xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมพึ่ง “ศาลปกครอง” ถอนปม “รัฐประหารไฟใต้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การตอบคำถามผู้สื่อข่าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึง 3 รองนายกฯ พร้อมด้วยรัฐมนตรี ผู้นำเหล่าทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง หลังร่วมประชุม “คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.)” เมื่อบ่ายวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา แม้หลายเรื่องจะแสดงให้เห็นว่า ภาครัฐมีความความตั้งใจเดินหน้าขับเคลื่อนงานดับไฟใต้ ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันว่ายังไม่ใช้มาตรการเคอร์ฟิว การแจกแจงการปฏิบัติงานของ 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน การจัดเซฟตี้โซน และพื้นที่เกิดเหตุบ่อยครั้ง การติดตั้งกล้องวงจรปิด การตั้งด่านตรวจเข้มที่ ต.ควนมีด อ.นาหม่อม จ.สงขลา การประสานงานกับมาเลเซีย เป็นต้น

ทว่า มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ อันนำไปสู่การปรับรื้อโครงสร้างองค์กรภาครัฐ และเป็นการจัดสรรอำนาจการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนใต้โดยตรง แม้จะมีการแถลง และพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกันไปบ้างแล้ว แต่ต้องถือว่า ยังไม่ได้รับการอธิบายให้กระจ่างเท่าที่สังคมควรจะได้รับรู้ โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญที่สุดที่ว่า เป็นการตอบโจทย์เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาไฟใต้ได้จริงหรือไม่ นั่นก็คือ กปต.มีมติเห็นชอบตามที่ กอ.รมน.เสนอให้ตั้งหน่วยงานใหม่ ได้แก่
 
“ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.)”
 
ทั้งนี้ มีการอ้างอิง 9 ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จัดทำไว้เป็นตัวตั้งในการเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง ศปก.จชต.ขึ้นมาใหม่ โดยในข้อเท็จจริง ยังเป็นแค่การอนุมัติในหลักการ ยังไม่มีการกำหนดโครงสร้าง การวางตัวบุคลากรหลัก และกำลังคนที่แน่ชัด เพียงเขียนโครงร่างคราวๆ ไว้ว่า จะมีการจัดแบ่งหน่วยงานเอาไว้ 7 กลุ่มหลักเท่านั้น


มีข้อที่น่าสังเกตว่า ภายหลังการประชุมวันนั้น แม้ระดับบิ๊กๆ จะเรียนงหน้าสลับกันแถลงต่อผู้สื่อข่าว แต่ปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้แจกแจงในเรื่องนี้โดยตรงก็คือ พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งว่ากันว่า น่าจะได้รับการผลักดันให้นั่งควบในตำแหน่งเลขา ศปก.จชต.เป็นคนแรกนั่นเอง

ความจริงแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ฝ่ายกองทัพในนาม กอ.รมน.เสนอให้ปรับรื้อโครงสร้างอำนาจการบริหารราชการในพื้นที่ชายแดนใต้มาตั้งแต่ตั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใหม่ๆ ในปี 2554 เนื่องจากตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่มักเรียกกันว่า พ.ร.บ.ศอ.บต. ซึ่งมีผลบังคับใช้ช่วงปลายปี 2553 ได้ยกระดับองค์กรเฉพาะกิจฝ่ายพลเรือน คือ ศอ.บต.ที่เคยห้อยไว้กับกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นองค์กรถาวรตามกฎหมายใหม่ ขึ้นต่อสำนักนายกรัฐมนตรี มีที่ทำการและบุคลากรเป็นของตนเอง อีกทั้งให้มีผู้กำกับดูแลโดยตรง คือ เลขาธิการ ศอ.บต.เป็นถึงข้าราชการระดับ 11 เทียบเท่าปลัดกระทรวง

