รายงานการเมือง
หลังจากร้องเพลง “สุขกันเถอะเรา” เดินลงเวทีไปเชื้อเชิญแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาร่วมกันเสพสุขบนความทุกข์ของประชาชน หลังเหตุคาร์บอมบ์โรงแรมซี.เอส. จ.ปัตตานี จนเปลวไฟลามเลียไปถึงชั้น 8 ขณะที่ชาวปัตตานีอยู่ในความมืดมิดเพราะไฟดับทั้งเมือง จนถูกชาวบ้านก่นด่าทั้งเมือง
นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โคลนนิ่งของนักโทษชายทักษิณ ก็พยายามโชว์เหนือด้วยการเรียกประชุม 17 หน่วยงาน ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คิดค้นให้สามรองนายกรัฐมนตรี
ประกอบด้วย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ และพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา มาดูแลแก้ปัญหาภาคใต้ ส่วนนางก็ลอยตัวหนีความรับผิดชอบ
จากนี้ไปก็ไม่ต้องตอบคำถามเรื่องน่าเบื่อเกี่ยวกับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จุดชนวนรุนแรงในยุคพี่ชาย และทำท่าจะบานปลายอีกครั้งในยุคน้องสาว
นับเป็นเรื่องน่าเศร้าของประเทศไทยที่ได้ผู้นำใจดำมาบริหารบ้านเมือง
สถานการณ์ภาคใต้ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย ออกกฎหมายใหม่ในปี 2553 ปรับทิศทางการแก้ปัญหามุ่งเน้นการพัฒนา คืนความเป็นธรรม นำหน้างานด้านความมั่นคง เพื่อสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างความสมดุลในการใช้อำนาจระหว่างฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
แต่รัฐบาลที่ไม่มีความรู้ ขาดความเข้าใจในโครงสร้างของปัญหา กำลังทำลายสิ่งที่หลายฝ่ายร่วมกันสร้างเพื่อคืนสันติสุขกลับสู่ด้ามขวานแผ่นดินไทย
การตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอ้างว่าโครงสร้างไม่เปลี่ยนแปลง แนวนโยบายก็ยังยึดตามที่ สภาความมั่นคงแห่งชาติได้ร่างเอาไว้ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ที่มีการจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 55-57
ส่วนที่แตกต่างไป คือ การมี 3 รองนายกรัฐมนตรีมาเป็นกันชนให้นายกรัฐมนตรีลอยตัวออกจากปัญหาเท่านั้น
การตัดสินใจในเชิงนโยบายเช่นนี้สะท้อนว่า รัฐบาลคิดแต่เรื่องการเมือง ไม่ได้คิดถึงเรื่องของบ้านเมืองแม้แต่นิดเดียว เพราะถ้าคิดถึงบ้านเมืองจริง นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องเรียนรู้งานด้านความมั่นคงและดูแลปัญหานี้ด้วยตัวเอง
เพราะการออกแบบกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด เป็นเพราะเล็งเห็นตั้งแต่ต้นว่าจะเกิดปัญหาในเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายปกครอง ที่ต้องทำให้เกิดความสมดุลทำงานสอดประสานกันทั้งงานด้านความมั่นคง การพัฒนา และคืนความยุติธรรมควบคู่กันไป
แต่รัฐบาลมิได้แสดงให้เห็นเลยว่า มีความเข้าใจต่อหลักคิดสำคัญนี้ นอกจากการให้สัมภาษณ์ฉาบฉวยไปวันๆ ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ไม่กล้าแม้กระทั่งจะลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาด้วยตัวเอง
เลวร้ายไปกว่านั้นรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าขาดความรู้พื้นฐานในการแก้ปัญหาภาคใต้อย่างไม่สามารถจะอภัยให้ได้
วันที่ 9 ส.ค. 55 ร.ต.อ.เฉลิม ตอบคำถามนักข่าวที่สภาเกี่ยวกับการกรณีที่สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ออกมาคัดค้านการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไว้อย่างน่าสมเพชยิ่งว่า “ไม่รู้เรื่องการคัดค้านดังกล่าว” แถมย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า “สภาที่ปรึกษาฯ คืออะไร”
รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่รู้จัก “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ทั้งๆ ที่กลไกนี้เกิดขึ้นตามมาตรา 19 ของกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2553 ที่ ร.ต.อ.เฉลิมบอกว่ารัฐบาลยึดการแก้ปัญหาตามแนวทางของกฎหมายนี้
แต่ ร.ต.อ.เฉลิมคนเดียวกันยอมรับว่า ไม่ได้อ่านกฎหมายฉบับนี้ ไม่รู้ว่ามีกลไกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่บนโลกใบนี้!
