xs
xsm
sm
md
lg

“สภาที่ปรึกษาฯ เหมือนแสงสว่าง ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์แบบ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สัมภาษณ์พิเศษ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” ในฐานะ “เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” องค์กรหลักที่การขับเคลื่อนงานแก้ปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นเหมือนเงาตามติดคอยให้การสนับสนุน และช่วยเหลือ ในวาระครบรอบ 1 ปีของสภาที่ปรึกษาฯ

: ในฐานะที่ได้ร่วมงานกันมานาน ท่านมองสภาที่ปรึกษาฯ ชุดนี้อย่างไร?
 
ได้ร่วมงานกับสภาที่ปรึกษาฯ ชุดนี้มาประมาณ 7 เดือน ผมมองว่า องค์ประกอบของสภาที่ปรึกษาฯ ที่เป็นตัวแทนของทุกภาคส่วนเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากการแก้ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายมิติ ซึ่งการมีสภาที่ปรึกษาฯ ทำให้การดำเนินการ หรือการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้รับคำแนะนำที่รอบด้าน
 
ใจจริงผมอยากบอกว่า สภาที่ปรึกษาฯ สามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
 
สำหรับบทบาทของสภาที่ปรึกษาฯ ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบนั้น ในส่วนของ ศอ.บต.มีบทบาทในด้านของการพัฒนา ควบคู่กับการอำนวยความเป็นธรรม โดยที่ผ่านมา ทางสภาที่ปรึกษาฯ ก็ได้ให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ จนนำไปสู่การแก้ปัญหาที่มีระบบมากยิ่งขึ้น
 

 
: โครงสร้างสภาที่ปรึกษาฯ ที่เน้นให้เลือกตั้งจากบุคคลหลากหลายวิชาชีพ และประสบการณ์ ท่านเห็นควรต้องปรับ หรือเสริมอะไรอีกไหม? 
 
ในจุดนี้ถือว่าเป็นหัวใจของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือ การมีส่วนร่วม การที่จะนำประชาชนกว่า 1 ล้านมามีส่วนร่วม ก็ต้องมีการเปิดโอกาสให้มีตัวแทน ผมถือว่าการเลือกตั้งจากบุคคลในหลากหลายอาชีพ และประสบการณ์ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก
 
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ทำงานได้สักระยะหนึ่งแล้ว ก็อาจจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาในเรื่องขององค์ประกอบของบุคคลบ้าง โดยเฉพาะมีเสียงสะท้อนจากเด็ก และเยาวชนในสภาที่ปรึกษาฯ ว่า ควรให้มีการส่งเสริมให้มีความเข้มข้นในหลายๆ ด้าน
 
สำหรับโครงสร้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมเองมองว่า มีความเหมาะสมดีแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้มีกลไกที่จะทำให้การบริหารจัดการสามารถที่จะช่วยเหลือสภาที่ปรึกษาฯ ทางด้านงานธุรการ ทางด้านการประชุม ด้านเอกสาร และทางด้านไอทีต่างๆ ที่จะสามารถให้การปฏิบัติงานต่างๆ มีความรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา
 

 
: หันมามองในด้านบทบาทสภาที่ปรึกษาฯ บ้าง ท่านมองในเรื่องนี้อย่างไร? 
 
คือในขณะนี้ งานที่ได้มีการขับเคลื่อนไปส่วนใหญ่ของ ศอ.บต. เมื่อได้รับข้อมูลอะไรมาก็จะขอคำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะจากสภาที่ปรึกษาฯ แต่เมื่อมาถึงขึ้นของการปฏิบัติ ทางสภาที่ปรึกษาฯ ก็อาจจะไปสะท้อนความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เสริมขึ้นมา ซึ่งบทบาทในปัจจุบันที่ดำเนินการมาก็ดีอยู่แล้ว
 
