xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันพระปกเกล้าชู “สันติธานีโมเดล” เข้าถึงวิถีชุมชนแก้ปัญหาชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สถาบันพระปกเกล้าชู “สันติธานีโมเดล” แก้ปัญหาชายแดนใต้ด้วยการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น เพิ่มล่ามภาษามลายูใน รพ. และสถานีตำรวจเพื่อแก้ปัญหาความเข้าใจไม่ตรงกัน ตั้งผู้รู้ด้านศาสนาเป็นที่ปรึกษา ผ.อ. โรงเรียน และดึงภูมิปัญญาท้องถิ่นประยุกต์ให้สอดคล้องกับทรัพยากรชุมชน

วันนี้ (28 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมพิมมาดา 1-2 โรงแรมปาร์ควิวรีสอร์ทปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) จัดงานประชุมครบรอบ 1 ปี สภาที่ปรึกษาฯ เพื่อประชาชน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ และประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบบทบาทหน้าที่และการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาฯ ในรอบ 1 ปี รวมทั้งเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวร่วมเปิดวงเสวนา

โดยในเวทีเสวนาเรื่อง “มุมมองภาคประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ได้เสนอ “สันติธานีโมเดล” เป็นแนวคิดรวบยอดในการจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสาธารณสุข
พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาธิบาล สถาบันพระปกเกล้าฯ
พลเอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า จากการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และที่มาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าเอกสารไม่เพียงพอ จึงต้องลงพื้นที่เพื่อศึกษาเพิ่มเติม มีการพบปะและเชิญประชาชนในพื้นที่มาร่วมพูดคุยร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นใน ทั้งปัญหาที่เห็นในเชิงรูปธรรม และปัญหาเชิงนามธรรม เช่น ด้านจิตใจ และปัญหากดทับต่างๆ ก่อนนำมาสรุปรวมเป็น “สันติโมเดลธานี” ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น
นายสมปอง อินทร์ทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายสมปอง อินทร์ทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายปฏิรูปที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หนึ่งในคณะศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่น 2 กล่าวถึงผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า การส่งเสริมอาชีพหรือกระตุ้นเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ต้องพยายามดึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีแต่เดิมมาประยุกต์ใช้ในชุมชนให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ จึงจะเกิดเศรษฐกิจชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีท้องถิ่น ให้ชุมชนได้ผลิตเอง บริโภคเอง จากนั้นจึงส่งออกจำหน่ายนอกพื้นที่ เช่นนี้จะเป็นเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน ไม่ใช่มุ่งแต่จะนำสิ่งแปลกใหม่เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งบางครั้งก็เป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับชาวบ้าน
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ด้าน พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผุ้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข / ผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าปัญหาสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับด้านสาธารณสุขในพื้นที่ คือ อุปสรรคด้านภาษา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้ใช้ภาษามลายู แต่หน่วยงานสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล รวมทั้งบุคลลากรด้านการแพทย์ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เช่น ป้ายบอกทาง หรือฉลากยา เป็นต้น เมื่อป่วยไข้ชาวบ้านในพื้นที่จึงรู้สึกขยาดที่จะมาโรงพยาบาล ในพื้นที่นี้จึงพบปัญหาซ้ำเดิม เช่น อัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กสูง หรือแม้กระทั่งโรคบางโรคที่เคยหมดประเทศไทยไปแล้วก็กลับพบในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีปฏิบัติของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม หญิงสาวมุสลิมที่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ต้องการที่จะฝากครรภ์กับหมอที่เป็นผู้หญิง ทั้งยังระบุว่ายินดีที่จะให้โต๊ะบีแด (หมอตำแย) ทำคลอดที่บ้าน หรือดูแลจนกว่าจะคลอดมากกว่าที่จะมาโรงพยาบาล นั่นเพราะรู้สึกอุ่นใจกว่าที่จะอยู่ท่ามกลางญาติพี่น้องและได้รับการดูแลรักษาจากผู้ที่ใช้ภาษาเดียวกันซึ่งสื่อสารกันเข้าใจมากกว่า

