xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พุทโธ่! ตั้ง “เพนตากอน” ดับไฟใต้ ที่แท้แก้ปัญหา “ปู” ไม่ทำงาน ยึดอำนาจ “ทวี สอดส่อง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ร่วมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถามว่า....นับจากเกิดเหตุในพื้นที่ใต้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โศกนาฏกรรมที่คนร้ายใช้รถกระบะประกบยิงจนทหารเสียชีวิตไปถึง 4 นายเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2555 ที่ปัตตานี ตามต่อด้วยเหตุ “คาร์บอมบ์” ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี ประชาชนคนไทยได้เห็นนโยบายอะไรที่เป็นรูปธรรมจากนายกรัฐมนตรีชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่คนเสื้อแดงเทคะแนนเสียงให้มาบริหารประเทศอย่างท่วมท้นบ้าง

แถมนับจาก 2 เหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังเกิดความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ไม่เว้นแต่ละวัน

อาทิ.....

5 ส.ค.55 เกิดเหตุคนร้ายใช้ปืนอาก้าบุกยิง ด.ต.อับดุลรอซะ ยูโซ๊ะ เสียชีวิตที่อำเภอยะรัง ปัตตานี และในวันเดียวกันก็เกิดเหตุที่ตากใบ จ.นราธิวาส โดยขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารลาดตระเวนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามปกติ คนร้ายก็กดระเบิดแสวงเครื่องประกอบในถังแก๊สหนักประมาณ 15 กิโลกรัม ส่งผลให้รถจี๊ปของทหารพังเสียหาย ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารปลอดภัยทุกนาย

6 ส.ค.55 เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่บริเวณหน้าธนาคารอิสลาม สาขารามัน เขตเทศบาลกายูบอเกาะ อ.รามัน จ.ยะลา มีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บรวม 6 นาย โดยแรงระเบิดทำให้ตัวอาคารของธนาคารได้รับความเสียหายอย่างหนัก

7 ส.ค.55 เกิดเหตุทหารสังกัดกองร้อยทหารม้า ที่ 6144 หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 21 จำนวน 9 นาย ปะทะกับคนร้ายบนถนนสายชนบท บ้านลูโบะบาลา จ.ปัตตานี โดยระหว่างที่ทหารชุดดังกล่าวกำลังเดินทางไปดูแลความปลอดภัยครู ปรากฏว่า เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ คนร้ายได้กดชนวนระเบิดแสวงเครื่อง น้ำหนักประมาณ 15 กก.ซุกใต้ถนน จนเกิดระเบิดขึ้นเสียงดังสนั่น เป็นเหตุให้รถเสียหลักตกข้าง และคนร้ายพยายามยิงซ้ำหมายที่จะเข้ามาสังหารหมู่เจ้าหน้าที่เพื่อขโมยอาวุธปืน แต่เจ้าหน้าที่ได้ยิงตอบโต้จนเกิดการยิงปะทะขึ้นประมาณ 5 นาที ก่อนที่คนร้ายจะล่าถอยหนีเข้าไปในป่า โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ 9 นาย
ฯลฯ

และที่งามหน้าที่สุดเห็นจะเป็นกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศ ทั้งเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์ ต่างพร้อมใจกันเสนอข่าวสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปทั่วโลกด้วยการระบุว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัยก่อเหตุร้ายคือ “กองกำลังติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน” หรือ “Separatist Militants” ทั้งที่ก่อนหน้านี้สำนักข่าวต่างประเทศระบุกลุ่มผู้ต้องสงสัยก่อเหตุรุนแรงเป็นเพียง “กลุ่มติดอาวุธ” หรือ “กลุ่มก่อการร้าย” เท่านั้น

