ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การนำเอาคดีคนตาย 91 ศพ ระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ขึ้นมาตีปี๊บสร้างกระแส ยังคงมีเป็นระยะๆ เพื่อให้บีบให้ฝ่ายตรงข้ามยอมรับแผนปรองดอง อันจะนำไปสู่การล้างไพ่ ลบความความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณในที่สุด
การเปิดประเด็นรอบนี้ เริ่มจากเมื่อวันที่ 10 ส.ค. พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนการเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 (ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ามีการเพิ่มจำนวนผู้เสียชีวิตจาก 91 เป็น 98 คน) แถลงที่ดีเอสไอว่า พนักงานสอบสวนจะนำเอกสารการสั่งการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่สั่งการให้ทหารและตำรวจภูธรไปประจำตามจุดต่างๆ ในช่วงการชุมนุม โดยกลุ่มแรกที่จะเรียกมาสอบปากคำ คือทหารสไนเปอร์ที่ประจำตามจุดต่างๆ ซึ่งอ้างว่า มีภาพปรากฏผ่านสื่อมวลชนขณะที่ทหารใช้ปืนยิงเพื่อกดดันมวลชนให้ถอยร่น เพื่อสอบถามว่าใช้ปืนอะไร นำกระสุนมาจากไหน เพื่อบันทึกปากคำในสำนวนคดี
ต่อมาวันที่ 14 ส.ค. พ.ต.อ.ประเวศน์ แถลงเพิ่มเติมว่า บางเหตุการณ์มีหลักฐานยืนยันว่าการเสียชีวิตน่าจะมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ คือ บริเวณสนามมวยลุมพินี หน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาพระราม 4 ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีคลิปภาพบันทึกการยิงของสไนเปอร์ ซึ่งหากมีการแจ้งข้อกล่าวหาฝ่ายปฏิบัติ ทางผู้สั่งการจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาก่อน
วันรุ่งขึ้น 15 ส.ค. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์นักข่าวที่สภา อ้างว่า เพราะมีคนมาร้องทุกข์ดีเอสไอจึงได้ดำเนินการสอบสวน ซึ่งจะเรียกคนที่อยู่ในคลิปมาสอบปากคำว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยบุคคลคนนั้นได้พ้นราชการไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องขอตัว สามารถดำเนินการได้เลย อีกทั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขณะนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีผู้รับผิดชอบโดยตรงคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวย ศอฉ.
ร.ต.อ.เฉลิมสำทับว่า คนสั่งจะต้องรับผิดชอบ ส่วนเจ้าหน้าที่จะได้รับการคุ้มครอง จากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 และมาตรา 70 แต่คนสั่งถ้าฟังได้ว่าและมีหลักฐานได้ว่าทำผิดก็ลำบากและอันตราย ขณะนี้ดีเอสไอมีหลักฐานในการออกคำสั่งแล้ว
คำแถลงของ ร.ต.อ.เฉลิมถูกตอบโต้ทันควันจาก นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ว่า ร.ต.อ.เฉลิมไม่ควรจะจัดฉากสร้างพยานเท็จเพื่อใส่ร้ายคนอื่น พร้อมระบุว่า รัฐบาลชุดนี้พยายามทุกวิถีทางที่จะเอาผิดบุคคลในรัฐบาลชุดก่อนให้ได้ เพื่อเอาคืนทางการเมืองมากกว่าการทำคดีอย่างตรงไปตรงมา เห็นได้จากการพยายามที่จะเร่งรัดดีเอสไอ การกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมการสอบสวนเพื่อเอาคนของตัวเองที่รับใช้ฝ่ายการเมืองเข้ามาทำคดี
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ฝ่ายการเมืองพยายามตั้งธงชี้นำการสอบสวนคดี โครงสร้างการสั่งการก่อนหน้านี้ก็มีการสอบถาม ตนและนายสุเทพก็ได้ไปชี้แจงโดยตลอดอยู่แล้ว ไม่มีใครสั่งให้ทำอย่างนั้น อยากให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตรงไปตรงมา เพราะพวกตนก็มีสิทธิทางกฎหมายเช่นเดียวกัน ถ้าหากมีการกลั่นแกล้ง หรือ ร.ต.อ.เฉลิมปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็ต้องถูกฟ้องร้องเช่นเดียวกัน
นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า การตัดสินใจในช่วงเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในภาวะที่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยเจ้าหน้าที่จะต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อความสูญเสียให้ได้มากที่สุด แต่เราเจอปัญหาคนติดอาวุธ นี่คือเหตุผลที่นำไปสู่ความสูญเสียทั้งหมด ร.ต.อ.เฉลิมก็ควรจะพูดด้วยว่าในเหตุการณ์ดังกล่าวมีการสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการกระทำของผู้ที่ติดอาวุธอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม คดีเหล่านั้นหายไปไหนต้องติดตามเช่นเดียวกัน
เสียงตอบโต้ที่มีน้ำหนักที่สุด น่าจะมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อ 16 ส.ค.ว่า ถ้ากระบวนการยุติธรรมยังไม่ยุติก็ไม่สมควรออกมาพูด ซึ่งได้ขอร้องผ่านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอไปแล้ว ซึ่งนายธาริตก็รับปากว่าจะดูให้ และได้ขอโทษ รวมถึงบอกว่าจะไปบอก พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอให้ ซึ่งทางรัฐบาลตอบกลับมาว่าจะให้ลดเรื่องนี้ลงไป
