xs
xsm
sm
md
lg

(ข่าวประกอบ) “รสนา”นำทีม ส.ว.ลงพื้นที่เขตทวีวัฒนา แหล่งขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2555 คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา นำโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ในฐานะประธานกมธ. น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี รองประธานคนที่ 1 นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา รองประธานคนที่ 2 พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่สำรวจ ณ บริเวณการขุดเจาะสำรวจแหล่งปิโตรเลียม ถ.พุทธมณฑลสาย เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ มีนายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นผู้ชี้แจงและบรรยายสรุป และเจ้าหน้าที่จากบริษัท มิตรา เอ็นเนอร์ยี่ ลิมิเต็ด บริษัทที่ได้รับสัมปทานการขุดเจาะสำรวจในพื้นที่เขตวัฒนา ให้การต้อนรับ

นายทรงภพ กล่าวว่า เมื่อเดือนมกราคม 2550 รัฐบาลได้ให้สัมปทานบริษัท มิตรา เอ็นเนอร์ยี่ ลิมิเต็ด ในการสำรวจปิโตเลียม และจากการวัดคลื่นใต้ดิน พบมีการไหวสะเทือน ซึ่งน่าจะพบปิโตรเลียม และพื้นที่ที่ดีที่สุด คือ เขตทวีวัฒนา หลังจากบริษัทพบว่ามีโครงสร้างที่น่าสนใจ ก็ได้ดำเนินการ 3 เรื่อง 1.ทำแผนการเจาะทางด้านเทคนิค ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พิจารณาว่า เทคนิคไปเป็นตามมาตราฐานสากลหรือไม่ 2.ส่งเรื่องขอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรื่องการฟังความคิดเห็นของประชาชน และขบวนการทั้งหมดถ้า EIA ไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถเจาะได้ 3.พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สีเขียว จึงได้ทำหนังสือหารือ ไปยังสำนักผังเมืองกรุงเทพฯ เพราะพื้นที่สีเขียวห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรม จึงถามว่า การเจาะทำได้หรือไม่ กทม.ตอบว่าได้ การเจาะสำรวจไม่ถือว่าเป็นโรงงานอุตสาหกรรม สามารถดำเนินการได้ จึงได้เริ่มดำเนินการ
ส่วนการผลิตถ้าเจอปิโตรเลียม ต้องหารืออีกครั้ง เพราะต้องดำเนินการอีก 3 ขั้นตอน คือ ทำเรื่องขออนุมัติพื้นที่ผลิต ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ว่า 1.มีขบวนการผลิตอย่างไร ใต้ดินครอบคลุมบริเวณไหน 2.EIA ต้องเริ่มต้นกระบนการใหม่ และ 3.หารือกทม.ว่าจะดำเนินการได้อย่างไร แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นสำรวจ ถ้าไม่เจอทุกอย่างก็จบ แต่ในการขุดเจาะเราก็เลือกเฉพาะพื้นที่มีศักยภาพจริงๆ ถ้าพบปิโตรเลียม ก็จะเป็นแหล่งน้ำมันขนาดนั้นเล็ก ใช้เป็นตัวปั๊มหรือไม่ก็ตัวโยก และยืนยันว่า ในการเปิดสัมปทาน เราหลีกเลี่ยงพื้นที่อ่อนไหวอยู่แล้ว

ด้านน.ส.รสนา กล่าวว่า หากพบปิโตรเลียมจริง ประชาชนบริเวณนี้จะได้ผลดี-ผลเสียอย่างไร และได้ผลตอบแทนอย่างไร ถ้าเกิดความเสียหายกับสิ่งแวดล้อม ดินทรุด บ้านทรุด สารเคมีลงไปในแหล่งน้ำหรือไม่ และจะมีการชดเชยเยียวยาอย่างไร

นายทรงภพ กล่าวว่า เรื่องผลประโยชน์ปิโตรเลียมเป็นของรัฐอยู่แล้ว ส่วนค่าตอบแทน ตามกฎหมายมีค่าภาคหลวง 20 เปอเซ็นต์ ให้อบต.ที่อยู่ในพื้นที่ผลิต อีก 20 เปอเซ็นต์ ให้อบจ.10 เปอเซ็นต์ ให้อบต.ที่อยู่นอกพื้นที่การผลิตในจังหวัด และ10 เปอเซ็นต์ ให้อบต.ทั่วประเทศ กทม.ได้ 40 เปอเซ็นต์ และประชาชนจะได้อะไรนั้น โดยหลักการต้องให้ท้องถิ่นเป็นคนจัดสรร