นั่นแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ในพื้นที่ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ทว่า ในที่สุด หลังปรากฏความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่สังคมได้เห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหาก็อย่างเช่น แนวความคิดที่จะประกาศเคอร์ฟิว หรือห้ามผู้คนออกนอกเคหสถานยามวิกาลในบางพื้นที่ หรือแนวคิดเรื่องการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางทหารให้เป็นการรบแบบ “กองโจร” เพื่อเด็ดหัวแกนนำและกองกำลังติดอาวุธที่กลั่นออกมาจากมันสมองของ “พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี” หนึ่งในผู้ที่ทำให้เกิดการสังหารหมู่ที่กรือเซะ ซึ่งปัจจุบันรั้งตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และได้รับการสนับสนุนจาก “พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา” รองนายกรัฐมนตรี

ถามว่า ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศใช้แนวทางดังกล่าวของ พล.อ.พัลลภจริง สถานการณ์จะมิยิ่งรุนแรงไปกว่าเก่าอีกหรือ เพราะต้องไม่ลืมว่า นโยบายดังกล่าวคือนโยบายตาต่อตาฟันต่อฟัน ซึ่งแนวทางในลักษณะดังกล่าวเคยถูกใช้ในช่วงรัฐบาลทักษิณมาแล้ว และนั่นคือชนวนที่ทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น

หรือการมอบหมายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ให้ 3 รองนายกรัฐมนตรีคือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐและ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง บูรณาการในการแก้ปัญหาร่วมกัน อันก่อให้เกิดแนวคิดอันบรรเจิดของในเรื่องการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศปก.จชต.) ขึ้นในกรุงเทพมหานคร หรือที่รู้จักกันในชื่อ "เพนตากอน 2"

กรณีเพนตากอน 2 ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่มีนายกฯ เป็นประธานเรียบร้อยแล้วนั้นได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายว่าเป็นแนวคิดใหม่หรือเป็นแนวคิดที่ถอยหลังเข้าคลอง เพราะนั่นคือการตั้งหน่วยงานขึ้นมาอีกหน่วยงานหนึ่งเพื่อเป็นหน่วยงานระดับนโยบายเพื่อบูรณาการ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานให้ทำกันด้วยกันอย่างมีเอกภาพ

7 สิงหาคม 2555 ภายหลังจากประชุมคณะรัฐมนตรี

น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้เหตุผลถึงการตั้ง "ศูนย์แก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้" ที่กรุงเทพมหานครว่า เพื่อประสานการทำงานให้เป็นเอกภาพเช่นเดียวกับการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งยุทธศาสตร์ยังคงเหมือนเดิม และมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับการมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เข้ามารับผิดชอบเพิ่มเติม และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ เข้ามารับผิดชอบเกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายกระทรวง และความร่วมจากหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ทั้ง ศอ.บต., กอ.รมน. และกองทัพภาคที่ 4 รวบรวมข้อมูลกันมายังส่วนกลาง เพื่อความเป็นเอกภาพและรวดเร็ว

ขณะที่ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ได้วิเคราะห์แนวคิดดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ....

“แหล่งข่าวระดับสูงจาก ศอ.บต.ที่เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาโครงสร้างการบริหารงานในภารกิจดับไฟใต้ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลทุกชุดได้ออกแบบและปรับปรุงโครงสร้างองค์กรการบริหารมาแล้วไม่ต่ำ กว่า 8 ครั้ง 8 องค์กร โดยให้น้ำหนักแตกต่างกันไป บ้างก็เน้นภารกิจด้าน ความ มั่นคง บ้างก็เน้นภารกิจด้านการพัฒนา แต่เหตุรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่จังหวะและโอกาสของผู้ก่อเหตุรุนแรง”

“ฉะนั้น หากวิเคราะห์ในมุมนี้ ก็สามารถสรุปได้ว่า โครงสร้างการบริหารงานไม่ว่ารูปแบบใด ไม่มีผลต่อทัศนะของผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ได้อย่างยั่งยืนคือการลดเงื่อนไขที่หล่อเลี้ยงขบวนการก่อความไม่สงบ นั่นคือการให้ความเป็นธรรม การแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดและการค้าของผิดกฎหมาย โต๊ะพนันฟุตบอล การศึกษาและการพัฒนาให้ความเท่าเทียมกับภูมิภาคอื่น รวมทั้งมาเลเซีย”

