xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” จี้กระทู้ เจาะสำรวจน้ำมันทวีวัฒนา นำคณะลงพื้นที่ 15 มี.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
“ส.ว.คำนูณ” จี้กระทู้ด่วน ถามนายกฯกรณีต่างชาติเจาะสำรวจน้ำมันย่านทวีวัฒนา หวั่นกระทบวิถีชีวิต-สิ่งแวดล้อม ยื่นข้อเสนอ 6 ข้อ รัฐต้องปฏิบัติในการให้สัมปทาน พร้อมนำคณะลงพื้นที่ตรวจสอบแท่นขุดเจาะ 15 มี.ค.นี้ ด้าน รมว.พลังงาน ยันปลอดภัย 100% ระบุหากพบแหล่งน้ำมันเชิงพาณิชย์ ต้องรับฟังความเห็นประชาชนอีกรอบก่อน


วันนี้ (12 มี.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา โดยมี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้พิจารณากระทู้ถามด่วน เรื่องการขุดเจาะสำรวจแหล่งปิโตรเลียมบริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนา กทม.โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน ถามนายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้มีบริษัทสำรวจปิโตรเลียมต่างชาติได้เตรียมการขุดเจาะสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใต้ดิน บนแปลงสำรวจ บริเวณริมถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนา กทม.โดยจะดำเนินการตามขั้นตอนขุดเจาะ ภายในเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งสร้างความสงสัยและไม่มั่นใจ ในอนาคตของประชาชน ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ซึ่งเป็นเขตพื้นที่สีเขียวและที่อยู่อาศัย ซึ่งรัฐบาลและ กทม.ไม่ได้ชี้แจงว่า หากในอนาคตพบจำนวนปิโตรเลียมมากที่จะดำเนินการในเชิงพาณิชย์ จะกระทบต่อสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในบริเวณรอบๆ ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตรอย่างไร เหตุใดรัฐจึงให้สัมปทานในเขตพื้นที่สีเขียว ในระหว่างการขุดเจาะมีหลักประกันอย่างไรที่จะไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และรัฐบาลได้มีการเตรียมการเยียวยาและแก้ปัญหาไว้แล้วหรือไม่อย่างไร

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า อยากให้แร่ธาตุหรือปิโตรเลียม ซึ่งมีในประเทศไทยมากพอสมควรจากการสำรวจของต่างชาติ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมจริงๆ จึงฝากรัฐบาลว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ 1.แร่และปิโตรเลียมเป็นของประชาชน 2.ห้ามสำรวจในพื้นที่ของประชาชนเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตโบราณสถาน หรือแหล่งมรดกทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม 3.กำหนดการมีส่วนรวมอย่างแท้จริงของประชาชน โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่ 4.ต้องมีมาตรการปกป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และวิธีการดำเนินชีวิตของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ และการวางหลักประกันความเสียหาย 5.กำหนดหลักเกณฑ์การนำรายได้จากการสำรวจแร่ ปิโตรเลียม และการทำเหมืองแร่ คืนสู่ประชาชนและในพื้นที่ และ 6.กำหนดมาตรการที่เหมาะสม และเป็นรูปธรรม เพื่อการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองแร่ เลิกขุดเจาะสำรวจ ซึ่งเป็นไปตามหลักการปกครองประชาธิปไตย ที่มีการแบ่งแยกอำนาจและการถ่วงดุลอำนาจและให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมทั้งกรรมสิทธิ์ในทรัพยากร ทั้งนี้ มีนักวิชาการบางคนออกมา ระบุว่าในการขุดเจาะมีการใช้สารเคมีเหลวบางชนิดซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเจือปนของสารเคมีในระบบน้ำประปา น้ำใต้บาดาล และน้ำบาดาลที่ได้รับผลกระทบ อาจส่งผลกระทบไปถึงอ่าวไทย

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ คณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาธิบาล ซึ่งตนเป็นประธานจะลงพื้นที่ตรวจสอบ แท่นขุดเจาะ จึงให้รัฐมนตรีลงพื้นที่หรือมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ร่วมลงชี้แจงทำเข้าใจกับประชาชนด้วย

ด้าน นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน ชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวทางกระทรวง ซึ่งได้รับอนุมัติจาก ครม.ให้ออกสัมปทานปิโตรเลียมให้กับบริษัท มิตราเอ็นเนอยี่ ลิมิเต็ด จากประเทศ อังกฤษ เป็นผู้สำรวจตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.51 โดยใช้เวลาทั้งหมด 6 ปี จะเสร็จภายในปี 57 โดยพื้นที่เริ่มแรกเกือบ 4 พันตารางกิโลเมตร แต่ได้คืนพื้นที่บางส่วนไปแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังคงเหลืออีก 2 พันตางรางกิโลเมตรโดยครอบคลุมในส่วน กทม. นนทบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี โดยบริษัทมีข้อผูกพันกับรัฐบาลที่ต้องศึกษาในเรื่องธรณีวิทยา วัดคลื่นไหวสั่นสะเทือน ตรวจสอบโครงสร้างของชั้นหิน

