xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งศปก.จชต.ยังไม่ลงตัว ชง"ดาว์พงษ์"นั่งเลขาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 14.00 น.วานนี้ ( 23ส.ค. ) ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ที่มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง เป็นประธาน
พล.ต.ดิฏฐพร ศศะมิตร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แถลงภายหลังการประชุมว่า มีการหารือทั้งหมด 4 เรื่อง ประกอบด้วย
1. เรื่องโครงสร้างของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) ที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งโครงสร้างดังกล่าว ยังต้องมีข้อการแก้ไขในบางส่วน โดยหลังจากมีการปรับแล้วจะนำส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในโครงสร้าง และร่างคำสั่งดังกล่าวอีกครั้ง โดยในสัปดาห์หน้าจะถึงมือนายกรัฐมนตรี เพื่อลงนาม
2. เรื่องชาวมุสลิมกัมพูชาที่เข้ามาในประเทศ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ไปตรวจสอบข้อมูลมาพบว่า เบื้องต้นมีชาวมุสลิมกัมพูชาเข้ามาทางด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.สระแก้ว ประมาณวันละ 1,000 คน โดยส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อหางานทำ บางส่วนเดินทางเข้ามาเพื่อผ่านไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อพบปะแรงงานชาวกัมพูชา และหางานทำจึงยังไม่มีข้อมูลเรื่องที่จะกลับเข้ามาทางเดิม และบางส่วนก็เข้ามาเพื่อประกอบกิจทางศาสนา อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีความล่อแหลมที่จะเข้ามาก่อเหตุในประเทศไทย แต่ทางหน่วยงานด้านความมั่นคงก็ยังต้องติดตามรวบรวมข้อมูลอยู่
3. เรื่องเหตุร้ายรายวันในช่วงที่ผ่านมา ขอยืนยันว่าหน่วยงานในพื้นที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่ และพยายามกวดขัน กดดัน และแก้ไขในการที่จะลดเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะเร่งรัดการพัฒนาเรื่องความมั่นคงด้านอาชีพ เพื่อลดความเสี่ยงที่บุคคลจะเข้าไปร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบ ขณะที่มาตรการเชิงรุก ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังคงปรับแก้วิธีการและป้องกันการก่อเหตุ
4. เรื่องโครงสร้างศปก.จชต. ที่มีความกังวลว่า หากมีการจัดตั้งแล้วจะเกิดความขัดแย้งในพื้นที่หรือไม่ นั้น ขอยืนยันว่า หลังจากปรับแก้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายกฯจะได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าจะมีจุดใดที่จะมีปัญหาต่อหน่วยงานในพื้นที่หรือไม่ ถ้านายกฯพิจารณาว่าสามารถทำงานร่วมกันได้ ก็จะพิจารณาลงนามอนุมัติให้คำสั่งนี้สามารถทำงานได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการดูแลเรื่องของการเฝ้าระวังพื้นที่ของเอกชนหรือไม่ โฆษกกอ.รมน. กล่าวว่า การดูแลพื้นที่ของหน่วยงาน และเอกชนต่างๆ ผู้ที่จะรู้เรื่องดีก็คือเจ้าของหน่วยงาน หรือองค์กรนั้น ซึ่งจะรู้ว่ามีความจำเป็นจะต้องดูแลในส่วนของหน่วยงาน หรือองค์กรตนเองอย่างไร แต่หากมีความไม่ไว้วางใจ หรือความเสี่ยงที่เกิดอันตรายเบื้องต้นจะต้องปรึกษากับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เรื่องการรักษาความปลอดภัย หรือหากมีความล่อแหลม จะเกิดเหตุก็อาจจะร้องขอให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่ ให้เข้ามาดูแลหน่วยงานได้
เมื่อถามว่า มีการวิเคราะห์หรือไม่ว่า เหตุใดระยะหลังเกิดเหตุในพื้นที่ของเอกชนบ่อยครั้ง โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า การก่อเหตุร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายปัจจัยที่ละเลยไม่ได้ เช่น กลุ่มที่พยายามจะแบ่งแยกดินแดน กลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ กลุ่มลักลอบค้าของเถื่อนในพื้นที่ และเรื่องยาเสพติด ซึ่งกลุ่มเหล่านี้พยายามสร้างเหตุให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถที่จะดูแลพื้นที่ได้ หรือพยายามกดดันให้เจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ในพื้นที่ของตัวเอง
