ASTVผู้จัดการรายวัน - “บิ๊กอ๊อด” จี้ ตม.เร่งตรวจสอบ หลังพบ “มุสลิมเขมร” ทะลักเข้าพื้นที่ภาคใต้วันละกว่าพันคน หวั่นร่วมโจรใต้ ยืนยันตั้ง ศปก.จชต.ดับไฟใต้ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เดินหน้าประชุมดับไฟใต้ ประเมินสถานการหลังเดือนรอนฎอน พร้อมเข้มด้านการข่าว "กรุงเทพโพลล์" เปิดผลสำรวจชี้ชัด 1 ปีรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ไม่จริงใจดับไฟใต้
วานนี้ (20 ส.ค.) พล.อยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กล่าวถึงการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้ติดขัดอะไร แต่ก็ต้องตรวจดูความเรียบร้อยว่า ถูกต้องหรือไม่ และดูอำนาจหน้าที่ของหน่วยนี้ว่า จะมีความซ้ำซ้อน มีปัญหากับหน่วยงานอื่นที่ตั้งไว้แล้วหรือไม่
ส่วนกรณีที่สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ศปก.จชต.และหากรัฐบาลยังไม่ฟังเสียงทักท้วงก็จะลาออกทั้งคณะนั้น เห็นว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน แต่หากพูดคุยและอธิบายและทางสภาที่ปรึกษาเห็นว่าหน่วยที่จัดตั้งขึ้นมามีภารกิจหน้าที่อะไรก็คงจะไม่มีปัญหา แต่เรื่องนี้คงเป็นแค่การประมาณการว่างานจะเป็นรูปแบบใด เพราะแม้แต่ตนก็ยังไม่เห็นว่ารูปแบบเป็นอย่างใดและปรับแก้ในฐานะเจ้าหน้าที่ อย่างไร ซึ่งเมื่อปรับแก้เสร็จก็จะพูดถึงหน้าที่ว่าจะต้องปรับแก้อย่างไร
"หน่วยนี้ไม่ได้ซ้ำซ้อน แต่จะเป็นหน่วยงานที่ช่วยเขาอีกชั้นหนึ่ง ทั้งเรื่อง ศอ.บต.ช่วยงานของคณะที่ปรึกษา อะไรที่ติดขัด เราจะเป็นไม้เป็นมือให้ ฉะนั้น เราต้องดูความเรียบร้อยในเรื่องของกฎหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความพอใจ ก็ต้องรออีกสักพักหนึ่ง แต่ก็มีบางหน่วยที่ทำงานไปแล้ว เช่น ส่วนของการข่าว"
พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันก็ต้องมีการฟังเสียงของคนในพื้นที่ด้วย เมื่อภาพของการจัดตั้งออกมาแล้วก็จะต้องรู้ว่าเกิดประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่ทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ มีความซ้ำซ้อน หรือทำให้การทำงานมีความล่าช้า ก็ต้องปรับปรุงแก้ไข แต่สิ่งที่พบคืองานของกระทรวงล่าช้า จึงต้องจัดกลุ่มงานเพื่อประสานงานช่วยกันผลักดันในการที่จะให้แต่ละกระทรวง ทำงานได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตามที่ของบประมาณไว้และหากทุกกระทรวงทำงานเต็มที่ ศอ.บต.ทำงานพัฒนา ประชาชนก็จะมีความสุข และสบายใจมากขึ้นก็จะมีการปรับหน่วยงานความมั่นคงออกจากพื้นที่และมอบให้กับเจ้าหน้าที่ดูที่แลการพัฒนาต่อไป
**ปูด“มุสลิมเขมร”เข้าพื้นที่วันละพัน
เมื่อถามถึงสถานการณ์ความไม่สงบหลังเดือนรอมฎอนจะเป็นอย่างไร พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงถือศีลอด ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น การยิงกันเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่าและแทบไม่มีเรื่องของความมั่นคง ซึ่งในส่วนของความมั่นคง เราได้ตัวผู้ก่อความรุนแรงตามที่มีรายชื่อของหน่วยเฉพาะกิจ ที่บูรณาการค้นหาติดตาม เท่าที่ได้รับรายงานหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ได้ตัวคนที่ก่อเหตุขับสามล้อพ่วงมาวางระเบิด ที่หน้าสนามบินบ้านทอน จ.นราธิวาส แล้ว รวมทั้งเมื่อวันที่ 19 ส.ค.หน่วยเฉพาะกิจส่วนหน้าของกองทัพภาคที่ 4 ก็ได้ตัวมาอีก 10 กว่าคน
