xs
xsm
sm
md
lg

ประชุม กปต.เคาะโครงสร้าง ศปก.จชต.แก้ไฟใต้ไม่ลงตัว-สตช.ยันไม่พบ “มุสลิมเขมร” เชื่อมโยงใจรใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง (ภาพจากแฟ้ม)
โฆษก กอ.รมน.เผยการประชุม กปต.ยังเคาะโครงสร้าง ศปก.จชต.ไม่ลงตัว แต่ยืนยันสัปดาห์หน้าส่งให้นายกฯ ลงนามคำสั่งได้ ด้าน สตช.เผยตัวเลขมุสลิมเขมร เข้ามาวันละ 1,000 คน ส่วนใหญ่มาหางานทำ ประกอบศาสนกิจ ยังไม่พบเชื่อมโยงขบวนการก่อความไม่สงบ ขณะที่เหตุร้ายรายวันที่เกิดกับภาคเอกชนน่าจะมาจากพวกเสียผลประโยชน์

วันนี้ (23 ส.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ที่มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง เป็นประธาน โดย พล.ต.ดิฏฐพร ศศะมิตร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แถลงภายหลังการประชุมว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมในส่วนของการข่าว โดยมีทั้งหมด 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.เรื่องโครงสร้างของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) ที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งโครงสร้างดังงกล่าวยังต้องมีข้อการแก้ไขในบางส่วน โดยหลังจากมีการปรับแล้วจะนำส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในโครงสร้างและร่างคำสั่งดังกล่าวอีกครั้ง โดยในสัปดาห์หน้าจะถึงมือของนายกรัฐมนตรี

2.เรื่องชาวมุสลิมกัมพูชาที่เข้ามาในประเทศ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ไปตรวจสอบข้อมูลมา พบว่า เบื้องต้นมีชาวมุสลิมกัมพูชาเข้ามาทางด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.สระแก้ว ประมาณวันละ 1,000 คน โดยส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อหางานและใช้แรงงาน บางส่วนเดินทางเข้ามาเพื่อผ่านไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อพบปะแรงงานชาวกัมพูชาและหางานทำ จึงยังไม่มีข้อมูลเรื่องที่จะกลับเข้ามาทางเดิม และบางส่วนก็เข้ามาเพื่อประกอบกิจทางศาสนา อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบแล้วขณะนี้ยังไม่มีความล่อแหลมที่จะเข้ามาก่อเหตุในประเทศไทย แต่ทางหน่วยงานด้านความมั่นคงก็ยังต้องติดตามรวบรวมข้อมูลอยู่

พล.ต.ดิษฎพร กล่าวว่า 3.เรื่องเหตุร้ายรายวันในช่วงที่ผ่านมา เราขอยืนยันว่า หน่วยงานในพื้นที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่และพยายามกวดขัน กดดัน และแก้ไขในการที่จะลดเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะเร่งรัดการพัฒนาเรื่องความมั่นคงด้านอาชีพเพื่อลดความเสี่ยงที่บุคคลจะเข้าไปร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบ ขณะที่มาตรการเชิงรุก ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังคงปรับแก้วิธีการและป้องกันการก่อเหตุ และ 4.เรื่องโครงสร้าง ศปก.จชต.ที่มีความกังวลว่าหากมีการจัดตั้งแล้วจะเกิดความขัดแย้งในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งขอยืนยันว่า หลังจากปรับแก้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายกฯจะได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ว่า จะมีจุดใดที่จะมีปัญหาต่อหน่วยงานในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งถ้านายกฯพิจารณาว่าสามารถทำงานร่วมกันได้ก็จะพิจารณาลงนามอนุมัติให้คำสั่งนี้สามารถทำงานได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการดูแลเรื่องของการเฝ้าระวังพื้นที่ของเอกชนหรือไม่ โฆษก กอ.รมน.กล่าวว่า การดูแลพื้นที่ของหน่วยงานและเอกชนต่างๆ ผู้ที่จะรู้เรื่องดีก็คือเจ้าของหน่วยงานหรือองค์กรนั้น ซึ่งจะรู้ว่ามีความจำเป็นจะต้องดูแลในส่วนของหน่วยงานหรือองค์กรตนเองอย่างไร แต่หากมีความไม่ไว้วางใจหรือความเสี่ยงที่เกิดอันตรายเบื้องต้นจะต้องปรึกษากับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เรื่องการรักษาความปลอดภัยหรือหากมีความล่อแหลมจะเกิดเหตุก็อาจจะร้องขอให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่ให้เข้ามาดูแลหน่วยงานได้

เมื่อถามว่า มีการวิเคราะห์หรือไม่ว่าเหตุใดระยะหลังเกิดเหตุในพื้นที่ของเอกชนบ่อยครั้ง โฆษก กอ.รมน.กล่าวว่า การก่อเหตุร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายปัจจัยที่ละเลยไม่ได้ เช่น กลุ่มที่พยายามจะแบ่งแยกดินแดน กลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ กลุ่มลักลอบค้าของเถื่อนในพื้นที่ และเรื่องยาเสพติด ซึ่งกลุ่มเหล่านี้พยายามสร้างเหตุให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถที่จะดูแลพื้นที่ได้หรือพยายามกดดันให้เจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ในพื้นที่ของตัวเอง

เมื่อถามถึงกรณีที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ไม่พอใจที่ทางการไทยไปขอข้อมูลเรื่องชาวมุสลิมกัมพูชาที่เข้ามาในประเทศไทย โฆษก กอ.รมน.กล่าวว่า คงไม่ใช่อย่างนั้น อาจเกิดจากความไม่ได้อธิบายให้ครบถ้วน แต่ทั้งนี้ การที่ชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยนั้นทางเราจะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฉะนั้น การตรวจสอบที่มาก็มีความจำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น