xs
xsm
sm
md
lg

“ผศ.ประสาท-อิฐบูรณ์” วอนร่วมกันหยุดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ประสาท มีแต้ม
“ผศ.ประสาท” ชี้ควรระงับเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อแก้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมก่อน เนื่องจากทุกวันนี้รัฐได้ผลตอบแทนแค่ 29% เท่านั้น น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น “อิฐบูรณ์” วอนร่วมมือกันแสดงพลังแบบง่ายๆ ด้วยการส่งความคิดเห็นไปทางแฟกซ์ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เชื่อหากทำกันอย่างพร้อมเพรียงและต่อเนื่อง จะสามารถหยุดยั้งได้

วันที่ 18 ก.ค. ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการอิสระ และนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ASTV พูดคุยกันภายใต้หัวข้อ “หยุดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21”

ผศ.ประสาทกล่าวว่า เหตุผลที่ควรระงับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ออกไปก่อน ก็เพราะผลประโยชน์ที่รัฐได้รับ หรือค่าภาคหลวงของไทยมันน้อยมาก อยู่ระหว่าง 5-15% เป็นการเก็บแบบขั้นบันได แต่จากข้อมูลเราเก็บได้ไม่ถึง 13% ด้วยซ้ำ จึงเห็นสมควรขอพักไว้ก่อน เพื่อแก้กฎหมายให้เหมาะสม อีกทั้งต้นทุนการผลิตในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก ทำให้ต้นทุนถูกลงเยอะ แต่ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้

นายอิฐบูรณ์กล่าวว่า ตั้งแต่มี พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ไม่เคยมีการแก้ไขในเรื่องของสิทธิ การเอื้ออำนวยหรืออุดหนุน คือยังมีกรอบความคิดของนักการเมืองที่เข้าเกี่ยวข้องว่าประเทศไทยด้อยพัฒนา ทรัพยากรมีจำกัด ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว

แล้วมูลค่าปิโตรเลียมที่ปรากฏเป็นข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงพลังงานธรรมชาติ ปรากฎถึงเพียงปี 2553 นี่คือหน่วยงานที่ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน เผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนถึงเพียงแค่ปี 2553 จึงตรวจสอบได้ว่า ตั้งแต่ปี 2524-2553 รวม 29 ปี ที่ผ่านมา มีมูลค่าปิโตรเลียมที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น 2.9 ล้านล้านบาท ปัดเป็นตัวเลขกลมๆ ก็ตกที่ปีละประมาณ 1 ล้านล้านบาท

ประเด็นคือตัวก๊าซธรรมชาติที่ส่งออกนอกได้ยาก เพราะใส่เรือไม่ได้ ต้องเข้าท่อ ซึ่งต้องมีระบบลูกค้ารองรับ รัฐไทยก็ถูกกำหนดเลย ให้มีการเขียนแผนรองรับสำหรับการซื้อปิโตรเลียม ทุกๆ ปีต้องเขียนโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับต่อระบบการให้สัมปทานหรือระบบการทำสัญญาล่วงหน้าการซื้อขายก๊าซ ณ ปากหลุมของผู้สัมปทาน ส่วนที่ขนลงเรือได้ คือน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติเหลว ไม่มีใครบอกได้ว่าเรือนั้นจะวิ่งเข้ามาที่โรงกลั่นในเมืองไทย หรือจะวิ่งออกไป ฉะนั้นหน่วยงานที่ตรวจสอบอยู่ในขณะนี้ก็อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน

แล้วใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่น่ากลัวที่สุดและไม่เคยแก้ไขเลย คือ รัฐจะไม่จำกัดการส่งออกนอกราชอาณาจักร ที่คนของรัฐบาลอ้างว่าการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ถ้าไม่จำกัดการส่งออก จะตอบคำถามด้านความมั่นคงด้านพลังงานได้อย่างไร และที่เสียหายมาก คือน้ำมันดิบที่ขุดได้จากแผ่นดินไทย ให้ซื้อขายเป็นราคาเสมือนการนำเข้า มีค่าขนส่งด้วย แล้วคนที่นั่งกินส่วนต่างตรงนี้คือใคร

นายอิฐบูรณ์กล่าวต่อว่า การยุติสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไม่เพียงเท่านั้น แต่ต้องสังคายนา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม สังคายนาการกำกับกิจการปิโตรเลียมด้วย เพราะตำแหน่งแค่ปลัดกระทรวงพลังงาน สามารถพิจารณาในการเปิดสัมปทาน และคนที่นั่งในตำแหน่งนี้ยังไปเป็นบอร์ดบริษัทพลังงาน เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

