xs
xsm
sm
md
lg

เผยประชุมสภากลาโหมแจงบทบาท ศปก.จชต.ดับไฟใต้ โฆษก กห.ยันไม่ซ้ำซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม (ภาพจากแฟ้ม)
โฆษกกลาโหม เผย การประชุมสภากลาโหม ถกไฟใต้ แจงบทบาท ศปก.จชต.เผย 24 ส.ค.“ยิ่งลักษณ์” ลงนามแผนงาน ชง “ดาว์พงษ์” นั่งเลขาศูนย์ฯ มั่นใจ ศปก.จชต.ช่วยคลี่คลายไฟใต้ได้แน่ ระบุ กอ.รมน.แบ่งงานใต้ 5 กลุ่ม เผยให้ ตร.ช่วยทหาร รปภ.ประชาชน ด้าน รมว.กลาโหม สั่งนำงานวิจัยทางทหารลงช่วยใต้

วันนี้ (23 ส.ค.) ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวภายหลังการประชุมสภากลาโหม ที่มี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เป็นประธานในการประชุม ว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ชี้แจงถึงความสำคัญ บทบาท หน้าที่ของการจัดศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.)

สำหรับโครงสร้างประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1.การบังคับบัญชา โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็น ผอ.ศปก.จชต.และมีรอง ผอ.ศปก.3 ท่าน คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี, นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย, พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม 2.สำนักงานเลขานุการ ศปก.จชต.จะทำหน้าที่ในด้านการอำนวยการประชาสัมพันธ์งานและโครงการต่างๆ รวมถึงการแจ้งข่าวสารให้ประชาชนรับทราบ 3.ส่วนติดตามและประเมินผล ในส่วนงานด้านการข่าวทั้งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพไทย เหล่าทัพ และ กอ.รมน.เข้าด้วยกัน พร้อมทั้งทำความเข้าใจ บูรณาการข่าวสารก่อนจะส่งไปให้นายกรัฐมนตรี และ กระทรวงต่างๆ อีก 17 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง 4.การขับเคลื่อนและการประเมินผล โดยจะทำหน้าที่ติดตามในส่วนกระทรวงต่างๆ ที่มีงบประมาณในการแก้ปัญหาภาคใต้ การปฏิบัติงานที่ไม่ปะติดปะต่อ จะทำให้ทั้ง 17 กระทรวง เข้าใจถึงสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชน

สำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่ ในส่วนของกองทัพบก และ กอ.รมน.ได้จัดงานแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติงาน คือ 1.การรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน 2.งานยุติธรรม 3.การสร้างคุณภาพชีวิตและโครงสร้างพื้นฐาน 4.ด้านสิทธิมนุษยชน 5.การหาทางออกเมื่อเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ โดยทาง กอ.รมน.จะนำแผนงานและกรอบการทำงานดังกล่าว เตรียมให้นายกรัฐมนตรีลงนามในวันที่ 24 ส.ค.นี้ เพื่อนำไปใช้งานต่อไปรวมถึงการปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมใน 5 รูปแบบ เช่น การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยเพิ่มเติม รวมไปถึงรับอาสาสมัครตำรวจเข้ามา

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้ง ศปก.จชต.ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น หากโครงสร้างเสร็จสมบูรณ์และสามารถขับเคลื่อนได้จะช่วยคลี่คลายปัญหาในพื้นที่และมั่นใจว่าจะสามารถนำงานและโครงการต่างๆ ไปสู่การปฎิบัติในพื้นที่ได้ ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพล ยังได้เน้นย้ำให้หน่วยขึ้นตรงของกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพนำผลงานที่ได้จากการวิจัยทางทหารไปปฏิบัติในพื้นที่และให้กำลังพลได้ใช้ประโยชน์ โดยที่ผ่านมามีงานวิจัย 30 รายการแต่ที่จะนำมาใช้งาน คือ 1.ชุดเสื้อเกราะ 2.อุปกรณ์เก็บกู้ตะปูเรือใบ 3.ยางรถยนต์ป้องกันการโปรยตะปูเรือใบ 4.เครื่องมือการตรวจบัตรประชาชน หรือ สมาร์ทการ์ด เพื่อลดขั้นตอนในการตรวจสอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการบรรยายสรุปของ กอ.รมน.เกี่ยวกับการจัดตั้ง ศปก.จชต.ต่อที่ประชุมสภากลาโหมนั้น ในส่วนของสำนักงานเลขานุการ ศปก.จชต.ได้มีการเสนอชื่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ.เป็นเลขานุการ โดยมีผู้แทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ กอ.รมน.เป็นรองเลขานุการ สำหรับลักษณะการปฏิบัติงานเป็นการปฏิบัติงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี โดย ผอ.ศปก.จชต.มีอำนาจในการอำนวยการ สั่งการ และประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งปฏิบัติงานเป็น 2 ระดับ คือ ระดับปกติ คือ ห้วงเวลาที่สถานการณ์ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบวงกว้าง ปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง เฉพาะส่วนบังคับบัญชา สำนักงานเลขานุการ และส่วนข่าวติดตามสถานการณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรวม 37 อัตรา และ 2.ระดับไม่ปกติ คือ ห้วงเวลาที่สถานการณ์ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพสังคม จิตวิทยา และความเชื่อมั่นในวงกว้าง โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่เกินตามอัตราเต็มของศปก.จชต.จำนวน 85 อัตรา ซี่งการปฏิบัติงานของ ศปก.จชต.จะเป็นการปฏิบัติลักษณะ Current Plan ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิม และเป็นการสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่มีอยู่เดิมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในการแถลงข่าว พ.อ.ธนาธิป ยังกล่าวอีกว่า ในที่ประชุมได้มีการเตรียมพร้อมในการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ โดยในส่วนของภัยแล้ง ได้ให้ทางกองทัพไทยและหน่วยทหารพัฒนา เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสพภัยอย่างเร่งด่วน และให้ประสานกับกองทัพบกเพื่อให้การสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์ ในส่วนของอุทกภัย โดยกองทัพบก จัดหน่วยรักษาดินแดน (ร.ด.) ภายใต้โครงการจัดแสดงพลังนักศึกษาวิชาทหารร่วมภัยต้านภัยน้ำท่วม ในวันที่ 30 ส.ค.นี้ ที่กรมทหารราบ 11 รักษาพระองค์ โดยมีอาสาสมัครนักศึกษาวิชาทหาร 8 พันคนเข้าร่วม

โดยจะมีการสาธิตการก่อกระสอบทราบ ทำพนังกั้นน้ำ การดูแลการจราจร ดูแลเต็นท์ผู้ประสบภัย การปฐมพยาบาล จัดถุงยังชีพ ดูแลผู้เจ็บป่วยสำหรับงานดังกล่าว จะมี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการเปิดงาน พร้อมทั้งปลัดจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อย่างไรก็ตาม กองทัพบกได้บรรจุโครงการดังกล่าวให้อยู่ในหลักสูตร พร้อมทั้งมีการประเมิลผลการให้คะแนนกับนักศึกษาวิชาทหารตั้งแต่ ปี 1-5
กำลังโหลดความคิดเห็น