ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การขุดเจาะสำรวจน้ำมันกลางกรุงในเขตทวีวัฒนา ที่มีเสียงคัดค้านถึงผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่น กำลังลุ้นระทึกในอีกไม่กี่วันข้างหน้าว่าจะพบบ่อน้ำมันที่มีความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์หรือไม่ วัดใจกระทรวงพลังงานยังจะเดินเครื่องให้สัมปทานน้ำมันกลางเมืองที่ไม่มีประเทศไหนในโลกเขาทำกัน นักวิชาการฟันธงเสี่ยงสูง ไม่คุ้ม ยกเลิกดีที่สุด
ตามคำบอกกล่าวของ ทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่แถลงต่อสื่อมวลชน เมื่อครั้งนำคณะสื่อฯ ลงพื้นที่โครงการเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมในเขตพื้นที่เขตทวีวัฒนา ริมถนนพุทธมณฑลสาย 2 กรุงเทพฯ เป็นถ้อยแถลงมุ่งไปในทิศทางที่ชวนให้สังคม ‘วางใจ’ ต่อการขุดเจาะสำรวจหาน้ำมันที่กินพื้นที่ลึกลงไปใต้พื้นดินไม่ต่ำกว่า 2 กิโลเมตร
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ ระบุว่า บริษัท มิตรา เอ็นเนอร์ยี่ ลิมิเต็ด ผู้ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว จะใช้เวลาในการดำเนินขุดเจาะและสำรวจประมาณ 20 วันนับจากวันลงมือขุดเจาะเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2555 ก่อนจะทราบว่าบริเวณดังกล่าวมีน้ำมันหรือไม่ ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะใช้อุปกรณ์ในการเปิดปากหลุม ให้มีความกว้าง 16 นิ้ว และขุดลึกลงไปประมาณ 2.5 กม. หากไม่พบน้ำมัน บริษัทผู้ได้รับสัมปทานก็ต้องส่งคืนพื้นที่ให้กับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในทันที โดยจะต้องดำเนินการอุดหลุมด้วยซีเมนต์อย่างถาวรและเคลื่อนย้ายแท่นเจาะออกไป พร้อมปรับสภาพพื้นที่ให้เหมือนเดิม ทั้งย้ำว่าการขุดเจาะหาน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้นั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่แล้ว อีกทั้งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ผ่านการพิจารณาแล้ว
นับเป็นข้อมูลที่คล้ายจะตรงกันข้ามกับความเห็นของคนในพื้นที่เขตทวีวัฒนา อย่าง คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ที่ตั้งกระทู้ถามด่วนนายกรัฐมนตรี เรื่องการขุดเจาะสำรวจแหล่งปิโตรเลียม บริเวณถนนพุทธมณฑล สาย 2 เขตทวีวัฒนา ว่ารัฐบาลคำนึงถึงมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสุขอนามัย และวิถีชุมชนในพื้นที่มากพอเพียงใด ทั้งมีการวางหลักประกันความเสียหาย การฟื้นฟูสภาพพื้นที่ ภายหลังระบบขุดเจาะหรือการผลิตอย่างไร
นอกจากนั้น หากพบปิโตรเลียมในปริมาณที่มากพอแล้วจะมีขั้นตอนการดำเนินการต่อไปอย่างไร พร้อมกับขอทราบถึงความชัดเจนในเรื่องการใช้สารเคมีเหลวในกระบวนการขุดเจาะ ว่าจะมีผลกระทบต่อน้ำใต้บาดาล ระบบประปา และน้ำทะเลในอ่าวไทยหรือไม่
นอกจากนั้น ส.ว.คำนูณ ยังเผยแพร่ข้อเท็จจริงสำคัญผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ว่า “แปลงเจาะสำรวจที่ถนนพุทธมณฑลสาย 2 นั้น สัมปทานเจาะสำรวจปิโตรเลียมแปลง L45/50 เป็น 1 ใน 11 สัมปทาน 13 แปลงที่อนุมัติโดยมติคณะรัฐมนตรียุคปลายรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ (ที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็น รมว.พลังงาน) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ก่อนเลือกตั้งทั่วไป 5 วัน (วันที่ 23 ธันวาคม 2550) แปลงนี้ใต้ดินมีพื้นที่กินกว้างถึง 4,000 ตารางกิโลเมตร กินบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรีโดยเฉพาะทวีวัฒนา พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และในภาพรวมแล้วเชื่อว่าเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม” ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ย่อมหมายความว่า การขุดหลุมลึกลงไปใต้ดินถึง 2 กิโลเมตรกว่า ย่อมส่งผลสะเทือนเป็นวงกว้าง มิใช่เพียงแค่ขุดลงไป เมื่อไม่พบน้ำมันก็อุดด้วยซีเมนต์แล้วระงับโครงการได้อย่างง่ายดาย
