xs
xsm
sm
md
lg

29% หรือ 59% ผลตอบแทนจากปิโตรเลียมไทย

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ปัญหาเรื่องนโยบายพลังงานของประเทศมีหลากหลายมิติ มีข้อมูลรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจมาก แต่ที่พูดกันถึงเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 นี้ที่ชะลอออกไปจนถึงต้นปี 2556 ประเด็นการถกเถียงและข้อมูลที่แตกต่างก็คือค่าตอบแทนที่รัฐได้รับจากบริษัทผู้รับสัมปทาน

ภาคประชาชนและนักวิชาการภาคประชาชนบอกว่าผลตอบแทนที่รัฐได้น้อยเกินไป

ภาครัฐบอกว่าได้พอดีๆ แล้ว


หากลงรายละเอียดไปจะพบว่ามีตัวเลขที่แต่ละฝ่ายเสนอมาไม่เหมือนกัน

ภาคประชาชนบอกว่ารัฐได้แค่ 29% มีเศษทศนิยม 29.9% เอาเป็นว่ากลมๆ คือไม่ถึง 30%

ภาครัฐบอกว่านั่นเป็นตัวเลขที่เข้าใจผิดเพราะไม่ได้หักต้นทุนการผลิตของผู้รับสัมปทาน ตัวเลขที่รัฐได้รับจริงๆ คือ 55 – 59% ซึ่งสูงกว่าที่บริษัทผู้รับสัมปทานได้เสียอีก ถือว่าเหมาะสมแล้ว

มันต่างกันเยอะ โดยเฉพาะเมื่อนำตัวเลขนี้ไปเปรียบเทียบกับที่ประเทศเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมอื่นๆ ในโลกนี้เขาได้รับ

ภาคประชาชนไม่พลาดหรืออคติต่อรัฐขนาดคิดตัวเลขผิดหรอก ผลประโยชน์ที่ชาติได้รับจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมรวมกันแล้วประมาณนี้แหละ “29 - 30 เปอร์เซ็นต์...” แต่ที่รัฐโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติโต้แย้งมาตลอดก็คือชาติเราได้ถึงประมาณ “55 - 59 เปอร์เซ็นต์...” รัฐก็ไม่พลาดถึงขนาดยกเมฆตัวเลข แต่จงใจหยิบยกตัวเลขที่มาจากฐานคิดที่ต่างกัน

ตัวเลขของภาคประชาชนนั้นคำเต็มๆ คือ

“29 - 30 เปอร์เซ็นต์...ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขุดขึ้นมาผลิตและขายไป”

แต่ของรัฐคำเต็มๆ คือ

“55 - 65 เปอร์เซ็นต์...เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนกับที่ผู้รับสัมปทานได้กำไรไปจริง”

ในตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่รัฐแสดงนี้จะแสดงเปรียบเทียบด้วยว่าผู้รับสัมปทานได้ไป “เพียง” 35 - 45 เปอร์เซ็นต์ “เท่านั้น” นี่คือแทคติคในทางการโฆษณา(ชวนเชื่อ)ที่เมื่อมีสื่ออยู่ในมือมากกว่าแล้วก็สามารถครอบงำความคิดประชาชนได้

ตัวเลขที่ผู้รับสัมปทานได้น้อยกว่ารัฐนั้นก็เพราะรัฐหัก “ต้นทุนการผลิตทั้งหมด” ให้ผู้รับสัมปทาน

ฟังผ่านๆ ก็ดูเป็นธรรมดา เป็นเกณฑ์ทั่วไป ก่อนจะคำนวณภาษีก็ต้องหักต้นทุนหักค่าใช้จ่ายก่อน แต่ที่มันไม่ธรรมดาก็เพราะจะมีคำถาม 2 คำถาม ที่ทำให้เรายิ่งเห็นความไม่ชอบมาพากลใน “ระบบคิด” ของรัฐไทยที่เป็นรัฐทุนไม่ใช่รัฐประชาชน

คำถามที่ 1 เป็นคำถามเชิงรายละเอียดธรรมดาว่ามีวิธีคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างไร เวอร์ไปหรือเปล่า ประเด็นนี้ไม่ได้รับคำตอบ เพราะเปิดเผยไม่ได้ (ตามมาตรา 11 พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ที่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนัก...)

คำถามที่ 2 เป็นคำถามเชิงปรัชญาที่ท่านอาจารย์ประสาท มีแต้มเพิ่งตั้งสมมติฐานได้ในการประชุมของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ว่า รัฐไทยปฏิบัติ 2 มาตรฐานอย่างร้ายกาจ ด้านหนึ่งให้ความเป็นธรรมตามเกณฑ์ทั่วไป ให้ผู้รับสัมปทานซึ่งถือเป็นผู้ “ลงทุน” หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดก่อนมาคำนวณภาษี แต่อีกด้านหนึ่งไฉนไร้ความเป็นธรรมแก่ชาติแก่แผ่นดิน ทำไมไม่ตีราคาทรัพยากรปิโตรเลียมใต้แผ่นดินภายใต้อาณาเขตสยามประเทศที่บรรพบุรุษรักษามาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตเป็น “ต้นทุน” ด้วยล่ะ

