xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ยันปัญหาไฟใต้ไม่ใช้เคอร์ฟิว วอนสื่ออย่าทำตื่นตระหนก-สั่งจัดเซฟตี้โซน 13 จุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
นายกฯ ยืนยันยังไม่ใช้เคอร์ฟิวดับไฟใต้ บอกไม่ใช่การแก้ไขปัญหา อ้างรัฐบาลไม่ประมาท วอนสื่อเสนอข่าวอย่าทำประชาชนกังวล ขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ลงไปทำงาน “วิเชียร” เผย เน้นจัด 13 จุดเซฟตี้โซน-ติดวงจรปิดส่องรถต้องสงสัย “สุรพงษ์” ชี้ ต้องขอความร่วมมือมาเลเซีย อ้างมีข้อมูล ส่วนปลัด กต.เผย กลุ่มโจรต้องการยกระดับสู่สากล ทั้งเวทีโอไอซี และยูเอ็น เพิ่มความชอบธรรมให้ ด้าน ผอ.ข่าวกรองฯ งงข่าว “เฉลิม” ปูด 40 โจรใต้ขอมอบตัว

วันนี้ (8 ส.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ห้อง 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ กระทรวง หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงเข้าร่วมประชุม

จนกระทั่งในเวลา 16.30 น.นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุม กปต.ที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่สิ่งที่ได้มีการหารือเพิ่มเติม คือ การทำความเข้าใจร่วมกันถึงรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้มีความเข้าใจบนพื้นฐานเดียวกัน และสืบเนื่องมาจากหารือเบื้องต้นเรื่องกรอบ 9 ยุทธศาสตร์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ได้มีการหารือกันไว้ และรวมถึงแผนปฏิบัติการทั้งหมด ได้มาทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดลำดับความสำคัญ และเร่งดำเนินการ พร้อมจัดทำงบประมาณลงไป โดยเฉพาะในส่วนของการดูแลความปลอดภัยหมด

ทั้งนี้ ในส่วนของการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็อยู่ภายใต้การบัญชาการของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ อยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการซ้ำซ้อน โดยเจ้าหน้าที่รับผิดชอบทำงานภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่จะได้มาคือความเป็นเอกภาพในการทำงาน ต้องเรียนกับประชาชนว่า การทำงานในเรื่องของการแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลา ต้องเข้าใจ และวิเคราะห์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทั้งหมดแล้วจะต้องมาแก้ไขปัญหาให้เสร็จทั้งหมด และไม่ได้หมายความว่า เราจะมาทบทวนแผน แต่สิ่งที่เราทำ คือ งานทั้งหมดที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดภาคใต้ ประกอบไปด้วยหลายหน่วยงานจริงๆ ประกอบด้วย 17 กระทรวง 76 หน่วยงาน

ดังนั้น การบูรณาการอย่างเป็นระบบ มีความต้องการเป็นอย่างมาก และคณะกรรมการการทำงานชุดนี้จะทำงานเป็นส่วนสนับสนุนไปยังพื้นที่ เพราะบางครั้งพื้นที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ ต้องการความช่วยเหลือก็ต้องได้รับการบูรณาการจากกระทรวงในการที่จะไปดูแลอย่างเต็มที่ ดังนั้นเราไม่ลืมในการที่จะดูแลเรื่องความมั่นคงต่างๆ ที่จะต้องพยายามทำอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันงานพัฒนา การสร้างความเข้าใจ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และจะได้ร่วมกันติดตามแก้ไขปัญหา และการทำงานเพื่อที่จะให้เกิดสันติสุขให้เร็วที่สุด

