xs
xsm
sm
md
lg

9 ปียังไร้ทางดับไฟใต้ “สภาที่ปรึกษาฯ” แค่สอบผ่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มุมมองภาคประชาชนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญด้านสังคม เศรษฐกิจ ปัตตานียังไกลปืนเที่ยง 9 ปีการแก้ปัญหาไฟใต้ยังไม่ตรงเป้า ไร้หนทาง ประชาชนเรียกร้องแก้เรื่องการสูญเสีย เหตุรุนแรง ด้านสภาที่ปรึกษาฯ สร้างความเชื่อมั่น 1 ปี ถือว่าสอบผ่าน ดึงประชาชนมีส่วนร่วมมุ่งเป้าสู่การพัฒนา

เวลา 13.30 น.วันนี้ (28 มิ.ย.) ที่โรงแรมปาควิว รีสอร์ท ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ศอ.บต. จัดงาน 1 ปี สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อประชาชน โดยเปิดเวทีเสวนา “มุมมองภาคประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ในโอกาสครบรอบ 1 ปี สภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อประชาชน โดยมี ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภา อ.ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายศิริชัย ปิติเจริญ อดีตประธานหอการค้า จ.ปัตตานี และนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย นายจอม เพ็ชรประดับ โดยมีสมาชิกที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาชนเข้าร่วมรับฟัง และเสนอความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

อ.ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงเรื่องความปลอดภัยแนวคิดในการแก้ปัญหาการรักษาเรื่องความปลอดภัย ความมั่นใจแก่ประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า อยากจะให้ข้อคิดสั้นๆ กับเรื่องใหญ่ๆ ที่เกิดมาร่วม 9 ปีแล้ว ประการแรก คือ ศอ.บต.ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรง สภาที่ปรึกษาฯ ตั้งขึ้นมาเพื่อระดมความมีส่วนร่วมที่จะช่วยกันแก้ปัญหาผลกระทบและความรุนแรง ณ วันนี้ สภาที่ปรึกษาฯ ได้ปฏิบัติภารกิจแล้วหรือยัง ถ้ายังต้องรีบกลับไปทำอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อจะได้นำไปสู่การยุติปัญหาความรุนแรง จุดมุ่งหมายคือ การลดเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ถ้ายังไม่ทำเรืองนี้แสดว่าสภาที่ปรึกษาฯ ยังทำไม่ตรงเป้า

เราต้องมองปัญหาให้ทะลุว่า ตัวปฏิบัติการ หรือผู้ก่อปัญหาความรุนแรงคือใคร ทั้งหมด 9 ปีที่ผ่านมา เราแก้ปัญหาไม่ตรงจุด งบประมาณหมดไปแล้ว กว่า 4 แสนล้านบาท สภาที่ปรึกษาฯ ถ้าตอบโจทย์ความรุนแรงไม่ได้แสดงว่าการทำงานที่ผ่านมา 1 ปีไม่ผ่าน สภาที่ปรึกษาฯ ได้กลั่นกรองปรึกษา ศอ.บต.ตอบโจทย์ความรุนแรงได้หรือไม่ ผู้ได้รับผลกระทบ 14,000 กว่าคน ฝากความหวังไว้ที่ สภาที่ปรึกษาฯ ไม่ต้องเกรงใจผู้บริหารระดับสูง เพราะพวกเราต้องกำหนดทิศทางให้ท่านเหล่านั้น 9 ปีที่ผ่านมา มันจะแก้ปัญหาความรุนแรงไม่ได้ เพราะเราไม่มีวิธีที่จะแก้ปัญหา หรือตอบโจทย์ความรุนแรง

ปัญหาแรกคือปัญหาความรุนแรงที่ต้องแก้ก่อน ปัญหาที่สองที่รองลงมา คือเรื่องการศึกษา ความคิดไม่เป็นเอกภาพ ปัญหาที่สามคือ ปัญหาเสริมซึ่งเป็นกลุ่มปัญหาที่ทำให้ระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือลดลง ณ วันนี้ ประเทศไทยอ่อนด้านความมั่นคง 9 ปี กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ความรุนแรงลดลงเพียงจำนวนครั้ง แต่คนตาย คนบาดเจ็บ มีทุกวันเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาควรจะมีการแก้ไขใหม่