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้มีผู้เสียหายทั้งสองฝ่าย ต้องเห็นใจตน ที่ต้องดูแลลูกน้อง และครอบครัวลูกเมียเขา ขอให้เข้าใจแค่นี้ ต้องเห็นใจเพราะมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ประชาชนที่เสียชีวิต และชัดเจนว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ยิง เมื่อไม่ใช่เจ้าหน้าที่ยิงแล้วใครยิงก็ต้องไปหากันมา ถ้าจะพูดขอให้พูดทั้ง 2 ทาง ขอให้พูดในส่วนของเจ้าหน้าที่ด้วยว่าเขาบาดเจ็บและเสียชีวิตจากใคร
ส่วนกรณีที่ทางดีเอสไอจะเรียกทหารสไนเปอร์ไปให้ปากคำ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้อนถามว่า สไนเปอร์อะไร ใครเป็นคนใช้สไนเปอร์ แล้วรู้หรือไม่ว่าสไนเปอร์เป็นใคร ในรูปที่ปรากฏเป็นทหารที่เขาติดกล้องเฉยๆ ไม่ใช่สไนเปอร์ ถ้าไม่รู้อย่าพูดดีกว่า แต่สิ่งที่ใช้เพื่อใช้ระวังป้องกัน ซึ่งในตลาดนัดก็มีขาย เป็นปืนที่ใช้สำหรับยิงนกไม่ใช่สไนเปอร์ อย่าพูดเรื่อยเปื่อย
นอกจากนี้ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ได้แถลงว่า เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองครั้งนั้น ได้มีความพยายามของบุคคลบางกลุ่มอาศัยเหตุการณ์สร้างความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับรวมถึงการใช้อาวุธสงครามสร้างความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการปล้นอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารไปหลายสิบกระบอก และพบว่าปืนที่หายไปหลายกระบอกมีส่วนร่วมในหลายๆ เหตุการณ์ด้วย ซึ่งการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารในช่วงนั้น ได้ใช้ความพยายามปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดแบบเป็นขั้นเป็นตอน ด้วยมาตรการจากเบาไปหาหนัก มิได้มีเจตนาจะทำให้ผู้ใดผู้หนึ่งได้รับอันตราย แต่ทางตรงข้ามกลุ่มผู้ที่ไม่หวังดีที่แฝงตัวอยู่ในการชุมนุมกลับมีความพยายามเพิ่มความรุนแรงด้วยวิธีการต่างๆ นานา
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า สำหรับการไต่สวนคดีชันสูตรพลิกศพที่มีการดำเนินการอยู่ในขณะนี้ยังเป็นขั้นตอนการแสวงหาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ยังไม่มีการกล่าวหาผู้ที่กระทำความผิด การที่มีพยานบางส่วน และการพยายามนำเสนอข่าวของบางสื่อ โดยได้อ้างถึงว่าเจ้าพนักงานสอบสวนมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าการเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่นั้น ในข้อเท็จจริงยังต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ เช่น พยานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ พยานสิ่งแวดล้อม และพยานอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วย
พ.อ.วินธัย ยังตั้งข้อสังเกตว่า ในปัจจุบันคดีในเหตุการณ์เดียวกันที่เจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต น่าจะเป็นคดีที่มีการดำเนินการควบคู่กัน และมีหลักฐานปรากฏทั้งที่เป็นภาพชัดเจนอยู่ในสื่อสาธารณะ และพยานวัตถุ ซึ่งได้มีการส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวนหลังจากเหตุการณ์ยุติ แต่จากการติดตามสอบถามกลับไม่พบความคืบหน้าแต่อย่างใด
ท่าทีแข็งกร้าวของกองทัพที่จะไม่ยอมให้รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือง่ายๆ ดังกล่าว ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ต้องปรับท่าทีให้อ่อนลง และบอกว่า ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รอง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ ผบ.ทบ.ไปชี้แจงทำความเข้าใจแล้ว พร้อมย้ำว่าผู้ปฏิบัติจะไม่ถูกดำเนินคดี 100 เปอร์เซ็นต์
ด้าน นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะอดีตเลขานุการ ศอฉ.ยืนยันว่า การที่เจ้าหน้าที่พกพาอาวุธหรือสไนเปอร์เข้าไปบริเวณพื้นที่ชุมนุมก็เป็นเพราะฝั่งตรงข้ามมีการใช้อาวุธและยิงใส่เจ้าหน้าที่ แต่ทั้งนี้กฎของหน่วยที่เข้าไปก็ได้มีการกำชับอย่างชัดเจนว่าจะยิงสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ หรือจะไปยิงผู้ชุมนุมไม่ได้ แต่ให้ใช้สำหรับป้องกันชีวิตและใช้กับผู้ที่ละเมิดกฎหมายเท่านั้น
ส่วนที่มีการระบุว่าชายชุดดำเป็นทหารนั้น ตนขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เราไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ใส่ชุดดำ การปฏิบัติในเหตุการณ์ดังกล่าวต้องใส่ชุดของทางราชการเท่านั้น ขณะเดียวกันในเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีทหารที่เข้าไปโดนยิงด้วยสไนเปอร์เสียชีวิตเหมือนกัน
นายถวิล ระบุชัดเจนว่า การทำคดีนี้ มีเป้าหมายคือต้องการเล่นงานนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่การออกมาครั้งนี้กลับมีการพาดพิงถึงทหาร เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ขวัญเสีย เพราะเขาเหล่านั้นออกปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายและก็เป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง แต่กลับต้องมาโดนสอบสวน
เท่ากับว่าการเปิดเกมตีปี๊บเรื่องสไนเปอร์ยิงเสื้อแดงเที่ยวนี้ ฝ่ายทักษิณ ชินวัตร เสียมากกว่าได้ นั่นเพราะนอกจากจะทำให้รัฐบาลของน้องสาวมีปัญหากับทหารแล้ว หากสืบสาวราวเรื่องให้ลึกลงไป ฝ่ายคนเสื้อแดงต่างหาก ที่จะตกเป็นจำเลยในคดีนี้