คาด ปลายเดือน มี.ค. รู้ผล
ส่วนปัญหาดินทรุดนั้น เนื่องจากปิโตรเลียม ต้องเจาะลึกลงไปเกิน 2 กิโลเมตรและปิโตรเลียมส่วนใหญ่จะอยู่ในหินแข็ง ในช่องว่างของเม็ดทราย ต้องใช้น้ำไล่ ซึ่งไม่ทำให้โครงสร้างเปลี่ยน ตนยืนยันเพราะเจาะมาแล้วกว่า 6,000 หลุม และการเยียวยาในทุกบริษัทจะมีประกันอยู่แล้วและกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สามารถสั่งการให้บริษัทแก้ไขปัญหาได้ ถ้ามีผลกระทบสั่งการได้ทันที อย่างไรก็ตามเรื่องสารเคมี ขบวนการเจาะใช้น้ำโค่น หล่อลื่นหัวเจาะ และใช้แร่บางชนิด เพื่อกดหัวเจาะ ทั้งหมดเป็นระบบปิด ไม่มีสารเคมี ซึ่งเรื่องการปนเปื้อน น้ำบาดาล น้ำประปาหรือไม่ เราระมัดระวังมากที่สุด และขณะนี้เจาะได้ 350 เมตร เพื่อลงท่อเหล็กปิด ซึ่งชั้นบนจากนี้ จะไม่มีอะไรออกนอกหลุม คาดว่าปลายเดือน มี.ค. นี้ น่าจะถึง 2.5 กิโลเมตร โดยทำตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้เรื่องเสียงและฝุ่น ก่อนมีการขุดเจาะ เรามีเซ็นเซอร์และเครื่องวัด

ขณะที่น.ส.สุมล กล่าวว่า หากเกิดกรณีมีบริษัทผ่านทุกขั้นตอนแต่มีประชาชนมาต่อต้านไม่ให้ทำ จะดำเนินการอย่างไร นายทรงภพ กล่าวว่า บริษัทมิตรา ใช้เวลา 2 ปี โดยเริ่มจากสำรวจทัศนคติ ในรัศมี 5 กิโลเมตร ทำมาแล้ว 3 ครั้ง และรับฟังความคิดเห็น แต่ก็ยังมีคนไม่เข้าใจอยู่ 1 กลุ่ม ซึ่งเราเข้า EIA 6 รอบ ถือว่านานมาก แต่สุดท้ายต้องมาทำ 10 หมู่บ้าน และผลสำรวจออกมา เห็นด้วย มากกว่า ไม่เห็นด้วย อยู่ไม่มาก จึงต้องมีการให้ประชาสัมพันธ์มากขึ้น โดยได้เชิญ ตัวแทนเขต 3 เขต ตัวแทนม.มหิดล ตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทนหมู่บ้าน

จากนั้น น.ส.รสนา กล่าวภายหลังการสำรวจพื้นที่ว่า เรื่องนี้ต้องดูรายละเอียดมากกว่านี้ และในวันนี้ต้องการมาดูพื้นที่ ว่าหากพบปิโตรเลียมจะมีนโยบายเชิงพานิชย์อย่างไร เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงประชาชน จะได้รับความเดือดร้อน และประชาชนก็ไม่ได้อะไร รัฐก็ได้น้อย หากประเมินกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

ด้านนายคำนูณ กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากตรวจสอบความถูกต้องของการดำเนินการทุกขั้นตอนของโครงการดังกล่าวแล้ว ตนจะเสนอให้คณะกมธ. ศึกษาภาพรวมในเชิงโครงสร้างของระบบบริหารจัดการพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยด้วย โดยเน้นการศึกษา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2550 และ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ที่ภาครัฐพยายามเข้าไปแก้ไขในช่วงปี 2552-2553 แต่เกิดการคัดค้านจากภาคประชาชน จนต้องถอนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกไป รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการบัญญัติหลักการใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย

ทั้งนี้ หลักการประชาธิปไตยที่แท้จริงควรจะทำให้เกิดความชัดเจนว่า ปิโตรเลียมและแร่เป็นของประชาชน หรือเป็นของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เป็นของรัฐเหมือนปัจจุบัน ในพ.ร.บ.ปิโตรเลียม มาตรา 23 ระบุให้การบริหารจัดการปิโตรเลียมและแร่ ควรเร่งแผนแม่บทที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมรับรู้ทั้งระบบ ทั้งแผนการใช้ การให้สัมปทาน ค่าภาคหลวง ไม่ใช่ให้สิทธิรัฐฝ่ายเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น