xs
xsm
sm
md
lg

โรงพยาบาลแห่ควบรวม ลดต้นทุน-แข็งเทคโน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คาดการณ์ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจากนี้ไปจะเห็นการควบรวมกิจการกันมากขึ้น ชี้เป็นผลดีทั้งด้านการต่อรองซัพพลายเออร์ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ส่วนลูกค้าได้รับบริการที่ถูกลงแต่คุณภาพดีขึ้น ล่าสุดผู้บริหาร รพ.รามคำแหง ประกาศ ขอลงทุนอีก 400 ล้านบาท สร้างศูนย์มะเร็ง แล้วเสร็จปีหน้า ส่วนผลประกอบการปีนี้ขอโตเพิ่ม 10% ส่วนการเปิด เออีซีคาดไม่กระทบแรงงานทางการแพทย์

นายแพทย์ ศิริพงศ์ เหลืองวารินกุล รองกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลรามคำแหง กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาล จากนี้ไป จะเห็นการควบรวมกิจการกันมากขึ้น ทำให้อนาคตอาจเหลือแต่กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น โดยการควบรวมนี้จะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงพยาบาล เพราะจะช่วยให้โรงพยาบาลขนาดเล็กและขนาดกลางที่ถูกควบรวม มีความเข้มแข็งขึ้น
อีกทั้งยังเพิ่มอำนาจโรงพยาบาลในการต่อรองกับกลุ่มซัพพลายเออร์ เช่น ยา เครื่องมือการแพทย์ ทำให้ได้สินค้าในราคาที่ต่ำลงจากการสั่งซื้อจำนวนมาก นอกจากนั้นการควบรวมกิจการ จะก่อเกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆในการรักษาด้วย

ทั้งนี้การควบรวมกิจการจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหารงานภายในโรงพยาบาล เนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่จะปล่อยให้ผู้บริหารชุดเดิมบริหารงานต่อไปเช่นเดิม และการควบรวมกิจการนี้จะส่งผลให้การแข่งขันธุรกิจนี้น้อยลง โดยแต่ละโรงพยาบาลจะเน้นการสร้างจุดขายในด้านการรักษาพยาบาลคนไข้ตามความสามารถและความเชี่ยวชาญของแต่ละโรงพยาบาล
เพื่อจะได้ไม่เกิดการแย่งคนไข้กันเอง

ปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทย มี 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่กลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง กลุ่มรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ กลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สำหรับโรงพยาบาลรามคำแหงจะเน้นทำการตลาดด้วยการชูการรักษาแบบทางเลือกใหม่ให้แก่คนไข้ ให้ความสำคัญกับการในความต้องการของลูกค้าว่าต้องการอะไร ตลาดคนไทยตั้งแต่ระดับบีบวกขึ้นไป
โดยสัดส่วนผู้ใช้บริการที่รพ.รามคำแหง คนไทยที่เข้ามารับบริการสูงถึง 98% และต่างชาติ 2%, ส่วนลูกค้าต่างชาติ ระดับพรีเมียม ไม่ใช่เป้าหมายที่บริษัทมุ่งเน้น

สำหรับแผนธุรกิจ ของ รพ.รามคำแหง ในโอกาสครบรอบปีที่ 25 เล็งขยายการให้บริการใหม่ ๆ ล่าสุดอยู่ระหว่างสร้างศูนย์ฉายแสงรักษาโรคมะเร็ง มูลค่าลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดบริการในปี 2556

นอกจากนี้ยังวางแผนการลงทุนในรูปของการร่วมทุนในโรงพยาบาลที่จะเปิดใหม่สำหรับคนไข้ประกันสังคม อีก 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลที่ มหาชัย (จ.สมุทรสาคร), โรงพยาบาลอมตะนคร (จ.ชลบุรี), โรงพยาบาลเทพารักษ์ (สมุทรปราการ), โรงพยาบาลชัยปราการ (สมุทรปราการ) รวมเป็น 27 แห่งปีหน้า จากปัจจุบันมี23 แห่งทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลรามคำแหง (กรุงเทพมหานคร) ,โรงพยาบาลสินแพทย์
(กรุงเทพมหานคร) ,โรงพยาบาลตา หู คอ จมูก (กรุงเทพมหานคร) , โรงพยาบาลวิภา ราม (กรุงเทพมหานคร), โรงพยาบาลสุขุมวิท,โรงพยาบาลช้างเผือก (จ.เชียงใหม่) ,โรงพยาบาลพะเยา ราม (จ.พะเยา)และโรงพยาบาลเขลางค์นคร ราม เป็นต้น

ทางด้านรายได้ เฉพาะที่ รพ.รามคำแหง ปี 2555 ตั้งเป้าหมายรายได้ 3,600 ล้านบาท เติบโต 10% จากปี 2554 ที่มีรายได้ 3,326.98 ล้านบาท เติบโต 12 % จากปีก่อนหน้า ส่วนภาพรวมทั้งกลุ่มปี 2555 คาดว่าจะมีรายได้รวมกว่า 20,000 ล้านบาท

ส่วนความกังวลภายหลังเปิดเออีซี มองว่าไม่น่าจะกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์ของไทย เพราะ หากแรงงานด้านนี้อย่างพยาบาล หรือผู้ช่วยพยาบาลที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยก็ต้องพูดสื่อสารภาษาไทยได้ชัดเจน นอกเหนือจากการพูดภาษาอังกฤษ ประกอบกับความเชี่ยวชาญทางการแพทย์และบุคคลากรของไทยนับว่าดีในระดับต้นๆของอาเซียนอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น