ซึ่งจากการวัด พบว่า มีโครงสร้างทางธรณีที่น่าสนใจในเขตทวีวัฒนา โดยจะรู้ว่ามีแหล่งปิโตรเลียมหรือไม่ ต้องขุดเจาะต่อ ซึ่งทางบริษัทได้ไปเช่าบริเวณพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่าจำนวน 8 ไร่ โดยการเจาะจะใช้เทคโนโลยีใหม่สุด เพื่อพิสูจน์ว่า พื้นที่มีปิโตรเลียมหรือไม่ ซึ่งได้เริ่มขุดสำรวจไปแล้วโดยพื้นที่ 5 ไร่ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ภายใต้การกำกับดูแลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีการฉีดน้ำบนผิวดิน เพื่อป้องกันฝุ่น การติดตั้งเครื่องวัดปริมาณ ฝุ่นละออง และระดับเสียงรอบพื้นที่ สร้างรั้วรอบฐานเจาะ สังกะสีสูง 4 เมตร มีวัสดุผ้าใบ อีก 2 เมตร รวมทั้งหมด 6 เมตร แนวร่องน้ำโดยรอบ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วไหลออกไปสู่ภายนอกได้ ทั้งนี้ การก่อสร้างฐานขุดเจาะเสร็จตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และเริ่มขุดเจาะสำรวจเมื่อวันที่ 9 มี.ค ที่ผ่านมา โดยความลึกที่จะเจาะ 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน

รมว.พลังงาน ชี้แจงอีกว่า นอกจากนี้ มีคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ผู้แทนจากประชาชนที่อยู่รอบๆ โครงการในรัศมี 1 กิโลเมตร ส่วนราชการ สถาบันการศึกษา โดยคณะกรรมการจะตรวจสอบการทำงานของบริษัทเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งมีการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ยืนยันว่า การขุดเจาะ ได้เน้นความปลอดภัย มั่นคง ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ไม่สามารถดำเนินการได้เลย ต้องมีการกำหนดพื้นที่ พร้อมแผนการผลิต ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพิจารณาอนุมัติก่อน พร้อมจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรับฟังความคิดเห็นประชาชนอีกครั้ง เมื่อได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมแล้ว จึงจะเริ่มโครงการได้

ซึ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายของสำนักผังเมือง กทม.ในการที่บริษัทได้เข้าไปในพื้นที่ก็ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ไปแล้ว ถึง 2 ครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายมีประชาชนที่เห็นด้วย 87 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสารเคมีมีการใช้บ้าง แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่สารเคมีที่เป็นพิษ กล้ายืนยันว่า จะไม่ลงไปเจือปนน้ำประปากับน้ำทะเล ร้อยเปอร์เซ็นต์ และหากมีอะไรเกิดขึ้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เตรียมเจ้าหน้าที่ ซึ่งอยู่บริเวณดังกล่าวตลอด พร้อมที่จะแก้ไข ส่วนลงพื้นที่ในวันที่ 15 มี.ค.ตนพร้อมจัดเวลาและขออนุญาตลงไปด้วย

นอกจากนี้ ในเวลฃาต่อมา นายคำนูณได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก "คำนูณ สิทธิสมาน ว่า ที่แท้ "มิตราเอ็นเนอร์ยี่ลิมิเต็ด" ที่ได้สัมปทานสำรวจปิโตรเลี่ยมแปลง L 45/50 แถวทวีวัฒนา ก็คือบริษัทต่างชาติสัญชาติอังกฤษ เชื่อเถอะว่าบริษัทต่างชาติเหล่านี้จะถือหุ้นไขว้กันไปมา แต่แท้จริงสาวไปสาวมาก็มีรากเหง้ามาจากกลุ่มเดียวกัน กรณีมิตราฯ นี้เชื่อว่าต้องเกี่ยวข้องกับ "เพิร์ลออยล์" ที่เปลี่ยนชื่อมาจาก "แฮร์รอดส์เอ็นเนอร์ยี่" ของอภิมหาเศรษฐีเชื้อสายอียิปต์ "โมฮัมหมัด อัลฟาเยด" ที่เข้ามาทำมาหากินเรื่องปิโตรเลี่ยมในไทยตั้งแต่สมัยพี่ชายนายกฯปูแน่อน / ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นทักษิณหรือ คมช. เลือกตั้งหรือรัฐประหารทิศทางการเมืองเรื่องพลังงานเดินหน้าเป็นเส้นตรง
แท่นขุดเจาะสำรวจของ มิตราเอ็นเนอร์ยี่ลิมิเต็ด ที่ได้สัมปทานสำรวจปิโตรเลี่ยมแปลง L 45/50 ในเขตทวีวัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น