื่อมั่นและมั่นใจในนโยบายของรัฐบาลที่จะรับซื้อยางพาราเพื่อซื้อนำตลาด โดยเป้าหมายของราคายังอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนการกำหนดราคารับซื้อในแต่ละจุดเราจะให้ราคาที่ดึงดูดพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกยางพาราให้มากที่สุด ซึ่งงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอซื้อน้ำยางพารา ขณะนี้เหลืออยู่ 2,000 กว่าล้านบาท ซึ่งจะเดินหน้าในการรับซื้อต่อไป และจะไม่ล้มเลิก
นอกจากนั้นได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวยยาง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะร่วมกันหายุทธศาสตร์ในการพัฒนาและยกระดับราคายางพารา รวมถึงการแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะขออนุมัติงบประมาณมาซื้อนำยางพาราในวงเงิน 15,000 ล้านบาท ในการประชุม ครม.ครั้งหน้า วันอังคารที่ 4 ก.ย.
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายยางพาราฯจะเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์หลักทั้งหมด คือ นำงบประมาณที่ได้มาซื้อนำตลาดเพิ่มหรือการระบายและการขายสินค้า เพราะ
ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียจะมีการทำข้อตกลงกับไทยทุกปี ว่าในแต่ละปีต้องการลดปริมาณการส่งออกเท่าไหร่ แต่ขณะนี้ทั้ง 2 ประเทศรวมถึงไทยได้ทำการขายสินค้ายางพาราสู่ตลาดเดียวกัน ดังนั้นจึงมีการตกลงกันว่าให้เก็บยางไว้ก่อน จากนั้นจะระบายอย่างไรค่อยว่ากัน รวมถึงการส่งเสริมการบริโภคยางภายในประเทศอย่างไร
นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า ทางด้านกระทรวงคมนาคม นำโดยนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม ได้เสนอในที่ประชุม ครม.วันนี้ว่า มีผลการศึกษาของกระทรวงคมนาคมร่วมกับกรมวิชาการเกษตร พบว่าสามารถนำยางพาราแปรรูปมาทำวัสดุที่สำคัญในการทำถนนได้ โดยเฉพาะถนนที่ใช้ในทางลาด โดยจะได้คุณภาพที่ดี แต่งบประมาณจะค่อนข้างสูงกว่ายางมะตอย
นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า เรื่องของยางพาราเป็นเรื่องความต้องการของพี่น้องประชาชนและเป็นความเดือดร้อนของเกษตรกรจริง แต่ต้องยอมรับความจริงว่ามีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น กระบวนการในการรับซื้อยางของเกษตรกรเอง มีการซื้อดักหน้าโดยซื้อในราคาถูกและนำมาขายในราคาที่แพงกว่า โดยอาศัยช่องว่างและข้อเสีย เช่น จุดรับซื้อน้อย ระยะการเดินทางลำบาก หรือมีกระบวนการในการปั่นป่วนราคา โดยจะสังเกตได้ว่าเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีม็อบเรียกร้อง ในขณะที่เกษตรกรในภาคอื่น เช่น ภาคอีสาน หรือจังหวัดบึงกาฬ ที่ปลูกยางเหมือนกันก็ไม่ได้มีปัญหา เพราะฉะนั้นจะเป็นปัญหาเรื่องการเมืองหรืออื่นใดก็ตามรัฐบาลก็พร้อมที่จะแก้ไข และในวันพฤหัสที่ 30 ส.ค. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ จะไปตอบกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎร ถึงเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับยางพาราที่ยังเป็นข้อกังขาของประชาชนและฝ่ายค้าน