xs
xsm
sm
md
lg

โรงพยาบาลแห่ควบรวม ลดต้นทุน-แข่งเทคโนฯ ยันเป็นผลดีมากกว่าเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คาดการณ์ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจากนี้ไป จะเห็นการควบรวมกิจการกันมากขึ้น ชี้เป็นผลดีทั้งด้านการต่อรองซัปพลายเออร์ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ส่วนลูกค้าได้รับบริการที่ถูกลง แต่คุณภาพดีขึ้น ล่าสุด ผู้บริหาร รพ.รามคำแหง ประกาศขอลงทุนอีก 400 ล้านบาท สร้างศูนย์มะเร็ง แล้วเสร็จปีหน้า ส่วนผลประกอบการปีนี้ขอโตเพิ่ม 10% ส่วนการเปิดเออีซีคาดไม่กระทบแรงงานทางการแพทย์

นายแพทย์ศิริพงศ์ เหลืองวารินกุล รองกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลรามคำแหง กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลจากนี้ไป จะเห็นการควบรวมกิจการกันมากขึ้น ทำให้อนาคตอาจเหลือแต่กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น โดยการควบรวมนี้จะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงพยาบาล เพราะจะช่วยให้โรงพยาบาลขนาดเล็ก และขนาดกลางที่ถูกควบรวมมีความเข้มแข็งขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มอำนาจโรงพยาบาลในการต่อรองกับกลุ่มซัปพลายเออร์ เช่น ยา เครื่องมือการแพทย์ ทำให้ได้สินค้าในราคาที่ต่ำลงจากการสั่งซื้อจำนวนมาก นอกจากนั้น การควบรวมกิจการจะก่อเกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรักษาด้วย

ทั้งนี้ การควบรวมกิจการจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหารงานภายในโรงพยาบาล เนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่จะปล่อยให้ผู้บริหารชุดเดิมบริหารงานต่อไปเช่นเดิม และการควบรวมกิจการนี้ จะส่งผลให้การแข่งขันธุรกิจนี้น้อยลง โดยแต่ละโรงพยาบาลจะเน้นการสร้างจุดขายในด้านการรักษาพยาบาลคนไข้ตามความสามารถ และความเชี่ยวชาญของแต่ละโรงพยาบาลเพื่อจะได้ไม่เกิดการแย่งคนไข้กันเอง

ปัจจุบัน ธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทย มี 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สำหรับโรงพยาบาลรามคำแหง จะเน้นทำการตลาดด้วยการชูการรักษาแบบทางเลือกใหม่ให้แก่คนไข้ ให้ความสำคัญในความต้องการของลูกค้าว่าต้องการอะไร ตลาดคนไทยตั้งแต่ระดับบีบวกขึ้นไป โดยสัดส่วนผู้ใช้บริการที่รพ.รามคำแหง คนไทยที่เข้ามารับบริการสูงถึง 98% และต่างชาติ 2% ส่วนลูกค้าต่างชาติระดับพรีเมียมไม่ใช่เป้าหมายที่บริษัทมุ่งเน้น

สำหรับแผนธุรกิจของ รพ.รามคำแหง ในโอกาสครบรอบปีที่ 25 เล็งขยายการให้บริการใหม่ๆ ล่าสุด อยู่ระหว่างสร้างศูนย์ฉายแสงรักษาโรคมะเร็ง มูลค่าลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดบริการในปี 2556

นอกจากนี้ ยังวางแผนการลงทุนในรูปของการร่วมทุนในโรงพยาบาลที่จะเปิดใหม่สำหรับคนไข้ประกันสังคม อีก 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลที่มหาชัย (จ.สมุทรสาคร), โรงพยาบาลอมตะนคร (จ.ชลบุรี), โรงพยาบาลเทพารักษ์ (สมุทรปราการ), โรงพยาบาลชัยปราการ (สมุทรปราการ) รวมเป็น 27 แห่งปีหน้า จากปัจจุบัน มี23 แห่งทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลรามคำแหง (กรุงเทพมหานคร),โรงพยาบาลสินแพทย์ (กรุงเทพมหานคร),โรงพยาบาลตา หู คอ จมูก (กรุงเทพมหานคร), โรงพยาบาลวิภา ราม (กรุงเทพมหานคร), โรงพยาบาลสุขุมวิท, โรงพยาบาลช้างเผือก (จ.เชียงใหม่),โรงพยาบาลพะเยา ราม (จ.พะเยา) และโรงพยาบาลเขลางค์นคร ราม เป็นต้น

ทางด้านรายได้เฉพาะที่ รพ.รามคำแหง ปี 2555 ตั้งเป้าหมายรายได้ 3,600 ล้านบาท เติบโต 10% จากปี 2554 ที่มีรายได้ 3,326.98 ล้านบาท เติบโต 12% จากปีก่อนหน้า ส่วนภาพรวมทั้งกลุ่มปี 2555 คาดว่าจะมีรายได้รวมกว่า 20,000 ล้านบาท

ส่วนความกังวลภายหลังเปิดเออีซี มองว่าไม่น่าจะกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์ของไทย เพราะหากแรงงานด้านนี้อย่างพยาบาล หรือผู้ช่วยพยาบาลที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยก็ต้องพูดสื่อสารภาษาไทยได้ชัดเจน นอกเหนือจากการพูดภาษาอังกฤษ ประกอบกับความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ และบุคลากรของไทยนับว่าดีในระดับต้นๆ ของอาเซียนอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น