xs
xsm
sm
md
lg

“ยุทธศักดิ์” เผยเปลี่ยนชื่อศูนย์แก้ไฟใต้ เป็น ศปก.กปต.-ส่งโฆษก กอ.รมน.จูนสมอง “บิ๊กจิ๋ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ดูห้องทำงานสวนรื่นฤดี ตั้งชื่อใหม่เป็น ศปก.กปต.เผยนายกฯ ตีกลับแผนปฏิบัติ 17 กระทรวง ชี้ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มกำลังพลและสถานที่ใหม่ ส่วนแผนงานขอให้สั้นกะทัดรัด ลั่นไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่ ปัดมัวยุ่งปรับโครงสร้าง แต่ให้ 17 กระทรวง ลงพื้นที่เต็มที่ เตรียมส่งโฆษก กอ.รมน.ปรับความเข้าใจบิ๊กจิ๋ว หลังปูดไฟใต้คล้ายอัฟกานิสถาน

วันนี้ (14 ส.ค.) ที่สวนรื่นฤดี เมื่อเวลา 14.00 น. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงได้เดินทางมาที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เพื่อดูห้องทำงาน และตรวจความพร้อมของศูนย์ปฏิบัติการฯ ภายใน กอ.รมน.พร้อมประชุมหารือร่วมกับ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ รมน.เพื่อปรับรายละเอียดโครงสร้างของศูนย์ปฏิบัติการที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์ปฏิบัติคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และ ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” (ศปก.กปต.) จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะใช้ชื่อ ศปก.จชต.

พล.อ.ยุทธศักดิ์ เปิดเผยภายหลังการหารือ ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน.เป็นห่วงเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งวันนั้น นายกฯ ได้สั่งการหลายเรื่อง และพูดถึงการจัดทำแผนปฏิบัติของ 17 กระทรวง ที่เสนอแผนให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ส่งมาครั้งแรกนั้น นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการและให้นำกลับไปทบทวนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ร่วม ที่ กอ.รมน.และ ศูนย์อำนวยการบริหารจัดหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ได้ทำไว้ในรายละเอียดทั้ง 29 ข้อ โดยขอให้มีแผนทุกกระทรวงอยู่ในนั้นและจะต้องมีความเร่งด่วนในการปฏิบัติ

พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการต่างๆ ของการทำแผนและโครงสร้างของ กอ.รมน.รวมถึง ศอ.บต.ไม่จำเป็นต้องเพิ่มกำลังพล และไม่ต้องจัดหาสถานที่ใหม่ ส่วนแผนงานที่ส่งมาให้ดูให้เรียบร้อยอย่าให้มีความซ้ำซ้อน แต่ขอให้สั้น และกะทัดรัด รวมทั้งทำงานได้รวดเร็ว จึงได้มาหารือกับทางคณะทำงานทุกคนที่ทำแผน ทั้งนี้ โครงสร้าง ศปก.กปต.ไม่ซ้ำซ้อนกับ กปต.ที่มีอยู่อย่างที่เข้าใจผิดกัน โดย ศปก.กปต.จะเป็นแขนขาในการทำงานให้ โดยปรับแผนงานต่างๆ เช่น งานด้านการข่าว ก็ไปไว้ที่ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ หรือ สขช.ส่วนที่มีข่าวว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ จะมาเป็นเลขาฯ นั้น ยังไม่ได้กำหนด ต้องรอนายกรัฐมนตรี อนุมัติก่อน ตนไม่สามารถบอกได้อยู่ที่การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเลขานุการจะมีแค่คนเดียว และรองเลขาฯ 3 คน ที่มาจาก สมช. กอ.รมน.และ ศอ.บต.

“มองภาพให้เป็นงานส่วนรวมของรัฐบาลที่ทำงานกันเป็นปกติ ไม่ใช่รวมมาอยู่ที่สวนรื่นฯ ที่เดียว นายกรัฐมนตรีให้รีบทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อทำแผนเสร็จน่าจะเริ่มปฏิบัติงานได้หลังวันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม เป็นต้นไป โดยจะเสนอนายกรัฐมนตรีในวันศุกร์ที่ 24 สิงหาคมนี้ ให้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงาน ทั้งนี้ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กปต.ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ ศปก.กปต.จะเป็นตัวประสานงาน ช่วยกระทรวงต่างๆ ทำงาน เพื่อให้งานของกระทรวงไปสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ สำหรับการประเมินผลมีคณะขับเคลื่อนและส่วนประเมินผลอยู่ที่ กปต.แล้ว โดยจะทำหน้าที่ประเมินผลการทำงานของแต่ละกระทรวงภายใน 1 เดือนก่อนว่าดำเนินการตามแผนงานหรือไม่ ใช้งบประมาณตามขอที่ขอไว้หรือไม่ และใน 3 เดือนก็จะสรุปผล หากกระทรวงใดยังช้า ทำงานไม่ได้ และงานไม่ลงในพื้นที่ภาคใต้ ก็จะรายงานมาที่ผม เพื่อสรุปรายงานและเสนอนายกฯดำเนินการต่อไป เพื่อให้ นายกฯเตือนเจ้ากระทรวงว่าช้าหรือไม่” พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีการมองว่า รัฐบาลมัวแต่ยุ่งแต่การปรับโครงสร้าง พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า เราไม่ได้มัวยุ่งกับการปรับโครงสร้าง แต่ถ้าไม่ปรับงานก็จะไม่เดิน และจะมีช่องว่างที่ไม่สามารถจะอุดได้ การปรับองค์กรทำให้งานเดินไปได้ในการขับเคลื่อนหน่วยงานที่จะต้องปฏิบัติ วันนี้เราแย่งมวลชนกัน ถ้าหากว่า 17 กระทรวงไม่ลง มวลชนที่เขาต้องการความช่วยเหลือจากการทำงานของกระทรวงต่างๆ เราก็จะไม่ได้มวลชนมาอยู่กับเรา ดังนั้น การทำงานคือให้มวลชนเข้าใจและอยู่กับเรา รวมทั้งเข้าใจและปฏิบัติกับเราได้ ทุกกระทรวงต้องลงเต็มที่ ศอ.บต.ต้องเป็นพระเอก งานการเมือง และการพัฒนาจำเป็นอย่างยิ่ง หน้าที่ของ กอ.รมน.คือ การรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้กับหน่วยที่จะลงไปพัฒนา ส่วนที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี มองว่า สถานการณ์ในพื้นที่อาจจะพัฒนาใกล้เคียงกับประเทศอัฟกานิสถานนั้น ตนจะให้โฆษก กอ.รมน.ไปประสานงานกับ พล.อ.ชวลิต เพื่อให้เข้าใจว่าเราคิดกันอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น