ปรากฏว่า ศอ.บต.ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายใหม่เกิดไปทับตาปลา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งผู้ที่นั่งกุมบังเหียนอยู่ คือ แม่ทัพภาคที่ 4 เพราะนับเนื่องจากไฟใต้ระลอกใหม่ปะทุขึ้นจากฝีมือระบอบทักษิณช่วงต้นปี 2547 ปรากฏว่า ทหารได้กลับเข้ามาควบคุมพื้นที่ชายแดนใต้ได้อย่างแทบจะเบ็ดเสร็จ โดยจากที่พื้นที่ชายแดนใต้เคยใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” พอสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษัณ ชินวัตร ที่จุดไฟใต้ให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้งก็ยอมจำนนกลับหัวกลับหางเปลี่ยนให้ไปใช้นโยบาย “การทหารนำการเมือง” แล้วตกทอดมาจากเดี๋ยวนี้
 
เหตุผลที่ กอ.รอม.เสนอให้ตั้ง ศปก.จชต.ขึ้นมาใหม่ ลึกๆ แล้ว สามารถอธิบายได้ว่า เมื่อ ศอ.บต.กลับฟื้นขึ้นมาใหญ่แล้วมีถึง ซี 11 นั่งแท่นดูแลอยู่แบบมีกฎหมายรองรับ และที่สำคัญคือ ยังตั้งฐานที่มั่นอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ จึงไปข่มหน่วยงานอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ต้องการสยายปีกคลุมทั้งพื้นที่ ซึ่งการที่มีคำว่า “ส่วนหน้า” ห้อยท้าย ทำให้เป็นหน่วยงานที่ด้อยกว่า แถมระดับของ “แม่ทัพภาคที่ 4” ก็น่าจะเทียบเคียงได้แค่ระดับประมาณ ซี 9 เท่านั้น
 
เมื่อยกเลิกหน่วยงานฝ่ายพลเรือนอย่าง ศอ.บต.ไม่ได้ เพราะมีกฎหมายหลักรองรับ จึงเสนอให้ย้ายฐานไปตั้งที่มั่นในกรุงเทพฯ แล้วให้ เลขาธิการ ศอ.บต.ก็ประจำอยู่ที่นั่นด้วย ส่วนในพื้นที่ชายแดนใต้ให้ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาทดแทน อาจจะเป็น “ศอ.บต.ส่วนหน้า” หรือเป็น “ศอ.บต.ส่วนแยก” ก็ได้ แล้วให้ผู้มานั่งแท่นดูแลก็ลดระดับลงเหลือเพียงไม่เกิน ซี 9 เพื่อให้ง่ายต่อการที่ฝ่ายกองทัพจะกางปีกควบคุม

แม้หน่วยงานใหม่ที่เพิ่งอนุมัติให้ตั้งขึ้น คือ ศปก.จชต.จะยังมีโครงสร้างองค์กรไม่ชัดเจนอย่างที่ กอ.รอม.ต้องการให้เป็นในแบบข้างต้น แต่ก็ต้องนับว่า กองทัพประสบความสำเร็จในก้าวแรกที่สามารถจุดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว และสิ่งนี้ยืนยันได้จากแถลงการณ์คัดค้านของ “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.)” หรือที่มักเรียกกันว่า “สภาที่ปรึกษา ศอ.บต.” ซึ่งเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ศอ.บต.ฉบับเดียวกันเมื่อวันที่ 6  ส.ค.ก่อนหน้า กปต.จะประชุมใหญ่เพียง 2 วัน ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
 
ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ และรัฐบาลมีแนวคิดจะจัดตั้ง “ศปก.จชต.” ขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยรวมหน่วยงานทั้ง 17 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งงานความมั่นคง และงานการพัฒนา และมีแนวคิดที่จะให้กองทัพภาค 4 เป็นผู้กำกับดูแลฝ่ายพลเรือนทุกเรื่อง รวมทั้ง ศอ.บต. ทั้งๆ ที่มี พ.ร.บ.ศอ.บต.ปี 2553 อยู่แล้ว
 