ไม่ต่างจากข้อสังเกตของ ดร.รักไทย บูรพ์ภาค รองผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านพลังงานมหาวิทยาลัย MIT สหรัฐอเมริกา และ อดีตที่ปรึกษาประจำสำนักงานใหญ่ธนาคารโลกด้านนโยบายพลังงาน/สิ่งแวดล้อม ที่เคยวิเคราะห์ว่า การขุดเจาะสำรวจหรือนำน้ำมันที่ขุดจากพื้นที่ในแหล่งชุมชนขึ้นมาใช้นั้น ไม่ควรทำด้วยประการทั้งปวง
“ถ้ามีการ¬ขุดเจาะน้ำมันใกล้แหล่งชุมชน โดยเฉพาะในกรณีที่มีแหล่งชุมชนอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง เช่น ที่เมืองฮิวส์ตัน หรือนิวยอร์ก ก็มีแหล่งน้ำมัน แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาห้ามขุดเจาะในสองเมืองนี้ ที่ขุดไม่ได้ เพราะการขุดเจาะมีการใช้สารเคมีระหว่างกระบวนการขุด ไหนจะมีการใช้สารเคมีเหลวในการเจาะระหว่างการเจาะ เช่น กระบวนการหล่อซีเมนต์ (Cementing process) หรือไฮดรอลิก แฟลกเจอริง (Hydraulic fracturing) ก็อาจจะมีการเจือปนสารเคมีกับระบบน้ำประปา น้ำใต้บาดาล
“หรือที่ร้ายแรงกว่านั้น น้ำใต้บาดาลที่โดนสารเคมีนี้อาจจะไปส่งผลกระทบถึงอ่าวไทย ซึ่งไม่ไกลจากแหล่งขุดเจาะ ถ้าเขียนแล้วไม่อธิบายผู้อ่านจะสับสน แล้วทำไมอ่าวไทยเจาะได้ นั่นก็เพราะว่า เจาะนอกฝั่งกับเจาะบนบกใช้กระบวนการต่างกัน แม้ว่าจะใกล้เคียงกันก็ตาม ซึ่งถ้าเจาะบนบกตามกฏสากลแล้วเขาจะไม่เจาะใกล้แหล่งชุมชน เป็นที่ฟ้องร้องกันหลายคดี และผลลัพธ์ส่วนใหญ่บริษัทที่เจาะจะถูกปรับมหาศาล”
นอกจากคำถามสำคัญจากทั้ง ส.ว.คำนูณ และ ดร.รักไทย บูรพ์ภาค แล้ว ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในนักวิชากการผู้ติดตามความเคลื่อนไหวด้านพลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด ตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่า รัฐบาลได้ใส่ใจถึงการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ( อีไอเอ) มากเพียงใด และทุกหน่วยงานทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงผลกระทบ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับคุณภาพชีวิตประชากรมากน้อยแค่ไหน เชื่อมั่นได้อย่างไรว่าการขุดเจาะดังกล่าวจะปลอดจากการปนเปื้อนของสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนั้น กรณีศึกษาถึงการขุดหาทรัพยากรใต้พื้นดินที่เคยเป็นปัญหาทำให้ดินทรุด หน่วยงานของรัฐและบริษัทที่ได้รับสัมปทานเคยวิจัยศึกษาถึงความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นคล้ายคลึงกันหรือไม่ เพราะเหตุใด ตราบจนวันนี้ ประชาชนไม่น้อยในเขตพื้นที่ทวีวัฒนา รวมถึง จ.นครปฐม อยุธยา และสุพรรบุรี ที่ได้รับผลกระทบ จึงยังไม่รับทราบถึงข้อมูลดังกล่าว รัฐปกปิดข้อมูลข่าวสารหรือไม่
ที่สำคัญ ในกรณีที่พบน้ำมันจริงๆ รัฐจะมีวิธีการแบ่งปันผลกำไรที่เป็นธรรมอย่างไร และท้ายที่สุดแล้ว ผลกำไรนั้นคุ้มค่ากันหรือไม่กับความเสี่ยงที่ประชาชนต้องเผชิญ
ทรัพยากรใต้ดินถูกถลุง แต่ประชาชนถูกปิดกั้นข้อมูล