เมื่อถามว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาประกาศใช้กฎหมายเคอร์ฟิวในพื้นที่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มี อย่างที่เรียนว่า สิ่งต่างๆ เราไม่ได้พิจารณาตรงนั้น ในส่วนของเคอร์ฟิวเราดู แต่ต้องดูในสถานการณ์ต่างๆ ด้วย “การใช้ตรงนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะแก้ไขปัญหา เราต้องทำความเข้าใจก่อน” เมื่อถามต่อว่า มีแนวทางอย่างไร ที่จะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงลดลง นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องขอความกรุณาสื่อมวลชน ว่า บางครั้งเหตุการณ์ต่างๆ มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก็ขอความกรุณา เราเองก็ไม่ได้ประมาท แต่ความตกใจมากจะทำให้พี่น้องประชาชนเป็นกังวล นี้ก็เป็นความห่วงใย บางครั้งเรื่องของความมั่นคงไม่สามารถแถลงลงในรายละเอียดได้ ก็ขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ลงไปทำงาน และขอกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ลงไปทำงานในพื้นที่ด้วย และกำลังใจต่อพี่น้องประชาชน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ เพราะเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านจะมีการขอความร่วมมืออย่างไรบ้าง นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วประเทศเพื่อนบ้านได้มีการขอความร่วมมือเรื่องของแนวชายแดนอยู่แล้ว การเข้าออกต่างๆ เป็นเรื่องที่เราทำอยู่แล้ว เรื่องพิเศษไม่มี

ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พร้อมนายทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุม โดย พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า ในระหว่างการประชุม นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้เน้นย้ำว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาเพื่อต่อยอดนโยบาย ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องให้นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมก่อนเกิดเหตุ มีระบบเตือนภัยที่มีข้อมูลชัดเจน มีการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุโดยมีขั้นตอนปฏิบัติชัดเจน พร้อมกับสร้างความเข้าใจลดความหวาดระแวงต่อกัน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจ สบายใจ ขณtที่ต้องการให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานและการลงทุน

พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการจัดให้มีเขตรักษาความปลอดภัย (Safety Zone) เป็นการเฉพาะใน 13 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ชุมชนสาธารณะ และพื้นที่ที่มีสถานการณ์และเหตุการณ์ความรุนแรงบ่อยครั้ง รวมทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ครอบคลุมทุกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดให้ตั้งด่านตรวจที่ ต.ควนมีด อ.นาหม่อม จ.สงขลา โดยจุดนี้เพิ่มการตรวจรถเพื่อจัดเก็บข้อมูลรถต้องสงสัย และการตรวจสอบการย้ายถิ่นของบุคคล และการเคลื่อนย้ายพาหนะ และให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศมาเลเซีย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกส่วนราชการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณดำเนินการในพื้นที่ ปี 2555 แต่ยังไม่ดำเนินการนั้นต้องไม่นำงบไปดำเนินการนอกพื้นที่ แต่ให้จัดทำแผน โครงการที่ตอบสนองเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วม 29 ข้อ โดยเฉพาะเขตเซฟตี้โซน และการติดตั้งกล้องซีซีทีวี ให้ครอบคลุมพื้นที่ สำหรับการเตือนภัยต่อชาวบ้านก็จะมีการแจ้งเตือนว่าจุดไหนจะมีการก่อเหตุ ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็จะมีการคิดในรายละเอียด เบื้องต้นก็ใช้ระบบการเก็บข้อมูลรถต้องสงสัย หรือบุคคลต้องสงสัยและตรวจผู้ก่อเหตุ

ส่วน พล.ท.ดาว์พงษ์ กล่าวเสริมว่า ในประชุมนายกรัฐมนตรี พยายามเน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์การตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ขึ้นมา เน้นย้ำการนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นระบบไปในทิศทางเดียวกัน พยายามจะพูด เพื่อให้รัฐมนตรีเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามากขึ้น ส่วนการประเมินการทำงานหลังจากการตั้งศูนย์แล้วนั้นจะมีการประเมินอย่างแน่นอน แต่ขณะนี้ขอเวลาจัดโครงสร้างศูนย์นี้ เพราะยังไม่มีเลขาฯ ศูนย์เลย โดยเรื่องนี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ อยากให้เป็นไปโดยเร็ว ส่วนการเคอร์ฟิวในพื้นที่นั้นต้องพิจารณาให้ดี และยังอยากให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย และจะต้องมีการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน จะไม่หลับหูหลับตาประกาศ แต่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่บอกว่า ในชั้นนี้ยังไม่ควรจะมีการประกาศเคอร์ฟิว

