ศูนย์ข่าวขอนแก่น- กรมเชื้อเพลิงพลังงานส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโรงแยกก๊าซน้ำพอง จ.ขอนแก่น หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ตั้งแต่ก่อนวันสงกรานต์ไม่สามารถส่งก๊าซเอ็นจีวีให้ปั๊มทั่วอีสานได้ ส่งผลผู้ใช้รถเอ็นจีวีช่วงสงกรานต์เดือดร้อนหนัก ชี้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์พร้อมทดสอบระบบ สามารถจัดส่งก๊าซเอ็นจีวีได้ตามปกติแล้ว
วันนี้ (20 เม.ย.) คณะผู้เชี่ยวชาญส่วนเทคโนโลยีประกอบกิจการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงพลังงาน ได้ชี้แจงรายละเอียดต่อสื่อมวลชนจากเหตุการณ์ที่ได้เกิดอุบัติเหตุถังที่ใช้ในการต้มน้ำจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมทำให้เกิดเพลิงไหม้และอุปกรณ์ชำรุด ที่สถานีผลิตก๊าซสินภูฮ่อม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมานั้น
ทำให้ไม่สามารถผลิตและส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ โดยบริษัทได้หยุดการผลิตตัดแยกระบบและทำการดับเพลิงทันที โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้อุปกรณ์การผลิตบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการกำจัดน้ำที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตเสียหาย ซึ่งต่อมาได้ทำการปรับปรุงและแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย บริษัท เฮสส์ ไทยแลนด์ จำกัด ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซจากแหล่งสินภูฮ่อม จึงได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบความมั่นคงของวัสดุอุปกรณ์การผลิตต่างๆ ว่ามีความปลอดภัยเพียงพอที่จะเริ่มผลิตก๊าซอีกครั้งหรือไม่ พร้อมทั้งหาสาเหตุอุบัติเหตุ โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความช่วยเหลือในการส่งทีมซ่อมบำรุงจากจังหวัดชลบุรีมาร่วมดำเนินการ
โดยได้มีการตรวจสอบท่อด้วยการ X-Ray และจะทดสอบแรงดันของท่อที่ได้รับการซ่อมแซมพร้อมทั้งตรวจสอบระบบการผลิตทั้งหมดจนมั่นใจถึงความปลอดภัย และขณะนี้ได้เริ่มทำการผลิตและสามารถส่งก๊าซธรรมชาติให้ลูกค้าได้ตามปกติแล้ว
ทั้งนี้ ในแง่ผลกระทบต่อผู้ใช้รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซเอ็นจีวีในพื้นที่ภาคอีสานได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก แม้ว่าบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะนำก๊าซเอ็นจีวีจากสถานีหลักที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี และ อ.บ้านนา จ.นครนายก มาเสริมทดแทน แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากสถานีน้ำพองเป็นสถานีแม่ส่งก๊าซให้สถานีบริการเอ็นจีวีในพื้นที่ภาคอีสาน
ผู้ใช้รถเอ็นจีวีได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีผู้ใช้รถยนต์มากกว่าปกติ รถยนต์ที่ต้องเติมก๊าซเอ็นจีวีในภาคอีสานจะต้องจอดรอนานกว่าปกติ มีบางส่วนเท่านั้นที่สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้น้ำมันแทนได้ แต่ก็สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น