ดร.เดชรัต บอกเล่าว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทราบกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว เพราะบริษัทได้สัมปทานตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งบริเวณที่ได้รับอนุญาตให้ขุดเจาะ คือบริเวณที่ติดกับ จ.นครปฐม และ จ.สุพรรณบุรี แต่ประชาชนเองก็ยังถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ชาวบ้านใน จ.นครปฐม และ จ. สุพรรณบุรี ต้องการข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งการดำเนินการต่างๆ ควรจะมีความโปร่งใสมากกว่านี้
“ผมเชื่อว่าน้ำมันนั้นถูกค้นพบแน่ เพียงแต่ว่าจะมีปริมาณที่คุ้มกันหรือไม่กับการดำเนินการการผลิต และการป้องกันผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม จะทำได้ดีพอหรือเปล่าเพราะถ้าจะดำเนินการเพื่อการผลิตจริงก็ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญก็คือ การดำเนินการตามมาตรา 67 ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการเปิดให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตรวจสอบและให้ความเห็น ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนของสัญญาการขุดเจาะสำรวจยังไม่มีการให้ข้อมูลกับประชาชนชัดเจนเพียงพอ และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ประชาชนยังเข้าไม่ถึงข้อมูล ทำให้สังคมเกิดความไม่เชื่อใจ
“ผมว่าเรื่องของข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่หน่วยงานที่รับผิดชอบคือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาเปิดเผยว่าพื้นที่ที่มีการอนุญาตให้ขุดสำรวจนั้นเป็นพื้นที่ใด แล้วรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนของการสำรวจนั้น เขียนไว้ว่าอย่างไรบ้าง และขั้นตอนของการตรวจสอบหรือเฝ้าระวัง มีใครเป็นผู้ดำเนินการและมีวิธีเฝ้าระวังหรือติดตามผลอย่างไร ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร ควรเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้แก่ประชาชนอย่างใกล้ชิด หากองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนรับผิดชอบไม่ทำตามที่กล่าวมานี้ ภาคประชาชนก็ต้องติดตามรายงานอีไอเอ เพื่อทราบถึงข้อมูลข้อเท็จจริง”
อภิมหาโปรเจกต์ที่สมควรระงับ
ในความเห็นของ ดร.เดชรัตน์ หากพบน้ำมันจริง ผลประโยชน์ที่ได้รับก็ไม่ได้หมายความว่าจะทดแทนความเสี่ยงหรือผลกระทบของประชาชนได้ โดยเฉพาะในกรณีนี้ ชัดเจนว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนั้นมีความสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจและที่อยู่อาศัย ดังนั้นจึงไม่สามารถมีสิ่งใดมาแลกเปลี่ยนหรือทดแทนกันได้
“เมื่อเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง โครงการนี้ก็ไม่สมควรที่จะดำเนินการต่อไป ในอนาคตข้างหน้าเราอาจจะมีเทคโนโลยีที่ปลอดภัยมากกว่านี้ และที่สำคัญน้ำมันที่อยู่ข้างใต้พื้นดินมันก็ไม่ได้สูญหายไปไหนเพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้มีเทคโนโลยีที่มั่นใจได้เพียงพอต่อความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เราก็ไม่ควรที่จะรีบนำน้ำมันนั้นมาใช้ประโยชน์
“เท่าที่ผมทราบ ในประเทศอื่นๆ นั้น ไม่น่าจะมีที่ไหน ที่เขาทำการขุดเจาะน้ำมัน ในพื้นที่ที่ที่มีความเสี่ยงสูงมากเท่าเราแล้ว พื้นที่ของเรานี่เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดแล้ว นอกจากนั้น ยังเสี่ยงกับประเด็นพื้นที่การเกษตรจำนวนมากด้วย ตั้งแต่ จ.นครปฐม จ.สุพรรณบุรี และอีกหลายพื้นที่ก็เสี่ยงมาก”
