xs
xsm
sm
md
lg

คลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม ยื่นนายกฯ ระงับสัมปทานปิโตรเลียมอ่าไทยรอบ 21

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ คลังสมอง วปอ.ฯ /๕๕ สำนักงานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม
๖๔ ถนนวิภาวดีรังสิต
ดินแดง กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
วันที่ กรกฎาคม ๒๕๕๕

เรื่อง ขอให้ระงับชั่วคราวการเปิดประมูลสัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาหนังสือประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง เขตพื้นที่แปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบก
และในทะเลอ่าวไทยที่เปิดให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียม

ด้วยคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรสาธารณะประโยชน์ ดำเนินงานวิเคราะห์ปัญหาด้านยุทธศาสตร์ให้แก่สังคม โดยไม่หวังผลตอบแทนมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการธุรกิจพลังงานที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปอย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน จึงได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และจากแหล่งต่างๆในประเทศและต่างประเทศโดยมีผลการศึกษาที่ใคร่ขอนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ดังนี้

๑. ในปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ประเทศไทยรวมถึงอาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งน้ำมันและก๊าซที่มีความอุดมสมบูรณ์ระดับสูงของโลกอาณาเขตหนึ่ง และแหล่งข้อมูลทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ประมาณว่าประเทศไทยมีปริมาณปิโตรเลียมจำนวนมากเป็นอันดับค่อนข้างสูงของโลก และสามารถส่งออกได้ในปริมาณที่มากกว่าประเทศในกลุ่ม OPEC บางประเทศซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยเป็นมูลค่าปีละกว่า ๓.๕ แสนล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลจากการให้สัมปทานการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในผืนแผ่นดินไทยใน ๒๐ รอบที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาติ ที่เป็นสมบัติของไทยทุกคนในระดับที่ควรจะเป็น

๒. การเปิดประมูลสัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมครั้งใหม่รอบที่ ๒๑ (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย) ประกอบด้วยสัมปทานบนบก ๑๗ แปลง (ภาคกลางและภาคเหนือ ๖ แปลง ตะวันออกเฉียงเหนือ ๑๑ แปลง) และอ่าวไทย ๕ แปลง รวมพื้นที่กว่า ๔๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตรนั้น เป็นการหยิบยื่นโอกาสแก่ผู้ยื่นขอสัมปทาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทฯ ข้ามชาติ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับน่าจะทำให้รัฐฯขาดรายได้อย่างน้อยปีละ ๑ แสนล้านบาท จากการให้สัมปทานในครั้งนี้ ซึ่งโดยรวมแล้วประเทศไทยจะขาดรายได้ตลอดอายุสัมปทาน ๒๕ ปี เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น ๒.๕๕ ล้านล้านบาท เป็นอย่างต่ำ ทั้งนี้ยังไม่รวมส่วนต่ออายุอีก ๑๐ ปี อีกด้วย

๓. การกำหนดกฎระเบียบ วิธีการ ในรูปแบบของการสัมปทานและการกำหนดค่าภาคหลวงตลอดจนผลประโยชน์อื่นๆที่ประเทศควรจะได้รับในอดีตถูกกำหนดภายใต้บทสรุปที่ว่า “ประเทศไร้พลังงานธรรมชาติ” หรือ “มีแต่ไม่คุ้มค่าในการสำรวจ” เป็นผลให้รัฐบาลที่ผ่านมากำหนดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมเข้ารัฐฯ ในอัตราค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆคือ ระหว่างร้อยละ ๕ – ๑๕ ซึ่งในทางปฏิบัติสามารถเก็บค่าภาคหลวงเข้ารัฐฯ ได้เพียงประมาณร้อยละ ๑๒ เท่านั้น

๔. หากประเทศไทยเปลี่ยนการเก็บค่าภาคหลวงใหม่ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศผู้ให้สัมปทานที่เก็บค่าภาคหลวงระดับสูง เช่น ประเทศเวเนซูเอลา หรือประเทศโบลีเวีย น่าจะมีรายได้จากการเก็บค่าภาคหลวงเพิ่มขึ้นปีละประมาณ ๓ – ๔ แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณเพิ่มขึ้นและเพียงพอในการดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการได้อย่างราบรื่นโดยไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากแหล่งต่างๆ

๕. การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของไทยที่ผ่านมาได้มีส่วนค้ำจุนระบบเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งตลอดมา และหน่วยงานเอกชนไทยสามารถสร้างหน่วยธุรกิจด้านการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมขึ้นมาได้ ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพและสมรรถนะในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในประเทศได้เอง สมควรได้นำความสามารถดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

คลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม จึงใคร่ขอกราบเรียนเสนอแนะให้รัฐบาลกรุณาพิจารณา โดยเร่งด่วนดังนี้

๑. ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมและรับรู้ในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการปิโตรเลียมของชาติเพื่อความโปร่งใสและเพื่อประโยชน์ของลูกหลานไทยในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

๒. ควรระงับชั่วคราวการเปิดประมูลสัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ นี้ไว้ก่อนเพื่อทบทวนมาตรการต่างๆให้ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้แก่

๒.๑ ทบทวนกฎระเบียบและประกาศที่กำหนดการเก็บค่าภาคหลวงร้อยละ ๕ – ๑๕ และปรับปรุงวิธีการเก็บค่าภาคหลวงใหม่ทั้งระบบ โดยพิจารณาเปรียบเทียบ (Benchmark) กับประเทศที่เก็บค่าภาคหลวง(เช่น ประเทศเวเนซูเอลา และประเทศโบลิเวีย เป็นต้น) เป็นพื้นฐานในการอ้างอิง

๒.๒ ทบทวนระบบการแบ่งกำไรจากผู้รับสัมปทานเพื่อให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์อย่างเหมาะสม

๒.๓ พิจารณาให้หน่วยงานของคนไทยมีสิทธิและหน้าที่หลักในการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในอาณาเขตประเทศไทยเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของชาติในระยะยาว

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดกรุณาพิจารณา

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
พลเอก
(จรัล กุลละวณิชย์)
ประธานคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม

คลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม โทร. ๐-๒๖๙๑-๗๘๘๔ โทรสาร ๐-๒๖๙๑-๘๗๗๕ www. ndcthinktank.com

รายการแจกจ่ายผลการศึกษาเรื่องปิโตรเลียม
 
๑.          พลเอกเปรม ติณสูลานนท์  ประธานองคมนตรี
๒.         เลขาธิการพระราชวัง
๓.         ราชเลขาธิการ (นายอาสา สารสิน)
๔.         นายกรัฐมนตรี
๕.         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
๖.          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๗.         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
๘.         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
๙.          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
๑๐.      เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
๑๑.      เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
๑๒.     ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
๑๓.     ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
๑๔.     ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
๑๕.     ผู้บัญชาการทหารบก
๑๖.      ผู้บัญชาการทหารเรือ
๑๗.     ผู้ตรวจการแผ่นดิน (๕ คน)
๑๘.     เลขาธิการ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
๑๙.      ประธานวุฒิสภา
๒๐.     ประธานสภาผู้แทนราษฎร
๒๑.     เลขาธิการ วุฒิสภา
๒๒.    เลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร
๒๓.    เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
๒๔.    อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
๒๕.    ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
๒๖.     ประธานสภาหอการค้าไทย
๒๗.    สื่อมวลชน (๒๐ หน่วย)
๒๘.    ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
๒๙.     ปลัดกระทรวงกลาโหม
๓๐.     ปลัดกระทรวงมหาดไทย
๓๑.     ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๓๒.    ปลัดกระทรวงพลังงาน
๓๓.     ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น