ทั้งนี้ ถ้าหากวิเคราะห์ข้อเขียนของศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศราก็จะพบสัจธรรมที่สำคัญยิ่งว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลทุกรัฐบาล นับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ซึ่งเป็นผู้จุดชนวนปัญหาให้ลุกลามบานปลายออกไปกระทั่งถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่วันๆ เอาแต่เฉิดฉายเดินไปมาโดยที่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร นโยบายของรัฐไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มากมาย เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบ แต่ผลงานไม่เป็นที่ประจักษ์ว่าสามารถแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้

ดังนั้น การแก้ปัญหาด้วยการตั้งเพนตากอน 2 น่าจะไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริง

เฉกเช่นเดียวกับ สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ออกแถลงการณ์คัดค้านด้วยเหตุผลที่ชัดเจน 4 ประการคือ

1.นโยบายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม การรับฟัง และสะท้อนความเห็นจากภาคประชาชนกับภาครัฐ โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ และเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยได้แยกงานระหว่างฝ่ายความมั่นคงที่มี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 กับงานด้านการพัฒนาฝ่ายผลเรือน ที่มี พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ไว้อย่างชัดเจน และดำเนินยุทธศาสตร์สอดคล้องกับนโยบายการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคณะรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎรรับทราบแล้ว จึงเห็นว่า รัฐบาลควรบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว

2.ไม่เห็นด้วยในการมอบหมายให้แม่ทัพภาค 4 เป็นผู้กำกับดูแลกิจการในพื้นที่ครอบคลุมไปถึงกิจการฝ่ายผลเรือน และการอำนวยความยุติธรรม โดยแยกงานการพัฒนา และความมั่นคงออกจากกัน เห็นว่า ภารกิจของกองทัพมีมากอยู่แล้ว ควรเน้นการรักษาอธิปไตย และรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐให้มากยิ่งขึ้น

3.คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 น่าจะเป็นศูนย์ปฏิบัติการที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจะต้องผลักดันให้กระทรวงต่างๆ มีความเข้มแข็ง ทั้งกำลังคน และงบประมาณ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาความสงบภายใน รวมทั้งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประกอบกับ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มีเจตนารมณ์หลักในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมการแก้ปัญหา จึงควรรับฟังเสียงจากประชาชนเจ้าของพื้นที่ ไม่ใช่เป็นการพิจารณา และสั่งการมาจากส่วนกลางอย่างเดียว

4.ในกรณีมีการกล่าวอ้าง ว่า การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมี พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติซ้ำซ้อนกันอยู่ ขอเรียน ว่า พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาอย่างกว้างขวาง และผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามาแล้ว เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่ได้ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติ เนื่องจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติ รับผิดชอบในด้านการดูแลรักษาความสงบ และอธิปไตยของชาติ ส่วน พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ รับผิดชอบเรื่องการเมือง การปกครอง และการพัฒนา จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในทางกลับกัน ยังเป็นการหนุนเสริม พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติอีกด้วย อีกทั้งประชาชนค่อนข้างพึงพอใจกับการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึงจำเป็นที่จะต้องตั้งเพนตากอน 2 ขึ้นมาเพิ่มเติมอีกหน่วยงานหนึ่งด้วยข้ออ้างในเรื่องของความเป็นเอกภาพ

เพราะในความเป็นจริงแล้ว ด้วยโครงสร้างในปัจจุบันทั้ง กอ.รมน.และ ศอ.บต.ก็มีนายกรัฐมนตรีชื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นประธานซึ่งมีอำนาจการบังคับบัญชาสูงสุดโดยตำแหน่งอยู่แล้ว

หรือเป็นเพราะที่ผ่านมานายกฯ นกแก้วเธอมิได้ทำอะไรเลยในเก้าอี้ดังกล่าวจึงทำให้จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อให้หน่วยงานระดับปฏิบัติสามารถทำงานได้เช่นนั้นหรือ?