หากยังมีการขุดเจาะต่อไปจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้างนั้น ดร.เดชรัตน์อธิบายว่า มีหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องของมลพิษทางอากาศ เนื่องจากต้องใช้เครื่องมือในการขุดเจาะต่างๆ รวมถึงมลพิษทางน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากการรั่วไหลของสารเคมีและสิ่งอื่นๆ ที่ขึ้นมาจากหลุมน้ำมัน ซึ่งอาจจะมีโลหะหนักขึ้นมาด้วย แม้ว่าจะมีการแยกไว้แล้วค่อยอัดกลับลงไปในดิน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะอัดลงไปได้ทั้งหมด จะเกิดผลกระทบต่อพื้นที่รอบๆ นั้น แล้วก็มีเรื่องการขนส่งน้ำมันไม่ว่าส่งโดยผ่านท่อหรือโดยผ่านทางรถ ก็จะมีปัญหาในเรื่องของความปลอดภัย อุบัติภัย ที่อาจเกิดขึ้นมาตามแนวส่งน้ำมัน”
เสี่ยงดินทรุด-น้ำปนเปื้อนสารเคมี
“ถ้าใช้เทคโนโลยีในการขุดสำรวจที่ไม่ต้องใช้พื้นที่หน้าดินมาก เราก็ต้องมาดูผลกระทบทางธรณีวิทยาว่าจะทำให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดินหรือเปล่า ถ้าทำให้พื้นดินทรุดตัวก็จะเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้น น่าเป็นห่วง เพราะพื้นที่เหล่านี้ เป็นพื้นที่ที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอยู่แล้ว ถ้าแผ่นดินทรุดตัวก็จะยิ่งทำให้โอกาสการเกิดอุทกภัยมีมากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ”
สำหรับผลกระทบหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและระบบนิเวศน์นั้น ดร.เดชรัตน์ อธิบายโดยเปรียบเทียบกับการขุดเจาะน้ำมันในทะเลรวมถึงหยิบยกกรณีเหมืองแร่โปรแตซด้วย เพราะแม้จะเป็นการสำรวจหรือขุดหาพลังงานและทรัพยากรที่ต่างบริบทและต่างพื้นที่แต่ก็ประเด็นร่วมคือ ‘ความเสี่ยง’ ที่ไม่อาจมองข้าม
“การขุดเจาะน้ำมันในทะเลนั้น มีผลกระทบสำคัญคือการปนเปื้อนของโลหะหนักในอาหารทะเล เพราะในเวลาขุดเจาะน้ำมันย่อมจะมีโลหะหนักขึ้นมาด้วย และโลหะหนักหลายตัวมันก็จะสะสมอยู่ในปลาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร และปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของการขุดเจาะน้ำมันทางทะเลเพื่อการผลิตก็คือ เมื่อขุดเสร็จแล้วและจะทำการปิดหลุมเจาะเพื่อยกแท่นขุดเจาะออกไป เรายังไม่มีการสำรวจอย่างใกล้ชิดว่าแท่นขุดเจาะที่จะยกเลิกการใช้งานนั้น แน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการปนเปื้อนของของโลหะหนัก”
นั่นเป็นผลกระทบอันเนื่องมาจากการขุดเจาะทางทะเล แต่สำหรับผลกระทบของการขุดเจาะสำรวจน้ำมันกลางกรุงนั้น ประเด็นสำคัญก็คือผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการขุดเจาะเช่นที่กำลังดำเนินการอยู่ ณ เขตทวีวัฒนา
“ที่อยู่อาศัยทที่มีคนอยู่มานาน และเป็นที่อยู่อาศัยที่กินพื้นที่กว้างใหญ่ขนาดนี้ ผมไม่เคยเห็นประเทศไหนทำการขุดสำรวจ ผมยอมรับว่าผมยังไม่เห็นรายละเอียดทางธรณีวิทยา แต่ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบกรณีเหมืองแร่โปแตซ ที่ จ.อุดรธานีนั้น มีการประเมินกันว่าจะทำให้ดินทรุดลงไป 70 เซนติเมตร ซึ่งทรุดขนาดนั้นสำหรับกรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องที่เสี่ยงมากต่อการถูกน้ำท่วม จากที่เคยถูกท่วมอยู่แล้ว ก็อาจจะท่วมหนักขึ้น หรือจากที่ไม่เคยท่วมก็อาจจะกลายเป็นท่วมได้