เมื่อถามว่า ทางการจะตั้งรับหรือรุกอย่างไรหลังจากที่ปฏิบัติการเชิงรุกอย่างต่อเรื่อง รองนายกฯ กล่าวว่า การปฏิบัติการเชิงรุกและการกดดันจะต้องทำตลอดเวลา รวมทั้งการตรวจค้น ขณะเดียวกันการขออนุมัติตั้งด่านตรวจยาเสพติดจากนายกฯ ประชาชนในพื้นที่ก็พอใจและด่านตรวจคนเข้าเมืองเพราะจากการข่าวเริ่มมีชาวกัมพูชาที่นับถือศาสนาอิสลาม เดินทางเข้ามาในพื้นที่ ได้ออกจากพื้นที่ไปแล้วหรือไม่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองก็จะต้องดูแลไม่ใช่เข้ามาแล้วไม่ได้เดินทางกลับไป ซึ่งขณะนี้เข้ามาในแต่ละวันประมาณ 1,000 คน เข้าในลักษณะนักท่องเที่ยว จึงต้องฝากให้ ตม.ดูแลอย่างใกล้ชิด
"การข่าวได้ตั้งข้อสังเกต จึงขอให้ ตม.เข้ามาช่วยดูแล ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องประสานกับกัมพูชา เพราะเข้ามาทางด่าน ผมทราบเรื่องนี้แล้วจึงเริ่มขอให้ตม.มาทำงานให้ เป็นสิ่งที่ผมให้หน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนการข่าวกันทุกวัน อะไรที่เห็นบกพร่องก็ไม่ได้ละเว้น ซึ่งการผลักดันกลับ หรือดำเนินการอย่างไรนั้น ก็อยากให้ผลักดันเขาออกมากกว่าออกเอง ที่ผ่านมาไม่มีใครใส่ใจ แต่พอสะกิดใจ ผมก็ใส่ใจ"
**ศปก.จชต.ลั่นประเมินหลังรอมฎอน
วันเดียวกันเวลา 11.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.ดิฎฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กล่าวภายหลังการประชุม ศปก.จชต.ว่า เป็นการติดตามข้อมูลเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ในพื้นที่ เนื่องจากเกิดเหตุระเบิดขึ้น เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมาที่ จ.ปัตตานี ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้เพิ่มมาตรการของหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ ในการบูรณาการ ดูแลสถานที่ราชการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความสะดวกของประชาชน ที่มาติดต่อหน่วยงานราชการ แต่ประชาชนก็เข้าใจว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องเพิ่มความกวดขันมากขึ้น
นอกจากนี้ การข่าวได้มีการประเมินสถานการณ์หลังเดือนรอนฎอนไว้ว่า การก่อเหตุจะเหมือนเดิม เช่น การวางระเบิด และการซุ่มทำร้ายเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการย้ำเตือน และเข้มงวดในพื้นที่มากขึ้น เพราะกลุ่มที่ก่อเหตุต้องการท้าทายอำนาจรัฐว่า รัฐบาลบาลดำเนินการไม่ถูกต้อง ดังนั้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องเพิ่มมาตรการมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เรามีการวางแผนในการดำเนินการไปแล้ว โดยที่ประชุมได้มีข้อเป็นห่วงในเรื่องการข่าว ซึ่งเราจะต้องมีการข่าวที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อการแก้ไขปัญหาที่มีเอกภาพ และนำไปสู่การปฎิบัติ
อย่างไรก็ตาม การประชุมจะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 22 หรือ 23 ส.ค.นี้ ซึ่งเราจะไม่มีการประชุมกันทุกวัน เพราะต้องให้เวลากับเจ้าหน้าที่ในการเตรียมพร้อมด้านข้อมูล ซึ่งในวันที่ 21 ส.ค.นี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ก็จะเป็นเจ้าภาพการประชุม เพื่อกำหนดหน้าที่ของผู้ปฎิบัติการในโครงสร้าง ศปก.จชต.รวมถึงข้อกฎหมาย
เมื่อถามว่า พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ ในฐานะประธาน ศปก.จชต.มีความห่วงใยการเคลื่อนไหวของชาวมุสลิมเชื้อสายกัมพูชาว่าอาจจะมีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ในพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ พล.ต.ดิฎฐพร กล่าวว่า เรื่องนี้ทาง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ก็มีการพูดในที่ประชุมโดยตั้งเป็นข้อสงสัยไว้เท่านั้น ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปตรวจสอบ ส่วนจะเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น ก็คงต้องรอผลการตรวจสอบอีกครั้ง