และถ้าหากโครงสร้างใหม่นี้เป็นผลมาจากปัญหาเรื่องอำนาจสั่งการ กระทั่งทำให้ต้องแก้ไขด้วยการให้ศอ.บต.กลับมาอยู่ใต้ร่ม กอ.รมน. นั่นย่อมหมายถึงว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เลขาธิการ ศอ.บต.ที่ชื่อ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” มีปัญหาเฉกเช่นเดียวกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ใช่หรือไม่ ซึ่งคำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์คงไม่เดินหน้าตั้ง ศปก.จชต.ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ ถ้าหากตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังแล้วก็จะพบว่า ความจริงแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ฝ่ายกองทัพในนาม กอ.รมน.เสนอให้ปรับรื้อโครงสร้างอำนาจการบริหารราชการในพื้นที่ชายแดนใต้มาตั้งแต่ตั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใหม่ๆ ในปี 2554 เนื่องจากตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่มักเรียกกันว่า พ.ร.บ.ศอ.บต. ซึ่งมีผลบังคับใช้ช่วงปลายปี 2553 ได้ยกระดับองค์กรเฉพาะกิจฝ่ายพลเรือนคือ ศอ.บต.ที่เคยห้อยไว้กับกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นองค์กรถาวรตามกฎหมายใหม่ขึ้นต่อสำนักนายกรัฐมนตรี มีที่ทำการและบุคคลกรเป็นของตนเอง อีกทั้งให้มีผู้กำกับดูแลโดยตรงคือ เลขาธิการ ศอ.บต.เป็นถึงข้าราชการระดับ 11 เทียบเท่าปลัดกระทรวง

ปรากฏว่า ศอ.บต.ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายใหม่เกิดไปทับตาปลา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งผู้ที่นั่งกุมบังเหียนอยู่คือ แม่ทัพภาคที่ 4 เพราะนับเนื่องจากไฟใต้ระลอกใหม่ปะทุขึ้นจากฝีมือระบอบทักษิณช่วงต้นปี 2547 ปรากฏว่าทหารได้กลับเข้ามาควบคุมพื้นที่ชายแดนใต้ได้อย่างแทบจะเบ็ดเสร็จ โดยจากที่พื้นที่ชายแดนใต้เคยใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” พอสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษัณ ชินวัตร ที่จุดไฟใต้ให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้งก็ยอมจำนนกลับหัวกลับหางเปลี่ยนให้ไปใช้นโยบาย “การทหารนำการเมือง” แล้วตกทอดมาจากเดี๋ยวนี้

เหตุผลที่ กอ.รอม.เสนอให้ตั้ง ศปก.จชต.ขึ้นมาใหม่ ลึกๆ แล้วสามารถอธิบายได้ว่า เมื่อ ศอ.บต.กลับฟื้นขึ้นมาใหญ่แล้วมีถึง ซี 11 นั่งแท่นดูแลอยู่แบบมีกฎหมายรองรับ และที่สำคัญคือยังตั้งฐานที่มั่นอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ จึงไปข่มหน่วยงานอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ต้องการสยายปีกคลุมทั้งพื้นที่ ซึ่งการที่มีคำว่า “ส่วนหน้า” ห้อยท้ายทำให้เป็นหน่วยงานที่ด้อยกว่า แถมระดับของ “แม่ทัพภาคที่ 4” ก็น่าจะเทียบเคียงได้แค่ระดับประมาณ ซี 9 เท่านั้น

เมื่อยกเลิกหน่วยงานฝ่ายพลเรือนอย่าง ศอ.บต.ไม่ได้ เพราะมีกฎหมายหลักรองรับ จึงเสนอให้ย้ายฐานไปตั้งที่มั่นในกรุงเทพฯ แล้วให้ เลขาธิการ ศอ.บต.ก็ประจำอยู่ที่นั่นด้วย ส่วนในพื้นที่ชายแดนใต้ให้ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาทดแทนอาจจะเป็น “ศอ.บต.ส่วนหน้า” หรือเป็น “ศอ.บต.ส่วนแยก” ก็ได้ แล้วให้ผู้มานั่งแท่นดูแลก็ลดระดับลงเหลือเพียงไม่เกิด ซี 9 เพื่อให้ง่ายต่อการที่ฝ่ายกองทัพจะกางปีกควบคุม
มีข้อที่น่าสังเกตว่า ภายหลังการประชุมวันนั้น แม้ระดับบิ๊กๆ จะเรียงหน้าสลับกันแถลงต่อผู้สื่อข่าว แต่ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับมอบหมายให้แจกแจงในเรื่องนี้โดยตรงก็คือ พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบท ซึ่งว่ากันว่าน่าจะได้รับการผลักดันให้นั่งควบในตำแหน่งเลขา ศปก.จชต.เป็นคนแรกนั่นเอง