“ต้นตอจริงๆ ของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความเป็นธรรม หรือไม่เป็นธรรม แต่ยังคงเป็นเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน ต้นตอเริ่มมาตั้งแต่รัฐสยามมาตีประเทศไทย เพื่อเอาเอกราชรัฐปัตตานีคืนมา จึงฝากวิธีแก้เรื่องนี้กับสภาที่ปรึกษาฯ ที่กำลังจะทำงานเชิงรุกอย่างจริงจัง”

ทางด้านสังคม ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เราพยายามที่จะแยกการทำงาน โดย ศอ.บต.ทำงานให้สังคมมีความมั่นคง ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนที่จะให้มีหน่วยงานนี้ขึ้นมา พ.ร.บ.ศอ.บต.ต้องการให้มีความแกร่งทางสังคม โครงสร้างของสังคมที่นี่ การเป็นสังคมส่วนใหญ่ในพื้นที่ เราคาดหวังว่าสภาที่ปรึกษาฯ กฎหมาย พ.ร.บ.ศอ.บต.จะดำเนินได้จะมีการสนองตอบ งานหลายอย่าง ที่ทำไปก็ตอบโจทย์ได้พอสมควร 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่า สภาที่ปรึกษาฯ สอบผ่าน และจะมีการประเมินโดยประชาชน ความมั่นคงที่กระจายออกไปโดยประชาชนก็จะดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ ศอ.บต.ต้องทำไปอย่างต่อเนื่อง สังคม 5 จชต.พร้อมที่จะมีการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงความคิดของกันและกัน มุ่งเป้าสู่การพัฒนา ไม่มีใครเห็นด้วยกับการกระทำที่ใช้ความรุนแรง ประเทศเราเป็นประเทศที่ค่อนข้างล้าหลังต่อเรื่องนี้ สังคมนี้เราต้องพึ่งพากัน ทางสายกลางคือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดีที่สุดในโลก

นายศิริชัย ปิติเจริญ อดีตประธานหอการค้า จ.ปัตตานี กล่าวเรื่องด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ว่า เราต้องเริ่มดูตั้งแต่สถิติโลก และระดับประเทศจึงจะโฟกัสลงมาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคเศรษฐกิจระดับประเทศจะมีผลกระทบ สิ่งที่ประเทศไทยกังวล คือ เรื่องการชุมนุมที่ทำให้เกิดความรุนแรง ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและมีผลต่อ 5 จชต. ภาคเศรษฐกิจมีผลกระทบเป็นพื้นฐานคิดง่ายๆ ที่ไหนมีอันตรายไม่มีใครอยากอยู่ นักธุรกิจที่มาจากที่อื่นย้ายกลับถิ่นฐานตัวเองไปพอสมควร ในอดีตตั้งเกิดเหตุการณ์ภาคเศรษฐกิจของพื้นที่ตรงนี้กระทบแน่นอน ซึ่งที่จะทำให้ดำรงอยู่ได้ คือ ภาครัฐต้องเข้ามาช่วย และรัฐต้องสนับสนุนเรื่องงบประมาณไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม โดยเน้นในเรื่องแจก คือ การทุ่มงบในโครงการต่างๆ

ปัจจุบัน ภาคเศรษฐกิจในพื้นที่ตรงนี้สามารถทรงตัวอยู่ได้ ไม่ได้หมายความว่าดีขึ้น แต่มันลดระดับลงมา โดยการปรับตัวเองให้สามารถดำรงอยู่ได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ใน จ.ปัตตานีขณะนี้ ก็เริ่มมีการลงทุนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นคนในพื้นที่ ยังไม่มีคนนอกพื้นที่กล้าเข้ามาลงทุน