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เหมืองโปแตซแล้ว ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับกรณีนี้นั้นก็อาจจะมีอยู่สองประการหลักๆ คือ การเกิดหลุมยุบ ซึ่งพบบ้างจากการทำเหมืองละลายเกลือ อีกแบบหนึ่งก็คือการทรุดตัวในวงกว้าง หมายความว่าเราอาจไม่ทันรู้สึกตัวเลยด้วยซ้ำ ว่าแผ่นดินมันค่อยๆ ทรุดลง แบบนั้นนั่นแหละจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ส่วนการเกิดหลุมยุบนั้นเสี่ยงต่อการเกิดธรณีวิบัติภัย คือ อาจเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ได้ทันที
“ผมย้ำว่าเราต้องดูข้อมูลทางธรณีวิทยาว่าจะมีโอกาสเกิดมากน้อยแค่ไหน ภาคประชาชนจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าเขาใช้เทคโนโลยีแบบไหน ใช้วิธีการขุดอย่างไร น้ำมันอยู่ในความลึกระดับใด”
พร้อมกันนั้น ดร.เดชรัตน์ ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีการเกิดแผ่นดินทรุดตัว จากการทำเหมืองแร่โปรแตซด้วย
“กรณีแร่โปรแตซนั้น เขาใช้เทคโนโลยีที่เราเรียกว่าเหมืองแร่ใต้ดิน หมายความว่าเขาจะเปิดพื้นที่หน้าดินเพียงนิดหน่อยเท่านั้น หลังจากนั้น ก็จะทำเหมืองลงไปใต้ดินโดยขุดลึกลงไปประมาณ 100 เมตร ส่วนบนดินก็ยังมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัย มีการเกษตรตามปรกติ กรณีที่น่าสนใจของเหมืองแร่โปแตซ ก็คือแม้จะขุดลึกลงไป 100 เมตรแล้วก็ตาม ยังส่งผลกระทบถึงการทรุดตัวของพื้นดินด้วย และยังมีกรณี ‘หางเกลือ’ หรือส่วนที่ขุดขึ้นมาแล้วไม่ได้ใช้ อัดกลับลงไปในดินด้วย แต่ว่าในกระบวนการอัดกลับลงไปก็ยังมีผลที่ทำให้เกิดการทรุดตัวได้ ซึ่งในการขุดเจาะน้ำมันนั้น ก็มีความเสี่ยงมากเช่นกันที่จะเกิดปัญหาดินทรุดตัว”
นอกจากเรื่องดินทรุดตัวแล้ว ปัญหาอื่นๆ ของแร่โปแตซที่อาจเกิดตามมาก็อาจได้แก่ ปัญหาเรื่องการปนเปื้อนของกองเกลือที่วางกองเอาไว้แล้วปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ หรือการเกิดฝุ่นเกลือที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของประชาชนและการเกษตรในพื้นที่
หากนำไปเปรียบเทียบกับการขุดเจาะในเขตทวีวัฒนาที่กินพื้นที่กว้างถึง 2,000 ตารางกิโลเมตร ก็ทำให้อดหวั่นไม่ได้ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรนอกเหนือไปจากนี้อีกบ้าง
“จริงๆ แล้ว ตัวแปรสำคัญมันอยู่ที่ว่าวิธีเจาะของเขาเป็นอย่างไร ถ้าเป็นการเจาะแบบเปิดพื้นที่มาก เรื่องความเสี่ยงเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ทางน้ำก็เยอะ แต่ถ้าเป็นการเจาะแบบไม่ได้ใช้พื้นที่มาก แต่ใช้วิธีชอนไชลงไปใต้ดิน ก็จะมีความเสี่ยงเรื่องของดินทรุด ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้ว่าเป็นแบบไหน แต่ไม่ว่าอย่างไร ผมก็มีความเห็นว่ามีความเสี่ยงมากทั้ง 2 เทคโนโลยี”
การแบ่งสรรประโยชน์ที่เหมาะสม
มองอีกมุมหนึ่ง หากรัฐในฐานะผู้ให้สัญญาสัมปทานยึดถือในหลักการที่ว่า สำรวจหาน้ำมันเพื่อผลประโยชน์ของชาติแล้ว ในกรณีที่พบน้ำมันหลักการแบ่งสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมเป็นเรื่องที่สังคมต้องถามไถ่ภาครัฐ มุมมอง ดร.เดชรัตน์ ต่อประเด็นดังกล่าวก็คือ ในกรณีที่ขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงมากนั้น ควรคำนึงว่า คุ้มค่าหรือไม่กับการที่เราต้องนำประชาชนจำนวนมากไปเสี่ยงกับผลกระทบที่เกิดขึ้น
ที่ผ่านมา หลายประเทศเขาใช้วิธีการแบ่งปันรายได้ หรือแบ่งปันผลกำไร แต่ของเรายังใช้วิธีการของค่าภาคหลวง ทำให้เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนเรื่องผลกำไรจากปิโตรเลียมที่ขุดเจาะหาได้ในประเทศแล้ว เราได้รับน้อยกว่าประเทศอื่นๆ