ทั้งนี้สำหรับการแก้ปัญหาทางด้านภาษานั้น เมื่อปีที่ผ่านมา ศอ.บต. มีการจัดทำฉลากยา 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษามลายู ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี และน่าจะมีการส่งเสริมให้จัดทำป้ายบอกทางที่เพิ่มภาษามลายูหรือภาษาอังกฤษลงไปด้วยเช่นกัน ทั้งยังควรจัดให้มีล่ามที่เข้าใจทั้งภาษาไทยและภาษามลายูและมีความรู้ด้านการแพทย์ เพื่อสื่อสารระหว่างบุคลากรด้านการแพทย์และผู้ป่วยด้วย

ด้านการปฏิบัติศาสนกิจ ผู้ป่วยก็ต้องการให้โรงพยาบาลเอื้อต่อการปฏิบัติศาสนกิจ ตลอดจนธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ อาทิ สถานที่ละหมาด รถอาบน้ำละหมาดเคลื่อนที่ ครัวฮาลาล หรือแม้กระทั่งสถานที่ที่พ่อหรือผู้ใหญ่จะสามารถอาซานข้างหูทารกแรกเกิดเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของมุสลิมเมื่อมีทารกคลอดใหม่ ส่วนผู้ป่วยไทยพุทธระบุว่า อยากให้มีสถานที่ตักบาตร หิ้งพระเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ และครัวอาหารปกติ จึงสรุปได้ว่า โรงพยาบาลใน “สันติธานีโมเดล” นั้น ต้องมีการบริการที่เอื้อความสะดวกแก่ทุกศาสนิก รวมทั้งต้องเข้าใจปัญหาและวิถีปฏิบัติของผู้ป่วยแต่ละศาสนิกด้วย
นายไพศาล อาแซ ผอ.โรงเรียนดาราวิทย์ จ.ยะลา / ผช.เลขานุการสมาคมปัญญามุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขณะเดียวกัน นายไพศาล อาแซ ผู้อำนวยการโรงเรียนดาราวิทย์ จ.ยะลา / ผู้ช่วยเลขานุการ สมาคมปัญญาชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับปัญหาด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ในส่วนของโรงเรียนนั้นควรจะเน้นเรื่องอัตลักษณ์และพหุวัฒนธรรม ชาวบ้านในพื้นที่มองว่ารัฐไม่ได้จัดการศึกษาให้เขาอย่างเต็มที่ ชาวบ้านกลัวว่าอัตลักษณ์และวิถีมุสลิมจะถูกกลืนไปในโรงเรียนของรัฐ จึงนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพราะปัจจุบันยังใช้หลักสูตรการเรียนการสอนที่มาจากส่วนกลาง ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีปฏิบัติของชุมชน

ซึ่งขณะนี้บางโรงเรียนก็มีการปรับประยุกต์บ้างแล้ว แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยนั้นบางครั้งก็ยังไม่เข้าใจกันอย่างถ่องแท้ เช่น การให้นักเรียนมุสลิมแต่งชุดนางนพมาศร่วมงานวันลอยกระทงของโรงเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับวิถีปฏิบัติและความเชื่อของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของความเชื่อ และเปราะบาง ซึ่งอาจเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนได้ ทั้งนี้ ผู้บริหารโรงเรียนเองควรทำความเข้าใจกับวิถีชุมชนให้ถ่องแท้ ควรแต่งตั้งผู้รู้ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาอิสลามเป็นที่ปรึกษา เพื่อหารือร่วมกันในการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้แก่ผู้เรียน

โรงเรียนสันติธานี ควรเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ใครศาสนาไหนก็ปฏิบัติตนตารมศาสนานั้น ในขณะที่กลุ่มหนึ่งปฏิบัติศาสนกิจ ก็ควรจะให้ความรู้แก่เด็กในอีกศาสนาหนึ่งไปด้วย มิใช่บังคับทุกให้ละหมาด หรือบังคับทุกคนให้ร่วมกิจกรรมไหว้ครู กิจกรรมลอยกระทง อยู่ที่กระบวนจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเรียนรู้ศาสนาร่วมกันได้
นางสาวนารี เจริญผลพิริยะ หัวหน้าโครงการสันติอาสาสักขีพยาน มหาวิทยาลัยมหิดล
นางสาวนารี เจริญผลพิริยะ หัวหน้าโครงการสันติอาสาสักขีพยาน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในโรงเรียนของ “สันตานีโมเดล” จะมีวิชาสันติศึกษา คือการเรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกันท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม ทั้งศาสนาของตนเอง และศาสนาอื่นในบริบทของชุมชน นอกจากนี้ ยังเสนอแนวคิด “โรงพักต้นน้ำ” ซึ่งเป็นโมเดลในการบริการประชาชนในพื้นที่อย่างเท่าเทียม เพราะโรงพักเป็นสถานที่แรกที่เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น

โดย “โรงพักต้นน้ำ” ต้องยึดหลักที่สำคัญดังนี้คือ

1. หลักนิติธรรม ได้แก่ ปฏิบัติงานด้วยความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เสมอภาคกับทุกคนทุกศาสนา, หลักความโปร่งใส คือ การสามารถตรวจสอบการทำงานได้

2. หลักการมีส่วนร่วม ทั้งนี้ ในการปิดล้อมตรวจค้น หลายครั้งประชาชนบอกว่าเจ้าหน้าที่ค้นพบปืนในบ้านโดยที่ชาวบ้านเองก็ไม่รู้ว่าปืนมาจากไหน ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องให้ประชาชนได้ร่วมรับรู้ และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นในการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาและชุมชนด้วย

3. ต้องมีความรับผิดชอบ คือรับทั้งผิดและชอบ หากเจ้าหน้าที่ทำผิดจะต้องไม่ปกป้องกัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่น ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น

4. ต้องมีจริยธรรม

5. หลักการคุ้มค่า คือใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

6. หลักการเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งสำคัญมากที่สุด เช่น ในโรงพักมีห้องละหมาดสำหรับมุสลิม ก็ควรมีห้องสงบใจสำหรับชาวพุทธด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ควรมีเจ้าหน้าที่ที่พูดได้ทั้ง 2 ภาษา ซึ่งจำเป็นมากเนื่องจากในกระบวนการสอบสวน ถ้าฟังกันไม่รู้เรื่องสำนวนคดีก็จะพลิก ทั้งนี้ พบว่ามีผู้ต้องหาจำนวนไม่น้อยเซ็นต์ชื่อไปโดยที่ไม่ทราบว่าตำรวจเขียนว่าอะไรบ้าง จึงต้องมีล่ามอาชีพที่พูดภาษามลายูและพูดภาษาไทยได้ ต้องเข้าใจดีทั้ง 2 ภาษา เพราะอาจทำให้สิ่งต่างๆ เบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริงได้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงควรจะคลุมฮิญาบในเครื่องแบบได้เช่นกัน ทั้งนี้ โรงพักจะสันติได้ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายปกติเท่านั้น ไม่ใช่กฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับ กฎอัยการศึก

“สันติวิธี คือ การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางวิถีชีวิตและความเชื่อที่แตกต่าง เหมือนการที่ชาวพุทธรู้ดีว่าเอาสุราตั้งบนโต๊ะที่มีพระสงฆ์ร่วมอยู่ไม่ได้ เช่นเดียวกันชาวพุทธก็ไม่ควรเอาสุราตั้งบนโต๊ะที่มีพี่น้องมุสลิมร่วมอยู่ด้วย” หัวหน้าโครงการสันติอาสาสักขีพยาน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีผู้ร่วมรับฟังการเสวนาให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า รัฐควรส่งเสริมการเรียนการสอนตาดีกาของเด็กในพื้นที่ควบคู่ไปกับการส่งเสริมวิชาการในโรงเรียน สพฐ. หรือวิชาสามัญด้วย ซึ่งหากภาครัฐมีการส่งเสริมจริงจัง ชาวบ้านในพื้นที่ก็จะไว้วางใจโรงเรียนของรัฐมากยิ่งขึ้นด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น