ชาติไทยไม่ใช่ได้ผลประโยชน์มาฟรีๆ แต่เราต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่ถ้าเก็บไว้มันก็ไม่เน่าไม่เสียนี่ไม่คิดเป็นค่าตีราคาเป็นรูปแบบของการ “ลงทุน” ด้วยหรือ

ถ้าคิดค่าใช้จ่ายของผู้รับสัมปทานอย่างเปิดเผย โปร่งใส ไม่เวอร์ และคิดทรัพยากรปิโตรเลียมเป็น “ต้นทุน” ด้วย ตัวเลขสัดส่วนผลประโยชน์ที่เราได้จะไม่ใช่ 55 - 59% อย่างที่รัฐแสดงแน่ ตัวเลขสัดส่วนกับผู้รับสัมปทานก็จะไม่ใช่ 55 - 59 : 41 - 45 แน่

อาจจะกลับข้างกันด้วยซ้ำ??

นี่เป็นเพียงปฐมบทแห่งความผิดปกติของ “ระบบคิด” ที่ยากจะรื้อกันได้ง่ายๆ !!

เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ...

คาดว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคิดผลประโยชน์ที่รัฐไทยได้รับจาก % ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตและขายได้ 3 รายการ (ค่าสัมปทาน, ภาษี และค่าผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ) รวมกัน 28.98% แล้วก็เอาตัวนี้ตั้งรอไว้ ไม่ต้องหักอะไรออกอีกเลย รวมทั้งทรัพยากรปิโตรเลียมที่เราต้องเสียไปก็ไม่เอามาตีราคาเป็น “ต้นทุน” จากนั้นก็ไปคิดทางฝั่งผู้รับสัมปทาน เขาเอาตัวเลข 28.98 มาบวกกับ 50 ซึ่งเป็น “ต้นทุน” ในการสำรวจและผลิตทั้งหมดของผู้รับสัมปทานก็จะได้ตัวเลขเป็นยอดรวม “ต้นทุน” ทั้งหมด = 79.98 เอาตัวเลขนี้ไปลบออกจากส่วนเต็มคือ 100 ผลจะออกมา = 20.02 ถือว่าผู้รับสัมปทานได้ผลประโยชน์ไป 20.02% ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตและขายได้

แต่ถ้าแถลงอย่างนี้ ตัวเลขผลประโยชน์เป็น % ที่รัฐได้รับมันจะเป็นเพียง “แค่” 28.98% “เท่านั้น” ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกที่มีทรัพยากรปิโตรเลียม

สมมติฐานที่อาจารย์ประสาท มีแต้มตั้งไว้ก็คือ รัฐเอาตัวเลข 28.98 มาเปรียบเทียบกับตัวเลข 20.02 เป็นสัดส่วน % ก็คือผลประโยชน์ 2 ฝั่งรวมกัน 28.98 + 20.02 = 49 เอาตัวเลข 49 มาเทียบบัญญัติไตรยางค์ ว่าถ้าผลประโยชน์รวม 2 ฝ่ายคือ 49 รัฐไทยได้ 28.98 ถ้าปลประโยชน์เป็น 100 รัฐไทยจะได้เท่าไร

ตัวเลขจากบัญญัติไตรยางค์ออกมา = 59.14 ครับ

ก็สรุปว่ารัฐไทยได้ผลประโยชน์ตอบแทนถึง 59.14% หรือ 55 - 59% ดูหรูดีครับ เพราะเกินครึ่ง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลกแล้วก็จะอยู่ในกลุ่มกลางๆ ค่อนไปทางหัวตาราง

ไม่ผิดครับ

แต่คำถามคือคนไทยยอมรับวิธีคำนวณแบบ “ทรัพยากรปิโตรเลียมใต้แผ่นดินไทยก่อนขุดเจาะไม่มีมูลค่า ไม่ใช่ต้นทุน” อย่างนี้หรือไม่??

ผมเสนอให้นายกรัฐมนตรีปรึกษาประธาน 2 สภาเพื่อใช้กลไกออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 มาตัดสินในท้ายที่สุดเลยดีกว่า ว่าจะใช้ระบบแบ่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับผู้รับสัมปทานตามพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 หรือที่เรียกว่าระบบ THAILAND 3 ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2532 หรือจะยกเครื่องปฏิรูปใหม่

เพราะระบบ THAILAND 3 หากทำสัญญากับบริษัทผู้รับสัมปทานใดไปแล้วจะมีผลต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยๆ 20 + 10 + 6 = 36 ปี เปลี่ยนแปลงไม่ได้

อย่าลืมว่าที่เราเปิดสัมปทานครั้งแรกเมื่อปี 2514 ในระบบ THAILAND 1 นั้นกินเวลารอบแรก 12 + 30 = 42 ปี จะหมดปีหน้า 2556 แล้วบางแปลงสัมปทานยังได้สิทธิต่ออีก 10 ปี โดยเงื่อนไขเดิมแทบทุกอย่าง

ตัดสินกันให้รอบคอบเพื่อลูกหลานในอนาคต – “ประชามติ” เถอะครับ!!
กำลังโหลดความคิดเห็น