สิ่งที่จะทำให้ภาคเศรษฐกิจที่นี่เจริญเติบโตขึ้นได้ รัฐจะต้องสร้างความเจริญที่นี่ อย่ากลัวว่าที่นี่จะเจริญเติบโต ที่ผ่านมา รัฐให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่นี่ช้ามาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถนนหนทาง ที่ยังคงพัฒนาหลังสุด เกือบเป็นจังหวัดสุดท้าย จ.ปัตตานียังคงเป็นจังหวัดที่ไกลปืนเที่ยงอยู่นั่นเอง

ด้าน นายไชชยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สังคมในพื้นที่คาดหวัง สภาที่ปรึกษาฯ ไว้สูงมาก หลายเรื่องวันนี้ สภาที่ปรึกษาฯ สานต่อจากทีมงานชุดเก่า เรามีวิสัยทัศน์คือ “สภาที่ปรึกษาเพื่อประชาชน นำสันติสู่สุขชายแดนใต้” เรามีหน้าที่ตรวจสอบโครงการทุกๆ โครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ นำเรื่องทั้งหมดเข้าสู่สภาที่ปรึกษาฯ และเสนอให้ เลขา ศอ.บต.ตรวจสอบเจ้าหน้าที่เหล่านั้น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป แต่วิธีการแก้ปัญหาความไม่สงบในขณะนี้ เราไม่ได้แก้ปัญหาตรงใจกลาง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการตายรายวันในพื้นที่ ต่อเรื่องนี้เราจะแก้ปัญหาอย่างไร

“ในการแก้ปัญหาความไม่สงบก็แก้ไป แต่ในมิติของการศึกษา วัฒนธรรม ศาสนา สังคม ความยุติธรรม การพัฒนาต้องขับเคลื่อนควบคู่กันไป วันนี้สิ่งที่พอจะจับต้องได้ของสภาที่ปรึกษาฯ มีอะไรบ้าง และสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ การให้วันตรุษจีนเป็นวันหยุดราชการ สร้างความพอใจให้แก่พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นอย่างยิ่ง นี่คือ การแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียม” 

อีกเรื่องที่สำคัญคือ การเรียกร้องของผู้ถูกคุมขัง เรื่องการแต่งกาย เรื่องอาหาร เป็นไปตามหลักศาสนาที่ต้องการ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้รากเหง้าทั้งหมดเกิดจากความไม่เป็นธรรม ความเชื่อเหล่านี้คือ ความรุนแรง สำหรับพี่น้องอิสลามที่เรียกร้องกันมาเนิ่นนานต่อเรื่องกฎหมายมรดก วันนี้ สภาที่ปรึกษาฯ ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ และอยู่ระหว่างนำเข้าสภา วันนี้ เราได้พยายามทำทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ถูกสะท้อนมาจากประชาชนในพื้นที่ทั้งนั้น

จากนั้น ทางเวทีเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ต่อสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งมีทั้งเครือข่ายสตรี ข้าราชการ นักศึกษา รวมถึงผู้นำศาสนาในพื้นที่ มีการเสนอให้สภาที่ปรึกษาฯ ผลักดันอีก 12 อำเภอของสงขลา รวมถึง จ.สตูล เป็นพื้นที่ปกครองพิเศษ เช่นเดียวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสิ่งสำคัญที่ฝากถึงสภาที่ปรึกษาฯ เร่งแก้ไขคือ ปัญหาในเรื่องของการสูญเสีย หรือเหตุระเบิด และเหตุสร้างสถานการณ์รายวัน ยังคงดำเนินการไปเรื่อยๆ ณ ตอนนี้ เรามีสภาที่ปรึกษาฯ แล้วที่ผ่านมา 9 ปี ในการแก้ปัญหา เหตุการณ์ยังไม่จบสิ้น ประชาชนมีความคาดหวังกับสภาที่ปรึกษาฯ มันน่าจะมีนวัฒกรรมใหม่เกิดขึ้น จะทำยังไงให้ประชาชนได้รู้สึกว่า มี ศอ.บต.แล้วอุ่นใจ ทุกข้อเสนอที่ประชาชนได้นำเสนอมา ทางสภาที่ปรึกษาฯ จะนำไปดำเนินการ และประกอบการหาแนวทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น