**กรุงเทพโพลล์ชี้1ปีปูไม่จริงใจดับไฟใต้
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับการแก้ปัญหาไฟใต้” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่พักอาศัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงและมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ผลสำรวจพบว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 55.4 เห็นว่ารัฐบาลไม่ค่อยจริงจังกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองลงมาร้อยละ 35.0 เห็นว่าไม่จริงจังเลย และมีเพียงร้อยละ 9.6 เท่านั้นที่เห็นว่ารัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหา เมื่อถามต่อว่าแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของภาครัฐเดินมาถูกทางหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 59.2 เชื่อว่าเดินมาไม่ถูกทาง มีเพียงร้อยละ 6.1 เท่านั้นที่เชื่อว่าเดินมาถูกทางแล้ว ขณะที่ประชาชนร้อยละ 34.7 ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ ประชาชนเชื่อว่า ปัจจัยที่ทำให้ภาครัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากที่สุด คือ ความไม่จริงจัง จริงใจ และขาดการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนของภาครัฐ ในการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (ร้อยละ 22.8) รองลงมาคือ การทุจริตคอร์รัปชั่น มีผลประโยชน์ของผู้ค้าหนีภาษี ความเห็นแก่เงินของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ (ร้อยละ 17.4) และความไม่เข้าใจปัญหา รวมถึงการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดของภาครัฐ (ร้อยละ 13.9)
ด้านความเห็นของประชาชนต่อวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่ภาครัฐควรนำมาปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้มากที่สุด คือ ควรปฏิบัติตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจังและเด็ดขาดมากกว่านี้ (ร้อยละ 39.8) รองลงมาคือ ภาครัฐควรเข้าใจและเข้าถึงคนในพื้นที่ให้มากกว่านี้ รวมถึงช่วยพัฒนาชุมชนทั้งการศึกษาและอาชีพ (ร้อยละ 24.6) และภาครัฐควรจริงจังกับการแก้ปัญหาให้มากกว่านี้และต้องทำอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 12.3)
สำหรับความเห็นของประชาชนต่อการประกาศเคอร์ฟิว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยลดหรือแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 43.4 เชื่อว่าไม่ได้ มีเพียงร้อยละ 16.7 ที่เชื่อว่าได้ ขณะที่ร้อยละ 39.9 ไม่แน่ใจ
ด้านความพอใจในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในทุกวันนี้พบว่า ประชาชนร้อยละ 50.8 บอกว่าไม่ค่อยพอใจ รองลงมาร้อยละ 29.5 บอกว่าพอใจ ขณะที่ร้อยละ 19.7 บอกว่าไม่พอใจเลย
เมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อการใช้ชีวิตท่ามกลางปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ประชาชนร้อยละ 57.4 บอกว่ารู้สึกหวาดกลัวแต่เริ่มชินชาแล้ว รองลงมาร้อยละ 22.5 บอกว่ารู้สึกหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ร้อยละ 20.1 บอกว่าใช้ชีวิตตามปกติ
สุดท้ายเมื่อถามว่าปัจจุบันนี้เห็นสัญญาณความสงบที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนข้างหน้าบ้างหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 94.1 ระบุว่ายังคงมืดมน มีเพียงร้อยละ 4.7 เท่านั้นที่เห็นว่าเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง และเมื่อถามต่อด้วยคำถามเดิมว่าแล้วอีก 6 เดือนข้างหน้าสัญญาณความสงบจะเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 90.3 ระบุว่ายังคงมืดมนต่อไป มีเพียงร้อยละ 8.5 เท่านั้นเห็นว่าเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง.