xs
xsm
sm
md
lg

“สภาที่ปรึกษาฯ ไม่ใช่ยาวิเศษ..แต่จำเป็นสำหรับชายแดนใต้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สัมภาษณ์พิเศษ “อาซิส เบ็ญหาวัน” ในฐานะ “ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” องค์กรที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีของสภาที่ปรึกษาฯ ปัจจุบันอายุ 68 ปี นับถือศาสนาอิสลาม เป็นชาวชายแดนใต้ จบปริญญาตรี เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เป็นนักการเมืองท้องถิ่นมายาวนาน และเป็นนายก อบจ.ยะลาหลายสมัย

: ในฐานะลูกพื้นที่และยังทำหน้าที่ประธานสภาที่ปรึกษาฯ มองภาพปัญหาของแผ่นดินชายแดนใต้อย่างไร?

ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่หมักหมม เรื้อรัง ที่เกิดขึ้นมายาวนานก่อนที่ผมจะเกิดด้วยซ้ำ ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกรัฐบาลได้พยายามแก้ไขมาโดยตลอด เป็นการแก้ไขที่มีการลองผิด ลองถูก จนมีการเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนกับเอาประชาชนมาเป็นหนูทดลองยา เพราะแต่ละยุคแต่ละสมัย ผู้มีอำนาจและผู้เป็นรัฐบาลมีแนวคิดที่ไม่เหมือนกัน ไม่มีนโยบายที่ต่อเนื่อง จึงทำให้ปัญหาบางอย่างแก้ได้ บางอย่างแก้ไม่สำเร็จ และบางปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น

ทำให้ถ้ามองในภาพรวมจะเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง

: ถ้าปัญหาเป็นดังที่กล่าวมา แล้วท่านมองเห็นทางออกไหมว่าอยู่ตรงไหน?


ถ้าถามว่า ทางออกของการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร คงตอบว่า หนึ่ง-รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและปฏิบัติได้ สอง-ประชาชนและทุกองค์กรต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา สาม-ต้องมีการบูรณาการให้หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ก้าวเดินพร้อม เพื่อทำในสิ่งที่หน่วยงานนั้นๆ รับผิดชอบ ทั้งการแก้ปัญหาและการพัฒนา และ สี่-กองทัพต้องวางแผนเรื่องรักษาความสงบ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ได้ผล ในขณะที่ตำรวจต้องใช้หลักนิติรัฐ และฝ่ายปกครองต้องยึดหลักนิติธรรม เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น

: อยากให้ท่านมองสภาที่ปรึกษาฯ ระหว่างชุดนี้กับชุดที่ผ่านๆ มา?

ความเป็นมาของสภาที่ปรึกษาฯ ชุดที่แล้ว ซึ่งชื่อว่า ‘สภาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้’ มาจากการสรรหา ดังนั้น ลักษณะของผู้ที่ถูกสรรหามาเป็นสมาชิกสภาฯ จึงมีลักษณะโดดเด่นในเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เพียงแต่ใช่ใช่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน และไม่ได้มาจาก พ.ร.บ.ศอ.บต.(พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) แต่การทำหน้าที่ของทุกท่านที่ถูกสรรหา มาเป็นไปด้วยความเข็มแข็ง เสียสละ และให้คำปรึกษาที่มีประโยชน์ ต่อการแก้ปัญหาในทุกด้าน

ส่วนสมาชิกที่ปรึกษาฯ ชุดปัจจุบันมาจาก พ.ร.บ.ศอ.บต.มาจากการอาสารับสมัคร เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์เลือกๆ เข้ามา ซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชาชนแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อเข้ามาสะท้อนปัญหาในภาพรวม และในภาพของตัวแทนแต่ละสาขาอาชีพ เช่น ตัวแทนศาสนา ตัวแทนการศึกษา ตัวแทนฝ่ายเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูดีไปอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะครอบคลุมแต่ละสาขา แต่ละอาชีพ

แต่สุดท้ายคือ เป็นความต่างที่เหมือน เพราะทุกคนมีหน้าที่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น และให้คำปรึกษาต่อ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) หรือรวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ โดยมีจุดมั่งหมายที่เหมือนกัน นั่นคือ การต้องการเห็นความสงบสุขของพื้นที่ และเห็นความสันติสุขของประชาชน

: หันมามองสภาที่ปรึกษาฯ ชุดปัจจุบัน ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร และควรจะก้าวเดินไปอย่างไร?


