xs
xsm
sm
md
lg

บ.เจาะน้ำมันทุ่งกุลาฯ รุกรับฟังความเห็น ปชช.สุรินทร์ - เจอม็อบต้าน ผวาผลกระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียม แปลงสำรวจบนบก สัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 6/2553 /108 หมายเลข L 31/50 ในพื้นที่ ต.ชุมพลบุรี อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ วันนี้ (11 พ.ค.)
สุรินทร์ - บริษัทเจาะสำรวจปิโตเลียม ทุ่งกุลาร้องไห้ รุกประชุมชี้แจงรับฟังความคิดเห็น ปชช.ในพื้นที่หลุมสำรวจ “YPT 2” อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ครั้งสุดท้าย ก่อนรวบรวมข้อมูลเสนอกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก.พลังงาน ยันปลอดภัยไม่ส่งกระทบ ทั้งเสียง-น้ำเสีย-ของเสีย และมลภาวะจากการเจาะสำรวจน้ำมัน ขณะปชช.กลุ่มไม่เห็นด้วย รวมตัวชูป้ายคัดค้านโครงการผวาผลกระทบระยะยาว ทำลายแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิ และชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์แท้จริง ลั่นต่อต้านถึงที่สุด

วันนี้ (11 พ.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 อำเภอชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ นายนาฏศิลป์ แสนเสริม ปลัดอาวุโสอำเภอชุมพลบุรี เป็นประธานการประชุมชี้แจง และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมแปลงสำรวจบนบก สัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 6/2553/108 หมายเลข L31/50 ในพื้นที่ ต.ชุมพลบุรี อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ของ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งโครงการดังกล่าว บริษัท ซ่านซี เหยียนฉาง ปิโตรเลียม (กรุ๊ป) จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานและมี บริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด เป็นผู้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

โดยมี ดร.วนิดา จันทร์ทอง ตัวแทนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย น.ส.พัชร์วไล พงษ์พานิช ผู้จัดการโครงการ บริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด, ตัวแทน บริษัท ซ่านซี เหยียนฉาง ปิโตรเลียม (กรุ๊ป) จำกัด, เจ้าหน้าที่พลังงานจังหวัดสุรินทร์ และประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร ของโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียม หลุมสำรวจ YPT 2 หมู่ที่ 15 บ.โคกกลาง ต.ชุมพลบุรี อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ เข้าร่วม

ทั้งนี้ บริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด ทำการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอโครงการและขอบเขตการศึกษา ไปเมื่อวันศุกร์ที่ 23 ธ.ค.2554 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ และ ในวันนี้ (11 พ.ค.) เป็นการประชุมชี้แจง และรับฟังความเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ในรัศมีรอบหลุมเจาะสำรวจ 5 กิโลเมตร

ตัวแทน บริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด เปิดเผยว่า ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระหว่างเดือน พ.ย.2554 - ม.ค.2555 โดยทำการศึกษารวม 4 ด้าน คือ ด้านทรัพยากรทางกายภาพ, ทรัพยากรทางชีวภาพ, คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และ คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ในการศึกษานั้นจะดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ศึกษา รัศมี 5 กิโลเมตร รอบพื้นที่ฐานเจาะ ทั้งการประชุมรับฟังความคิดเห็นระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน และระดับครัวเรือน ซึ่งการศึกษาผลกระทบครอบคลุมทั้งพื้นที่เทศบาลตำบลชุมพลบุรี เทศบาลตำบลทุ่งศรีชุมพล และ ตำบลศรีณรงค์ อำเภอชุมพลบุรี จ.สุรินทร์

ภายหลังศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จะนำข้อมูลที่รวบรวมได้ทั้งหมด เสนอต่อ สำนักงานเลขานุการกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณาในหลักการทำประชาพิจารณ์และรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ และ เสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วจะทำการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม ใต้ผิวดินความลึกประมาณ 3,500-4,000 เมตร ซึ่งขอยืนยันในความปลอดภัย ทั้งระบบเสียง จากแท่นเจาะสำรวจน้ำมัน ระบบน้ำเสีย ของเสีย จากการขุดสำรวจ ซึ่งบริษัทที่ขุดเจาะสำรวจ จะไม่ให้มีการรั่วไหลขออกมาภายนอก พร้อมทั้งจะมีการติดตั้งเครื่องวัดระดับความดังเสียง วัดมลภาวะทางอากาศ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนแต่อย่างใด

ขณะนี้ ทางบริษัท ซ่านซี เหยียนฉาง ปิโตรเลียม (กรุ๊ป) จำกัด ได้เช่าที่ดินซึ่งเป็นที่นาจากชาวบ้าน จำนวน 10 ไร ค่าเช่าไร่ละ 14,000 บาท ต่อปี ที่บริเวณบ้านโคกกลาง ต.ชุมพลบุรี อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ หรือ หลุมสำรวจ YPT 2 พิกัด UTM X 327701 Y 1698328

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะมีการประชุมชี้แจงและรับฟังความเห็นจากประชาชน ในพื้นที่ ต.ชุมพลบุรี อ.ชุมพลบุรี ดังกล่าว ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มตัวแทนชุมชนเมืองใหม่ เขตเทศบาลตำบลชุมพลบุรี นำโดย นางศุภรักษณ์ กาญจนวงศ์ และ คุณยายละเอียด สนใจ ได้เดินทางมารวมตัวกันชูป้ายคัดค้านการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม ในพื้นที่ ต.ชุมพลบุรี อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับประชาชนในระยะยาว และเป็นการทำลายทุ่งกุลาร้องไห้แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีของ จ.สุรินทร์ โดยผลประโยชน์ตกอยู่กับนายทุนบริษัทผู้ได้รับสัมปทานเป็นหลัก ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง พร้อมยืนยันว่าจะคัดค้านการขุดเจาะสำรวจน้ำมัน อย่างถึงที่สุดต่อไป

อนึ่ง โครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าว สืบเนื่องจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กำหนดดำเนินโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียม แปลงสำรวจบนบก สัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 6/2553/108 หมายเลข L31/50 พื้นที่ 3960 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีบริษัท ซ่านซี เหยียนฉาง ปิโตรเลียม (กรุ๊ป) จำกัด เป็นผู้รับสัมปทานและมีแผนดำเนินการเจาะสำรวจปิโตรเลียม โดยมอบหมายให้ บริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด เป็นผู้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

สำหรับแปลงสำรวจปิโตเลียมบนบก หมายเลข L31/50 ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ มีพื้นที่ รวม 3,960 ตารางกิโลเมตร โดยจะทำการเจาะสำรวจ 3 หลุมเจาะ ประกอบด้วย หลุมสำรวจ YPT1 พิกัด UTM X 327701 Y 1698328 พื้นที่หมู่ที่ 8 บ.หนองไทร ต.หนองขมาร อ.เมือง จ.บุรีรัมย์, หลุมสำรวจ YPT 2 หมู่ที่ 15 บ.โคกกลาง ต.ชุมพลบุรี อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ และ หลุมสำรวจ YPT 3หมู่ที่ 4 บ.หนองสรวง ต.สระบัว อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์





หลุมสำรวจ  YPT 2 พิกัด UTM X 327701 Y 1698328 บริเวณบ้านโคกกลาง ต.ชุมพลบุรี อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์


ประชาชนกลุ่มไม่เห็นด้วย รวมตัวกันชูป้ายคัดค้านโครงการฯ

กำลังโหลดความคิดเห็น