ในสิ่งที่จะต้องมีการส่งเสริมคือ จะทำอย่างไรที่จะให้สภาที่ปรึกษาฯ ที่มีตัวแทนประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ ทำอย่างไรที่จะทำให้บทบาทของสภาที่ปรึกษาฯ ได้ทำบทบาทหน้าที่ให้ดีกว่าที่ผ่านมา ในส่วนที่มีการประชุมส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นในงานด้านธุรการ อาจจะต้องเพิ่มน้ำหนักในบทบาทของยุทธศาสตร์ หรือองค์ความรู้ในบทบาทของแนวทางการแก้ปัญหา การพัฒนา ซึ่งก็มีอยู่แล้ว แต่ขอให้มีมากขึ้นกว่าเดิม ก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับองค์กรที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ก็ต้องมีการสร้างระเบียบ และสร้างหลักเกณฑ์กันไป

 
: ลึกๆ แล้วท่านหวังอะไรกับสภาที่ปรึกษาฯ ชุดนี้บ้าง หรืออยากเห็นภาพการรุกก้าวในอนาคตอย่างไร?
 
สำหรับสภาที่ปรึกษาฯ ในบทบาทหลักๆ คือ เป็นปากเสียงให้แก่ประชาชน ต้องปกป้องสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกๆ กลุ่ม ทุกภาคส่วน เมื่อสภาที่ปรึกษาฯ พบอะไรที่ไม่ถูกต้อง ทางสภาที่ปรึกษาฯ ก็ต้องออกมาเรียกร้อง และแสดงจุดยืน ซึ่งในจุดนี้ผมเองมีความเห็นด้วยอย่างยิ่ง
 
ส่วนในภาพที่จะต้องก้าวไปข้างหน้านั้น สภาที่ปรึกษาฯ ต้องสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความยอมรับให้แก่ทุกภาคส่วน สำหรับการสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความยอมรับต่อประชาชนนั้น เวลานี้จัดว่าค่อนข้างสูงมาก เพราะสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ เป็นตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว
 
สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือ ทำอย่างไรให้ภาครัฐ ให้หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ โดยอาจจะเปิดเวทีให้สภาที่ปรึกษาฯ ได้พบปะพูดคุยกับทางหน่วยงานด้านความมั่นคงบ้าง เพราะมิฉะนั้น อาจเกิดการมองว่า มีการทำงานที่ไม่กลมเกลียวกัน ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียว
 
ทั้งนี้ อาจจะต้องมีการทำงานรุกเข้าไปในด้านของความมั่นคง ให้ทางหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ซักถามข้อมูลของสภาที่ปรึกษาฯ บ้าง เพื่อให้ได้รู้รูปแบบ หรือคุณสมบัติของสภาที่ปรึกษาฯ โดยในสิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างความยอมรับเพิ่มมากขึ้น
 
: คำถามสุดท้าย ถ้าต้องตัดสินใจแบบฟันธง ท่านคิดว่าสภาที่ปรึกษาฯ ยังมีความจำเป็นต่อสังคมชายแดนใต้อีกไหม?
 
สภาที่ปรึกษาฯ มีความจำเป็นอย่างยิ่งกับสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบทบาทอำนาจหน้าที่ที่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย สภาที่ปรึกษาฯ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
 
ผมเองคิดว่า ก้าวทุกก้าวในการเดินของ ศอ.บต.กับสภาที่ปรึกษาฯ ในอนาคต น่าจะเป็นการเดินที่จะได้ใช้ประสบการณ์ ทัศนะและความรู้ของสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อทำให้ยุทธศาสตร์ หรือแนวทางของการพัฒนาในการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง เดินไปสู่ความสำเร็จ
 
ผมเองขอย้ำว่า สภาที่ปรึกษาฯ มีความจำเป็นอย่างยิ่งกับสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเชื่อว่าสภาที่ปรึกษาฯ เป็นหนึ่งในทางออก หรือเหมือนแสงสว่างของการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น