ผมเชื่อมั่นว่า สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ทั้ง 49 ท่าน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง 44 ท่าน และมาจากการแต่งตั้งอีก 5 ท่าน เป็นผู้ที่มีศักยภาพในตัวแทน ซึ่งที่ผ่านมากว่า 1 ปี ก็ได้ทำหน้าที่ในการสะท้อนปัญหาของท้องถิ่น และให้คำปรึกษา คำชี้แนะ ให้กับ ศอ.บต. และหน่วยงานอื่นๆ เช่น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า) และ ศชต.(ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้) ในหลายๆ เรื่อง ซึ่งบางเรื่องอยู่ระหว่างการทำไปปฏิบัติ แต่หลายเรื่องได้มีการแก้ไขไปแล้ว
 
ส่วนทิศทางในอนาคต นั่นก็คือ การพัฒนาศักยภาพของสภาที่ปรึกษาฯ ให้มีองค์ความรู้ ความเข้าใจ ในด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน เพื่อให้แต่ละท่านมองปัญหาและสะท้อนปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน เพราะสภาพปัญหาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด รวมทั้งสภาพของสังคมที่ไม่หยุดอยู่กับที่ และมุมมองเรื่องของประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า ที่สภาที่ปรึกษาฯ ทุกท่านจะต้องรู้เท่าทัน เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ให้เกิดประโยชน์กับจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
: ขอถามท่านตรงๆ เลยละกัน สภาที่ปรึกษาฯ นี่จะช่วยแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้จริงหรือ?


ถ้าถามว่า ลึกๆ แล้วเชื่อมั่นว่าสภาที่ปรึกษาฯ จะช่วยคลี่คลายปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงหรือไม่นั่น ผมขอเรียนว่าสภาที่ปรึกษาฯ ไม่ใช่ยาวิเศษ เช่นเดียวกับ ศอ.บต.ก็ไม่ใช่หมอเทวดา ที่จะสามารถทำให้สถานการณ์เรื้อรังของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยุติลงได้ เพราะบทบาทของสภาที่ปรึกษาฯ เป็นเพียงคณะที่ให้คำปรึกษา แสดงความคิดเห็น และตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ศอ.บต.เท่านั้น เราไม่ใช่หน่วยงานที่ปฏิบัติ
 
แต่ถ้า ศอ.บต.หรือหน่วยงานอื่นๆ นำเอาการให้คำปรึกษา คำชี้แนะและความคิดเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ ไปทำอย่างจริงๆ จังๆ ก็จะทำให้เกิดทิศทางในการแก้ปัญหาที่ดี เพราะสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ แต่ละท่านมาจากภาคส่วนของประชาชนแต่ละสาขาอาชีพ จึงรู้และเข้าใจปัญหา และการแก้ปัญหาที่ตรงกับความต้องการของประชาชน
 
ส่วนสถานการณ์จะยุติได้ในเร็ววันหรือไม่ อยู่ที่หน่วยงานของรัฐ เช่น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อยู่ที่ ศอ.บต. อยู่ที่ ศชต. และหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ว่าจะขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ และอยู่ที่ยุทธวิธีที่ใช้ว่า เป็นยุทธวิธีที่มีประสิทธิภาพหรือไม่
 
: แสดงว่าเวลานี้สภาที่ปรึกษาฯ ยังมีความจำเป็น แล้วถ้าในอนาคตสถานการณ์ยุติยังจะจำเป็นอยู่หรือเปล่า?


ที่ถามว่า สภาที่ปรึกษาฯ ยังมีความจำเป็นต่อสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในเวลานี้และในอนาคตหรือไม่นั้น ผมขอตอบว่าการทำหน้าที่ของทุกองค์กร ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยคณะที่ปรึกษาทั้งสิ้น
 
ดังนั้น ไม่ว่าสถานการณ์การก่อการร้ายและความรุนแรงจะดำรงอยู่ หรือจะยุติลงแล้ว สภาที่ปรึกษาฯ ที่เป็นภาคส่วนที่เป็นตัวแทนของประชาชนยังมีความจำเป็น และมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากสภาที่ปรึกษาฯ มีหน้าที่ให้คำปรึกษา ชี้แนะ ทักท้วงและตรวจสอบ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญ และมีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น