สะท้อนความไม่ใส่ใจต่อชีวิตคนไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย ออกจากบ้านในแต่ละวันไม่รู้ว่าจะได้กลับไปอย่างมีลมหายใจหรือไม่ แต่คนที่มีอำนาจบัญชาการกลางเมืองหลวงยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากลไกที่จะใช้แก้ปัญหามีอะไรบ้าง นอกจากแอ็กต์อาร์ตออกสื่อสั่งการตำรวจ แต่ไม่เคยเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานแนวทางไว้ให้
เหตุผลที่มาตรา 19 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ระบุให้มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมืองให้ฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่ได้มีบทบาท มีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางแก้ปัญหา สะท้อนเสียงที่แตกต่างให้คนในพื้นที่เกิดความมั่นใจว่ารัฐเปิดกว้างยอมรับฟังพวกเขาแทนการยัดเยียดนโยบายจากส่วนกลาง
แต่รองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ไม่รู้จักกลไกสำคัญนี้
ถ้า ร.ต.อ.เฉลิมขี้เกียจอ่าน พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะบอกให้ฟังว่า สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสมาชิกประกอบด้วยบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิในภาคส่วนต่างๆ จำนวน 49 คน จากทุกสาขาอาชีพที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี โดยผ่านกระบวนการคัดเลือกกันเองภายในกลุ่มหรือเลือกบุคคลอื่นเป็นตัวแทนของกลุ่ม
อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ ตามมาตรา 23 มีขอบเขตตั้งแต่การให้ความเห็นต่อนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 55-57 และยังมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาเสนอแนะร่วมมือและประสานงานกับ ศอ.บต. ตลอดจนตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานของ ศอ.บต.
นอกจากนี้ ยังมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริง ข้อมูลข่าวสาร และข้อคิดเห็นจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการทำงาน รวมถึงพิจารณาเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่เกี่ยวกับปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วย เป็นการเชื่อมบทบาทของประชาชนในพื้นที่ต่อกระบวนการใช้อำนาจรัฐอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเป็นการสร้างสัมพันธ์โดยตรงระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐ
สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสำคัญหรือไม่ มาถึงบรรทัดนี้คิดว่าคนไทยมีคำตอบ แต่ไม่รู้ว่า ร.ต.อ.เฉลิมมีสติปัญญาที่จะไปขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้มีความเข้าใจต่อการแก้ปัญหาภาคใต้หรือยัง
เพราะถ้าทำตัวเป็นพวก “โง่แล้วขยัน” แม้แต่ฮิตเลอร์ก็ยังเลือกที่จะเด็ดหัวคนประเภทนี้ทิ้ง เพราะมันสร้างความฉิบหายไม่รู้จบ
11 ปีที่แล้วพี่ชายนักโทษเอาความมั่นคงมาทดลองนโยบายคิดใหม่ ทำใหม่ ทุบโครงสร้าง ศอ.บต.ทิ้ง ทำลายกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 หรือ พตท.43 ทิ้ง หันไปใช้นโยบายตาต่อตาฟันต่อฟัน อุ้มฆ่าจนความรุนแรงขยายวงกว้าง เกิดเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ เป็นบาดแผลลึกกัดกินในพื้นที่สร้างความสูญเสียต่อเนื่องมาถึงวันนี้สังเวยไปแล้วกว่า 5 พันศพ
วันนี้น้องสาวขึ้นมาเถลิงอำนาจ ใช้ “คนโง่พอกัน” มาบริหารแก้ปัญหาภาคใต้ สุดปลายด้ามขวานจะรักษาไว้ได้หรือไม่ หรือจะเข้าสู่สถานการณ์พี่ชายจุดไฟใต้ น้องสาวตัดด้ามขวาน!