มีรายงานข่าวที่น่าสนใจเปิดเผยว่า ภายหลังที่รัฐบาลไฟเขียวให้ตั้ง ศปก.จชต.ขึ้นมาใหม่ ขณะนี้มีสมาชิกสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.กลุ่มหนึ่งกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อหาช่องทางในการฟ้องศาลปกครองแล้วว่า การตั้งองค์กรไฟใต้ใหม่ครั้งนี้จะเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ศอ.บต.หรือไม่

ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าวิตกกังวลไม่แพ้กันก็คือ การปล่อยให้กองทัพขับเดินหน้าเคลื่อนในเรื่องนี้ต่อไป จนสามารถรวมศูนย์อำนาจบริหารจัดการไฟใต้ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถึงวันนั้นก็น่าจะไม่ต่างอะไรจากการปล่อยให้ทำรัฐประหารไฟใต้ได้สำเร็จนั่นเอง

แต่จะอย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้ว คงต้องยอมรับความจริงกันว่า ถึงตรงนี้การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ห่างไกลจากคำว่าประสบความสำเร็จมากขึ้นทุกที เพราะนับแต่รัฐบาลทักษิณเรื่อยมาจนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สถานการณ์ก็มิเคยมีทีท่าว่าจะสงบลง เจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านที่บริสุทธิ์ยังคงตกเป็นเป้าสังหารไม่เว้นแต่ละวัน

ใช่เป็นเพราะรัฐบาลมิได้สนใจที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจังและจริงใจ

ใช่เป็นเพราะปัญหามีความซับซ้อนกันระหว่างขบวนการแบ่งแยกดินแดน ขบวนการค้าของผิดกฎหมายในพื้นที่ ที่รวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อมุ่งหวังให้ดินแดนภาคใต้เป็นดินแดนแห่งความมืดมิด ไม่ให้ใครเข้าไปแตะต้องได้และเกิดประโยชน์ต่อคนกลุ่มหนึ่ง ผสมรวมกับหน่วยงานบางหน่วยงานต้องการ “เลี้ยงไข้” เพื่อฝันอร่อยกับตัวเลขงบประมาณก้อนมหึมหาที่ได้รับ และพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่ทำให้ชาวบ้านเลือกที่จะยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามมากกว่ายืนอยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล

ไม่เช่นนั้นแล้ว เวลา 8 ปีที่ผ่านมาน่าจะเห็นดอกผลจากการส่งเจ้าหน้าที่นับแสนคนลงไปในพื้นที่และงบประมาณหลายแสนล้านบาทที่ถูกใช้ในการแก้ปัญหากันบ้างไม่มากก็น้อย

มิใช่ยิ่งนานวันยิ่งเห็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนแห่งนครรัฐปัตตานีเติบใหญ่และทรงอานุภาพมากยิ่งขึ้น

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงสถานการณ์ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสถานการณ์จนถึงตอนนี้ค่อนข้างจะรุนแรง พระองค์ท่านก็ยิ่งเป็นห่วง สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ขอให้ไปถามรัฐบาลเพราะปัญหาสลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทบวง กรม การแก้ปัญหาต้องเข้าไปแก้ไขบูรณาการความคิดและด้านกำลังและแนวทางทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียว จุดนี้อาจจะพูดง่าย แต่ต้องทำให้ได้ ส่วนผมจะช่วยในส่วนที่รับผิดชอบ”

คำกล่าวของ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา สะท้อนความจริงของปัญหาได้อย่างตรงไปตรงไป และน่าจะทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับรู้ถึงสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนเองต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นบ้าง
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น