สปต. เห็นว่า ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้ชายแดนใต้มากมาย แต่ผลงานไม่เป็นที่ประจักษ์ว่าสามารถแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้ และจากการฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ มีการวิพากษ์วิจารณ์ และเริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อนโยบายของกองทัพในการแก้ไขปัญหา สปต.มีการประชุมเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2555 มติเป็นเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลที่จะจัดตั้ง ศปก.จชต.โดยมีเหตุผลประกอบดังนี้

1.นโยบายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม การรับฟัง และสะท้อนความเห็นจากภาคประชาชนกับภาครัฐ โดยมี สมช.เป็นผู้ดำเนินการ และเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยได้แยกงานระหว่างฝ่ายความมั่นคงที่มี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 กับงานด้านการพัฒนาฝ่ายผลเรือน ที่มี พ.ร.บ.ศอ.บต.ปี 2553 ไว้อย่างชัดเจน และดำเนินยุทธศาสตร์สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง ครม.และสภาผู้แทนฯ รับทราบแล้ว จึงเห็นว่า รัฐบาลควรบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว

2.ไม่เห็นด้วยในการมอบหมายให้แม่ทัพภาค 4 เป็นผู้กำกับดูแลกิจการในพื้นที่ครอบคลุมไปถึงกิจการฝ่ายผลเรือน และการอำนวยความยุติธรรม โดยแยกงานการพัฒนา และความมั่นคงออกจากกัน เห็นว่า ภารกิจของกองทัพมีมากอยู่แล้ว ควรเน้นการรักษาอธิปไตย และรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐให้มากยิ่งขึ้น

3.กพต.ตาม พ.ร.บ.ศอ.บต.ปี 2553 น่าจะเป็นศูนย์ปฏิบัติการที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ และจะต้องผลักดันให้กระทรวงต่างๆ มีความเข้มแข็ง ทั้งกำลังคน และงบประมาณ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาความสงบภายใน รวมทั้งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประกอบกับ พ.ร.บ.ศอ.บต.ปี 2553 มีเจตนารมณ์หลักในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมการแก้ปัญหา จึงควรรับฟังเสียงจากประชาชนเจ้าของพื้นที่ ไม่ใช่เป็นการพิจารณา และสั่งการมาจากส่วนกลางอย่างเดียว

4.ในกรณีมีการกล่าวอ้างว่า การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมี พ.ร.บ.ศอ.บต. และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซ้ำซ้อนกันอยู่ ขอเรียนว่า พ.ร.บ.ศอ.บต.ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาอย่างกว้างขวาง และผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามาแล้ว จึงไม่ได้ซ้ำซ้อนกัน เนื่องจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ รับผิดชอบในด้านการดูแลรักษาความสงบ และอธิปไตยของชาติ ส่วน พ.ร.บ.ศอ.บต.รับผิดชอบเรื่องการเมือง การปกครอง และการพัฒนา จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา ในทางกลับกัน ยังเป็นการหนุนเสริม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อีกด้วย อีกทั้งประชาชนค่อนข้างพึงพอใจกับการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ศอ.บต.

การออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านของ สปต.ที่ทำงานแบบคู่ขนานกับ ศอ.บต.จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตา ด้วยเพราะมีความวิตกกังวลว่า หากให้กองทัพขับเดินหน้าเคลื่อนในเรื่องนี้ต่อไป จนสามารถรวมศูนย์อำนาจบริหารจัดการไฟใต้ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถึงวันนั้น ก็น่าจะไม่ต่างอะไรจากการปล่อยให้ทำรัฐประหารไฟใต้ได้สำเร็จนั่นเอง
 
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวเปิดเผยกับ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ว่า ภายหลังที่รัฐบาลไฟเขียวให้ตั้ง ศปก.จชต.ขึ้นมาใหม่ ขณะนี้ มีสมาชิกสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.กลุ่มหนึ่งกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อหาช่องทางในการฟ้องศาลปกครองแล้วว่า การตั้งองค์กรไฟใต้ใหม่ครั้งนี้จะเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ศอ.บต.หรือไม่
 
กำลังโหลดความคิดเห็น