เมื่อถามถึงกรณีที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ไม่พอใจที่ทางการไทยไปขอข้อมูลเรื่องชาวมุสลิมกัมพูชา ที่เข้ามาในประเทศไทย โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า คงไม่ใช่อย่างนั้น อาจเกิดจากความไม่ได้อธิบายให้ครบถ้วน แต่ทั้งนี้ การที่ชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยนั้น ทางเราจะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฉะนั้น การตรวจสอบที่มาที่มาก็มีความจำเป็น

ในวันเดียวกันนี้ มีการประชุมสภากลาโหม โดยมี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมว่า มีการหารือถึงความสำคัญ บทบาท หน้าที่ ของ ศปก. จชต. ซึ่งมีโครงสร้างประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
1. การบังคับบัญชา โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็น ผอ.ศปก.จชต. และมีรอง ผอ.ศปก. 3 ท่าน คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม
2. สำนักงานเลขานุการ ศปก.จชต. จะทำหน้าที่ในด้านการอำนวยการประชาสัมพันธ์งาน และโครงการต่างๆรวมถึงการแจ้งข่าวสารให้ประชาชนรับทราบ
3.ส่วนติดตามและประเมินผลในส่วนงานด้านการข่าวทั้งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพไทย เหล่าทัพ และ กอ.รมน. เข้าด้วยกัน พร้อมทั้งทำความเข้าใจ บูรณาการข่าวสารก่อนจะส่งไปให้นายกรัฐมนตรี และ กระทรวงต่างๆอีก 17 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง
4. การขับเคลื่อน และการประเมินผล โดยจะทำหน้าที่ติดตามในส่วนกระทรวงต่างๆ ที่มีงบประมาณในการแก้ปัญหาภาคใต้ การปฎิบัติงานที่ไม่ปะติดปะต่อ จะทำให้ทั้ง 17 กระทรวง เข้าใจถึงสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชน
สำหรับการปฎิบัติงานในพื้นที่ ในส่วนของกองทัพบก และกอ.รมน.ได้จัดงานแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม เพื่อให้ง่ายต่อการปฎิบัติงาน คือ
1.การรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน 2.งานยุติธรรม 3.การสร้างคุณภาพชีวิต และโครงสร้างพื้นฐาน 4. ด้านสิทธิมนุษยชน 5. การหาทางออกเมื่อเกิดความขัดแย้งในพื้นที่
โดยทาง กอ.รมน. จะนำแผนงานและกรอบการทำงานดังกล่าว เตรียมให้นายกรัฐมนตรีลงนามในวันที่ 24 ส.ค.นี้ เพื่อนำไปใช้งานต่อไปรวมถึงการปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมใน 5 รูปแบบ เช่น การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ก็จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยเพิ่มเติม รวมไปถึงรับอาสาสมัครตำรวจเข้ามา อย่างไรก็ตามการจัดตั้ง ศปก.จชต. ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น หากโครงสร้างเสร็จสมบูรณ์ และสามารถขับเคลื่อนได้ จะช่วยคลี่คลายปัญหาในพื้นที่และมั่นใจว่าจะสามารถนำงาน และโครงการต่างๆ ไปสู่การปฎิบัติในพื้นที่ได้
ทั้งนี้ พล.อ.อ.สุกำพล ได้เน้นย้ำให้หน่วยขึ้นตรงของกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ นำผลงานที่ได้จากการวิจัยทางทหารไปปฎิบัติในพื้นที่ และให้กำลังพลได้ใช้ประโยชน์ โดยที่ผ่านมามีงานวิจัย 30 รายการ แต่ที่จะนำมาใช้งานคือ 1.ชุดเสื้อเกราะ 2. อุปกรณ์เก็บกู้ตะปูเรือใบ 3. ยางรถยนต์ป้องกันการโปรยตะปูเรือใบ 4. เครื่องมือการตรวจบัตรประชาชน หรือ สมาร์ทการ์ด เพื่อลดขั้นตอนในการตรวจสอบ