“29-30 ปีที่ผ่านมา บริษัทพลังงาน ค้าขายปิโตรเลียม มูลค่า 3 ล้านล้านบาท แต่ว่าค่าภาคหลวงได้แค่ 3.7 แสนล้านบาท เงินตอบแทนพิเศษหรือที่เรียกว่าโบนัส ได้เพียง 3.15 หมื่นล้านบาท แล้วก็ภาษีเงินได้ที่บอกว่า 50% ได้อยู่ที่ 4.8 แสนล้านบาท รวมออกมาทั้งสามก้อนแล้ว ผลตอบแทนที่รัฐได้รับ อยู่ที่ 8.9 แสนล้านบาท เคาะออกมาก็อยู่ที่ประมาณ 29% คนของกระทรวงพลังงานให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการ ว่าจะขยับเป็น 50-60% แล้ว แต่เป็นรอบต่อไป ซึ่งต้องตรวจสอบอย่างมากว่าข้อมูลที่เปิดเผยเป็นข้อเท็จจริงมากแค่ไหน” นายอิฐบูรณ์กล่าว

ผศ.ประสาทกล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงฯ ให้ข้อมูลว่า ผลตอบแทนที่รัฐได้รับอยู่ที่ 60-75% แต่จะนำมาใช้กับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ซึ่งตนค้นข้อมูลในกรมเชื้อเพลิงพลังงานบ่อยมาก แต่ละแปลงค่าภาคหลวงอยู่ที่ 12.1-12.4% แต่ไม่ว่าจะ 12% หรือ 15% มันต่างกันน้อยมาก อยู่ที่ร้อยล้านพันล้านเท่านั้น เมื่อเทียบกับล้านล้านเทียบไม่ได้เลย ส่วนที่เป็นตัวเลขในรายงานยืนยันทุกปีอยู่ที่ 29% มันมีแค่สามส่วน ไม่มีส่วนอื่นแล้ว คือมีค่าภาคหลวง โบนัส ภาษีเงินได้ แต่ภาษีก็ต้องหักต้นทุนก่อน เอาเฉพาะกำไรมาคิด แล้วต้นทุนที่เราคิดเป็นสามเท่าของค่าเฉลี่ยของทั้งโลก ผลมันก็ออกมาแบบนี้

เมื่อถามว่าสามารถฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้หรือไม่ นายอิฐบูรณ์กล่าวว่า อาจฟ้องศาลปกครองได้ แต่ทุกอย่างมันดำเนินไปตามกฎหมาย มีกฎหมายรองรับหมด

ผศ.ประสาทกล่าวว่า เรามีหลักฐานว่ากฎหมายมันไม่เป็นธรรม โลกเปลี่ยนกันหมดแล้ว แต่กฎหมายยังไม่ยอมเปลี่ยน เราสามารถยืนยันกับศาลได้ อีกทั้งมีกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ว่าเมื่อทราบภายหลังว่าสถานการณ์เปลี่ยน สัญญานั้นยกเลิกได้ แต่ทางที่ดีเราแก้ฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเสียเอง ไม่ต้องไปรอกฎหมายระหว่างประเทศ แต่นักการเมืองไม่สนใจ บางส่วนก็มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ตนอยากเรียกร้องให้ชนชั้นกลางตื่นตัว เพื่อเรียกร้องสิทธิ

นายอิฐบรณ์กล่าวว่า มันเป็นความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนักการเมือง กลุ่มทุนทั้งข้ามชาติและของไทย และกลุ่มข้าราชการระดับสูง ถ้าจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้เราจำเป็นต้องอาศัยความกล้าหาญ ก่อนแก้กฎหมายก็ต้องแก้ไขที่ตัวนักการเมืองก่อน โดยต้องเริ่มจากประชาชน เพราะการฟ้องศาลปกครองสร้างการรับรู้ในกลุ่มคนระยะสั้นๆ เท่านั้น ที่สำคัญต้องสร้างการรับรู้ให้ประชาชนมากขึ้น ซึ่งถ้าใครอยากมีส่วนร่วมส่งเสียงเรียกร้องให้หยุดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 สามารถทำได้โดยวิธีง่ายๆ คือเขียนความคิดเห็นตัวเองแล้วส่งไปที่แฟกซ์ของกระทรวงพลังงาน เรียนถึงรัฐมนตรี วันนี้ไม่สำเร็จก็ส่งไปอีกเรื่อยๆ อย่าคิดว่าเป็นคนเล็กๆ ทำอะไรไม่ได้ ถ้าทำพร้อมๆ กันมันจะมีพลัง ส่งความคิดเห็นพร้อมๆ กัน อย่างต่อเนื่อง ในกรอบเวลา 1 เดือน
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา
กำลังโหลดความคิดเห็น