สุรินทร์ - กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก.พลังงานรุกเดินสายสร้างเครือข่ายปิโตรเลียม จัดสัมมนาสื่อท้องถิ่นเมืองช้าง แจงข้อมูลสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เน้นชูความมั่นคงด้านพลังงานคู่สังคม-สิ่งแวดล้อม เผยเตรียมเปิดสัมปทานรอบใหม่ปีนี้อีก 22 แปลงใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ ภาคอีสานมี 11 แปลง 13 จังหวัด แจงเก็บรายได้เข้ารัฐปีที่ผ่านมา 1.5 แสนล้าน กระจายเม็ดเงินกลับคืนพัฒนาท้องถิ่นกว่า 2 หมื่นล้าน
วันนี้ (1 มิ.ย.) เวลา 09.00 น. ที่ห้องสัมมนา โรงแรมมาเจสติก อ.เมือง จ.สุรินทร์ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน จัดสัมมนาสื่อมวลชนทุกแขนงในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ โดยมี นายพิภพ ดำทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธาน และ น.ส.วรรณาภรณ์ สวัสดิมงคล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พร้อมทั้งสื่อมวลชนจังหวัดสุรินทร์ร่วมในการสัมมนากว่า 80 คน
การสัมมนาสื่อมวลชนในครั้งนี้ดำเนินการตามแผนงานการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านปิโตรเลียมของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ภายใต้ชื่อโครงการ “เครือข่ายปิโตรเลียมประจำปี 2555” วัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ข้อมูล สร้างความรู้ความเข้าใจในด้านการดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม ด้านกฎหมายปิโตรเลียม และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการประกอบกิจการด้านปิโตรเลียม
น.ส.วรรณาภรณ์ สวัสดิมงคล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การดำเนินงานด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อการดำเนินงานด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นไปอย่างโปร่งใส จะต้องดำเนินภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันของชาวบ้านและภาคธุรกิจอื่นๆ โดยเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม
ส่วนสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศในปี 2554 ประเทศไทยมีการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์เฉลี่ยวันละ 1.86 ล้านบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มีสัดส่วนชนิดเชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติ 44% น้ำมันดิบ 37% ถ่านหิน ลิกไนต์ 17% พลังน้ำ และอื่นๆ 2%
ขณะที่การจัดหาพลังงานภายในประเทศสามารถพึ่งพาตัวเองได้ประมาณ 43% โดยจัดหาก๊าซธรรมชาติได้ 3,317 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 92,170 บาร์เรลต่อวัน น้ำมันดิบ 138,937 บาร์เรลต่อวัน
น.ส.วรรณาภรณ์กล่าวต่อว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ส่งเสริม สนับสนุนการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศมายาวนานกว่า 40 ปี มีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมมาแล้ว 20 รอบ ปัจจุบันมีแหล่งปิโตรเลียมทั้งสิ้น 69 แหล่ง คือ แหล่งน้ำมัน 36 แหล่ง แบ่งเป็นแหล่งบนบก 17 แหล่ง และในทะเลอีก 19 แหล่ง ส่วนแหล่งก๊าซธรรมชาติมีทั้งสิ้น 33 แหล่ง แบ่งเป็นบนบก 3 แหล่ง ส่วนในทะเลมีมากถึง 30 แหล่ง ซึ่งถือว่าแหล่งผลิตปิโตรเลียมส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 94 เป็นแหล่งในทะเล
ในปี 2555 จะมีการเปิดแปลงสัมปทานในรอบที่ 21 รวมทั้งหมด 22 แปลง ประกอบด้วย พื้นที่บนบก 17 แปลง แบ่งเป็นภาคเหนือและภาคกลาง 6 แปลง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 แปลง อ่าวไทยจำนวน 5 แปลง รวมพื้นที่ 45,955 ตารางกิโลเมตร
ในส่วนของภาคอีสานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่และมีศักยภาพเพียงพอในการที่จะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะมีการเปิดสัมปทานรอบใหม่ทั้งหมด 13 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี, หนองคาย, สกลนคร, กาฬสินธุ์, หนองบัวลำภู, ขอนแก่น, มหาสารคาม, บุรีรัมย์, ยโสธร, มุกดาหาร, ร้อยเอ็ด, นครราชสีมา และจังหวัดอุบลราชธานี
น.ส.วรรณาภรณ์กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดเก็บรายได้จากการดำเนินงานด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในปีที่ผ่านมารวมเป็นเงินทั้งสิ้น 147,734 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม 49,700 ล้านบาท 2. รายได้จากการดำเนินงานในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJA) 14,117 ล้านบาท 3. เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 3,389 ล้านบาท และ 4. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 80,528 ล้านบาท
รายได้ดังกล่าวนับว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสามารถจัดเก็บรายได้เข้ารัฐมากเป็นอันดับ 4 ของหน่วยราชการ รองจาก 3 กรมที่จัดเก็บภาษีในสังกัดกระทรวงการคลัง คือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต หากนับรวมรายได้จากการประกอบกิจการด้านปิโตรเลียมของกรมแล้วมีรายได้สะสมเข้ารัฐทั้งหมดกว่า 1.08 ล้านล้านบาท
“โดยรายได้จากการจัดเก็บดังกล่าวได้มีการจัดสรรคืนกลับไปพัฒนาท้องถิ่นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต มีวงเงินกว่า 20,708 ล้านบาท ซึ่งได้จัดสรรให้กับท้องถิ่น ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยกระจายผ่านไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับทั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล อีกทั้งได้นำรายได้ที่จัดเก็บได้ส่งกระทรวงการคลังเพื่อนำไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป” น.ส.วรรณาภรณ์กล่าว
น.ส.วรรณาภรณ์กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินกิจกรรมด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์นั้น เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมชี้แจง และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ในโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมแปลงสำรวจบนบก สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 6/2553/108 หมายเลข L31/50 ในพื้นที่ ต.ชุมพลบุรี อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ที่ห้องประชุมชั้น 2 อำเภอชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ โดยโครงการดังกล่าว บริษัท ซ่านซี เหยียนฉาง ปิโตรเลียม (กรุ๊ป) จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทาน มีบริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด เป็นผู้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีผู้แทนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้แทนจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรของโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียม หลุมสำรวจ YPT 2 หมู่ที่ 15 บ้านโคกกลาง ตำบลชุมพลบุรี อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2554- มกราคม 2555 โดยทำการศึกษารวม 4 ด้าน คือ ด้านทรัพยากรทางกายภาพ, ทรัพยากรทางชีวภาพ, คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ในการศึกษานั้นจะดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ศึกษารัศมี 5 กิโลเมตรรอบพื้นที่ฐานเจาะ ทั้งการประชุมรับฟังความคิดเห็นระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน และระดับครัวเรือน ซึ่งการศึกษาผลกระทบครอบคลุมทั้งพื้นที่เทศบาลตำบลชุมพลบุรี เทศบาลตำบลทุ่งศรีชุมพล และตำบลศรีณรงค์ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์