** เสนอ"ดาว์พงษ์"เป็นเลขาฯศปก.จชต.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการบรรยายสรุปของ กอ.รมน.เกี่ยวกับการจัดตั้ง ศปก.จชต. ต่อที่ประชุมสภากลาโหมนั้น ในส่วนของสำนักงานเลขานุการ ศปก.จชต.ได้มีการเสนอชื่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผบ.ทบ. เป็นเลขานุการ โดยมีผู้แทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกอ.รมน. เป็นรองเลขานุการ
สำหรับลักษณะการปฏิบัติงานเป็นการปฏิบัติงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี โดยผอ.ศปก.จชต. มีอำนาจในการอำนวยการ สั่งการ และประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งปฏิบัติงานเป็น 2 ระดับ คือ 1. ระดับปกติ คือ ห้วงเวลาที่สถานการณ์ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบวงกว้าง ปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง เฉพาะส่วนบังคับบัญชา สำนักงานเลขานุการฯและส่วนข่าวตติดตามสถานการณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรวม 37 อัตรา 2.ระดับไม่ปกติ คือ ห้วงเวลาที่สถานการณ์ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพสังคม จิตวิทยา และความเชื่อมั่นในวงกว้าง โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่เกินตามอัตราเต็มของศปก.จชต.จำนวน 85 อัตรา ซี่งการปฏิบัติงานของศปก.จชต.จะเป็นการปฏิบัติลักษณะ Current Plan ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิม และเป็นการสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่มีอยุ่เดิมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

**"บิ๊กเหวียง"แนะศูนย์ฯ ควรเป็นหนึ่งเดียว

พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีต ผบ.ทบ. กล่าวถึงการตั้ง ศปก.จชต.ว่า ตนมีแนวความคิดว่า จะต้องมีศูนย์ปฏิบัติการทางยุทธวิธีเพียงศูนย์เดียวเท่านั้น ไม่ควรจะมีการแตกไปไหน ส่วนของกองทัพบก นาวิกโยธิน กองทัพเรือ ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่ายพลเรือน ต้องเป็นหนึ่งเดียว และมีศูนย์เดียว
" สมมติว่าให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็น ผอ.ในการปราบปราม และเชิญผู้แทนมาจากตำรวจ และ ผู้ว่าฯ โดยทุกเช้าจะต้องเรียกมาสรุปสถานการณ์ ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ถ้าทุกคนแสดงความรับผิดชอบ สถานการณ์ก็คงจะดีขึ้น ผู้ที่ก่อความไม่สงบไม่ใช่กองทัพที่มีประสิทธิภาพอะไรมากมายขนาดนั้น เป็นเพียงชาวบ้าน เช่น กลุ่มอาร์เคเค ก็เป็นคนที่อยู่ในบ้าน หัวใจคนมีอันเดียว จึงต้องมีศูนย์ปฏิบัติการจริงๆ เพียงศูนย์เดียว และร่วมมือร่วมใจกัน เป็นเรื่องของบ้านเมืองที่ทุกคนต้องทำตามหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามหลักการ เขาเรียกว่าหลักนิยมทางยุทธวิธีที่มีอยู่แล้ว ถ้าใช้กำลังกองทัพบกเป็นส่วนใหญ่ ก็ต้องให้กองทัพบกเป็นผู้บังคับบัญชา โดยมีกองทัพเรือ ตำรวจ และผู้ว่าฯ สนับสนุน ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จบ เรื่องรายละเอียดใครๆก็รู้ เรื่องที่มาของการข่าวก็สมบูรณ์ แต่เราแตกกันไปคนละทาง ขณะนี้มีหลายศูนย์ปฏิบัติการฯ ผมเข้าใจว่า สังคมไทยเป็นอย่างนี้ เราไม่ค่อยยอมกัน อยากจะมีหน้ามีตากัน จึงเกิดปัญหา สมัยก่อนแม่ทัพภาคที่ 4 สั่งคนเดียวจบ ทุกอย่างก็ดีขึ้น ทุกคนต้องยอม เมื่อเขาเป็นใหญ่ก็ต้องมีสิทธิ์ หากใครไม่ให้ความร่วมมือ หรือทำงานไม่เต็มที่เขามีสิทธิ์รายงานผู้บังคับบัญชาให้ย้ายได้ ต้องให้อำนาจอยู่ที่คนๆเดียว ทุกอย่างต้องว่าตามหลักเกณฑ์ แต่บ้านเราทำไม่ได้ คนหนึ่งไปอย่าง อีกคนหนึ่งไปอย่าง คือเรื่องมันไม่ยาก แต่เราไปทำให้มันยาก เพราะตัวเราสับสน ความจริงเป็นเรื่องง่าย ว่ากันจริงๆ เขาไม่มีขีดความสามารถอะไรเลย ถ้าตรงนี้เรายังป้องกันไม่ได้ เราจะป้องกันประเทศได้อย่างไร ทั้งนี้ต้องให้กองทัพ ตำรวจ พลเรือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีผู้บังคับบัญชาคนเดียวสั่งการ ส่วนจะเป็นใครก็ได้ทั้งนั้น ไม่มีปัญหา สำหรับการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) ที่มีพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานมาถูกทางแล้ว แต่ในการปฏิบัติยังไม่ใช่ " พล.อ.เชษฐา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น