ขณะที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า วันนี้ตนพาเอกอัครราชทูตไทยในมาเลเซีย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ซึ่งจากการประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่ าประเทศมาเลเซีย อยู่ใกล้กับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราต้องขอความร่วมมือเขาในทุกด้าน เพราะความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดในบริเวณนี้ ทางมาเลเซียจะรู้ข้อมูล โดยจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กปต.ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาภาคใต้จะมีผลกระทบต่อการประชุมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เออีซี ก็เป็นส่วนของเออีซี ไม่เกี่ยวกัน ซึ่งเราก็จะพยามยามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด และเราคิดว่า เหลือเวลาอีก 3 ปี ก็ขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาทุกอย่าง ส่วนที่จะกระทบ เออีซี หรือไม่นั้น หากความสงบเกิดขึ้นได้ การค้า การลงทุน ที่จะเข้ามาในประเทศไทย ก็จะดีขึ้น ทั้งนี้ ในการประสานกับทางประเทศต่างๆ นั้น เราจะให้ข้อมูลในส่วนประเทศที่เป็นมุสลิม ให้ได้รับทราบเหมือนกับกรณีทีโอไอซีส่งตัวแทนมา เราก็สร้างความเข้าใจว่า ประเทศไทย และรัฐบาลทำอะไรบ้าง ให้เขาได้เห็นภาพ เพราะทางมุสลิมไม่เห็นว่าเราทำอะไรบ้าง

เมื่อถามว่า เราสงสัยหรือไม่ว่า พวกนี้มีต่างชาติหนุนหลัง นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นที่รู้กันว่ามีกลุ่มที่ไม่หวังดี พยายามจะก่อเหตุการณ์ความวุ่นวายขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็ต้องสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย เพื่อช่วยกันในเรื่องข้อมูล ถามต่อว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีบางกลุ่มติดต่อขอมอบตัวทางกระทรวงการต่างประเทศ ทราบหรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ คงจะมีการพูดคุยกัน หากมีการดำเนินการอะไร กระทรวงการต่างประเทศ ก็พร้อมที่จะประสาน ถามต่อว่า เป็นปัญหาที่แก้ยาก นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ต้องทำ เพราะเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อมานาน

เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลไม่มี ส.ส.ในพื้นที่ตรงนี้จะเป็นปัญหาหรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะ ส.ส.ในซีกฝ่ายค้านเอง ก็ต้องการเห็นความสงบ โดยเฉพาะ ส.ส.ในพื้นที่ 3 จังหวัดแดนภาคใต้ ตนเชื่อว่า ส.ส.ในพื้นที่ก็ต้องการเห็นความสงบเกิดขึ้น

ด้าน นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงแผนงานที่ทุกคนจะต้องไปปฏิบัติตามแผนงานที่มีแผนยุทธศาสตร์ใหญ่อยู่แล้ว โดยนายกฯได้ย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปทำตามแผนให้ชัดเจนแล้วเสนอกลับมาภายใน 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซีย ในการพัฒนาพื้นที่ชายแดน รวมถึงยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย

“ที่ประชุมได้พูดกันว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ที่กลุ่มผู้ก่อเหตุต้องการยกระดับสู่สากล โดยต้องการให้ถูกหยิบยกไปพูดในเวทีองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) และในเวทีสหประชาชาติ ทำให้เป็นประเด็นระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มความชอบธรรมให้ตัวเอง” นายสีหศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความชัดเจนในเรื่องของการประกาศเคอร์ฟิว ในพื้นที่หรือไม่ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่ได้ลงรายละเอียดขนาดนั้น เพียงแต่คุยถึงการจัดตั้งศูนย์แก้ปัญหา ว่า จะทำอย่างไรให้การทำงานเร็วขึ้น ส่วนงานด้านการข่าวที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากนั้น ก็คุยเพียงว่าทำอย่างไรจะให้การทำงานด้านการข่าวมีการบูรณาการมากขึ้น และทันต่อเหตุการณ์

ขณะที่ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีผู้ต้องหาคดีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ติดต่อขอเข้ามอบตัว ประมาณ 40 คน ตามที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ว่า ตนไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้ แต่ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ถ้าเขาต้องการกลับใจเราก็อยากให้กลับใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น