ดร.เดชรัตน์ อธิบายว่า คำว่าแบ่งปันรายได้และแบ่งปันผลกำไรนั้น ของเราจะคิดเป็นลักษณะของค่าภาคหลวง (ค่าภาคหลวงหมายถึงภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากการทำเหมืองและขุด ผลิตแร่ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน) อัตรา 5-15 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าของผลผลิต แต่การแบ่งปันรายได้หรือแบ่งปันผลกำไรนั้น หมายถึงว่า สัดส่วนจะเพิ่มสูงขึ้น ขึ้นอยู่กับว่ารายได้และกำไรนั้นได้เท่าไหร่ บางประเทศอาจสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ประเทศที่สูงที่สุด ถ้าจำไม่ผิดคือ เม็กซิโก อาจสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บางประเทศก็กลับกันเลย ก็คือ น้ำมันเป็นของรัฐ แล้วมีการรับจ้างขุด
ส่วนประเทศไทย หลังจากรัฐได้ค่าภาคหลวง 5-15 เปอร์เซ็นต์ ก็ไปรอหักจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งต้องถูกลบด้วยต้นทุนต่างๆ อีกเยอะแยะ ทำให้สัดส่วนที่เราได้มาเบ็ดเสร็จแล้ว อาจได้แค่ราวๆ 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น เรายังมีโจทย์เรื่องการแบ่งสรรประโยชน์ภายในประเทศด้วย หมายถึงว่า ถ้ามีรายได้เกิดขึ้น ควรจะแบ่งให้ประชาชน ชุมชน หรือท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบอย่างไร เพราะที่ผ่านมา ยังไม่มีการจัดสรรประโยชน์ให้แก่ชุมชนและท้องถิ่นนัก ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบไม่มีโอกาสพัฒนา
แต่ไม่ว่าอย่างไร การแบ่งปันประโยชน์ในแต่ละรูปแบบที่กล่าวมา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทดแทนความเสี่ยง หรือผลกระทบของประชาชนได้ โดยเฉพาะในกรณีนี้ ชัดเจนว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนั้นเป็นพื้นที่ที่ชุมชนอยู่หนาแน่นมาก เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจและที่อยู่อาศัย จึงไม่มีสิ่งใดมาแลกเปลี่ยนหรือทดแทนกันได้
ความปลอดภัยของประชาชน ต้องสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด
ท้ายที่สุด ดร.เดชรัตน์ ย้ำทิ้งท้ายว่าเราไม่ควรเสี่ยง โดยเฉพาะถ้าความเสี่ยงนั้นทำให้เกิดผลกระทบขึ้นกับประชาชน ที่สำคัญพื้นที่สำหรับการขุดเจาะครั้งนี้อยู่ด้านตะวันตกฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมาก การเตรียมการเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมของภาครัฐเมื่อเทียบกับฝั่งตะวันออกนั้น การรับมือในฝั่งตะวันตกด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงเป็นเรื่องใหญ่
ถึงแม้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงพลังงาน จะบอกว่าการขุดสำรวจที่ลึกลงไปจากผืนดินถึง 2 กิโลเมตรกว่า ในกรณีที่ไม่เจออะไรก็จะอุดหลุมด้วยซีเมนต์ ถือเป็นการจบสิ้นกระบวนการขุดสำรวจ แต่ในความเป็นจริง จะแน่ใจได้อย่างไรว่าการอุดหลุมด้วยซีเมนต์นั้นมีความปลอดภัยมากเพียงพอ
“การอุดหลุมด้วยซีเมนต์ เป็นหนึ่งในวิธีมาตรฐาน แต่ไม่ใช่ว่าทำแค่นี้แล้วจบ เรายังต้องติดตามการดำเนินการว่าการอุดซีเมนต์ถาวรนั้นจะมีอะไรรั่วไหลออกไปไหม”
ผู้ที่ต้องตอบคำถามให้กระจ่างที่สุด จึงไม่พ้นกรมเชื้อเพลิงพลังงาน รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าบริษัทเอกชนที่ได้รับสัญญาสัมปทานขุดเจาะสำรวจ หรือบริษัทอินเตอร์เนชั่ลแนล เอ็นไวรอนเม้นต์ จำกัด (IEM) ในฐานะที่ปรึกษาการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สำคัญกว่านั้น ข้อมูลที่นำมาเปิดเผยต้องเป็นข้อเท็จจริงที่โปร่งใส ไม่หมกเม็ด ไม่บิดเบือน หลอกลวงให้เข้าใจผิดว่าไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อคุณภาพชีวิตของพลเมือง