“พลังงาน” ยอมรับชะลอการเห็นชอบการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบใหม่ ครั้งที่ 22 หลังเกิดปัญหาการต่อต้านการสำรวจในพื้นที่เขตทวีวัฒนา โดยจะเน้นการเตรียมพร้อมการสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น ขณะที่ “รสนา-คำนูณ” เสนอแก้กฎหมายปิโตรเลียมให้แบ่งปันผลประโยชน์สูงขึ้น
นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการปิโตรเลียม ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ยังไม่เห็นชอบให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 จำนวน 22 แปลง โดยขอให้กรมฯ ไปทบทวนว่าจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเข้าใจเรื่องสัมปทานอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการต่อต้านเช่นเดียวกับแอ่งธนบุรี ถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ คณะกรรมการยังสั่งเตรียมข้อมูลให้พร้อม สำหรับผู้ขอรับสัมปทาน เพราะต้องยอมรับว่า แม้ทั้ง 22 แปลง จะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่สุดของไทย และไม่ใช่แหล่งชุมชน แต่ก็นับว่าเป็นแหล่งเล็กเมื่อเทียบกับประเทศที่มีปิโตรเลียมเป็นจำนวนมาก ในขณะที่การให้สัมปทานครั้งนี้ จะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการลงทุนเจาะสำรวจอย่างแท้จริง คือ ต้องลงทุนเจาะสำรวจอย่างน้อย 1 หลุม ลงทุนประมาณ 3-5 ล้านดอลลาร์ต่อหลุม เมื่อรวมทุกแปลงแล้วจะเกิดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 2,000 ล้านบาท
“การเปิดสัมปทานในไทย เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลเพิ่มเติมและตอบสนองต่อความต้องการใช้พลังงานของไทย เพราะในขณะนี้ถือว่าประเทศไทยมีการผลิตปิโตรเลียมสูงสุดแล้วประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์ต่อวันแล้ว กรมฯ จะพยายามรักษากำลังผลิตเช่นนี้อย่างต่ำ 5 ปี หลังจากนั้นหากไม่หาเพิ่มกำลังผลิตก็จะลดลง ซึ่งการสำรวจก็เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับลูกหลานในอนาคตด้วย”
นายทรงภพ ยังกล่าวให้สัมภาษณ์ ภายหลังชี้แจงข้อมูลแก่ทางคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล นำโดย นางสาวรสนา โตสิตระกูล และ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ลงพื้นที่ขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในเขตทวีวัฒนา โดย บริษัท มิตราเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด
โดยทางด้าน ส.ว.เป็นห่วงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้เปลี่ยนแปลงจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ เพื่อทำให้ประเทศมีรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มสูงขึ้น และยังเสนอว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งจะมีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมานั้น ควรจะมีการเพิ่มเติมว่าในเรื่องของการขุดเจาะปิโตรเลียมให้ผลประโยชน์ตกสู่ภาคประชาชนมากขึ้น โดยให้ประชาชนเป็นเจ้าของสัมปทานร่วมด้วย
นายทรงภพ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันการดำเนินการด้านปิโตรเลียมของไทยเป็นรูปแบบการให้สัมปทานทั่วโลก ส่วนใหญ่ใช้ระบนนี้ ส่วนอินโดนีเซีย มาเลเซีย ใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ มีแหล่งพื้นที่ที่มีปริมาณปิโตรเลียมในสัดส่วนที่สูง
ขณะที่ไทยแต่ละแห่งมีปิโตรเลียมน้อยมาก จึงให้รูปแบบสัมปทานโดยผลตอบแทนแก่ภาครัฐจะแบ่งออกเป็นค่าภาคหลวงในอัตราร้อยละ 5-15 และภาษีปิโตรเลียม โดยแบ่งจากกำไรของการผลิตปิโตรเลียมในสัดส่วนร้อยละ 50 ทำให้ไทยได้รายได้จากปิโตรเลียมเฉลี่ยประมาณร้อยละ 55-65 ของผลประกอบการปิโตรเลียม ขณะที่บริษัทเอกชนได้ประมาณร้อยละ 45 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงในระดับกลางของโลก เพราะต้องเข้าใจว่าการกำหนดระเบียบต้องดูพื้นที่ศักยภาพปิโตรเลียมของแต่ละประเทศด้วย