xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย”ไส้แตกอัดกันเละ ส.ส.ทิ่มพรรคตัวเองเผด็จการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกไปแล้วเมื่อวันพุธที่ 1 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา หลังเสร็จสิ้นงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลไปเมื่อคืนก่อนหน้านั้น คือ 31 ก.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล หลักสี่
ต้องคอยดูว่าประชุมสภาฯสมัยสามัญรอบนี้ จะร้อนแรงแค่ไหน –องค์ประชุมจะล่มสักกี่ครั้ง แล้วนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะโผล่มาร่วมประชุมสภาฯ มากกว่าที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะประชุมสภาฯ สมัยที่แล้วแทบไม่เข้าประชุมสภาฯเลย
ส่วนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มติของพรรคร่วมรัฐบาลในงานเลี้ยงที่มิราเคิล ก็เป็นไปตามคาด คือ ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ไม่กล้าตัดสินใจอะไร ทำได้แค่ตั้งคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 11 คน
ทำหน้าที่เช่น ศึกษาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า สิ่งใดมีผลผูกพัน และไม่ผูกพัน เพื่อนำไปสู่การพิจารณาโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าสามารถโหวตใน วาระ3 ได้หรือไม่ หรือหากมีการแก้ไขเป็นรายมาตรา จะแก้ไขในประเด็นใดบ้าง
ส่วนระยะเวลาบอกกันมาแล้วว่า ขั้นต่ำประมาณ 3-4 เดือน หากเป็นไปตามนี้ประชุมสภาฯรอบนี้ คณะทำงานชุดนี้ก็ยังศึกษาไม่เสร็จ แต่ก็ต้องจับตาอาจสับขาหลอก ถึงเวลาจริงๆ อาจทำงานไม่เกิน 2 เดือน ก็ฟันธงออกมาแล้วว่าให้พรรคร่วมรัฐบาลลุยแก้รธน. เพียงแต่จะออกมาแบบไหน ยังต้องติดตามต่อไป
เหตุที่พรรคร่วมรัฐบาลแม้จะลุยชำเรารธน. แต่ยังคงชักช้าร่ำไรอยู่แบบนี้ น่าจะเป็นเพราะผลจากการสัมมนาใหญ่พรรคเพื่อไทย ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน เมื่อ 28-29 ก.ค.ที่ผ่านมา
ที่มีการปิดห้องประชุมให้แกนนำพรรค-ส.ส.พรรค ได้ปรึกษาหารือกัน ทั้งในเวทีใหญ่และเวทีภาค ในเรื่องแก้ไขรธน. ซึ่งแม้ความเห็นของส.ส.และแกนนำพรรคที่พากันแสดงความเห็นเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการใดๆ ออกมา
**เพราะเสียงแตกออกเป็นหลายทาง มีทั้งให้ลุยโหวต วาระ 3 –แก้ไขรายมาตรา หรือเสนอให้ทำประชามติก่อนโหวต วาระ 3
แต่ในความเห็นที่แตกต่างกันดังกล่าว ก็มีข้อสรุปอย่างหนึ่งว่าให้เดินหน้า แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่ต้องรีบ มันจึงเป็นที่มาของมติพรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าว ที่ตั้งคณะทำงาน 11 คน ขึ้นมาศึกษาการแก้ไขรธน.แบบค่อยเป็นค่อยไป
**อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการสัมมนาใหญ่ของเพื่อไทย เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาดังกล่าว ต้องติดตามว่า แกนนำพรรคจะมีการทบทวนการบริหารงานอะไรในพรรคเพื่อไทย หลังจากเปิดสภาฯมาแล้วหรือไม่
เพราะพบว่า ส.ส.ในพรรคจำนวนมาก เกือบทุกภาค ทั้งภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคอีสาน-กรุงเทพมหานคร รวมถึงปาร์ตี้ลิสต์ อีกบางส่วน แสดงความเห็นแบบตรงๆว่า ไม่พอใจในระบบบริหารจัดการพรรคเพื่อไทย ที่ผ่านมาพอสมควร เห็นได้จากเสียงสะท้อน และการระบายความอึดอัดใจในการสัมมนาพรรค ทั้งในเวทีประชุมภาค และประชุมใหญ่ของพรรค
เรื่องหลักๆ ที่บรรดาส.ส.เพื่อไทย สะท้อนออกมาก็เช่น ไม่พอใจระบบบริหารพรรค ที่ยกเลิกระบบภาค ซึ่งเดิมกำหนดไว้ เช่น ภาคอีสาน-ภาคเหนือ-ภาคกลาง แล้วใช้ระบบ19 โซน ที่มีการแบ่งตามภาครายจังหวัดเหมือนเดิม แต่ได้ทำการซอยภาคออกเป็นโซนย่อย โดยโซนหนึ่งก็จะมีจังหวัดไม่มาก เช่น 3-4 จังหวัด แล้วให้รัฐมนตรีของเพื่อไทยเป็นหัวหน้าโซนคุมพื้นที่ทั้งหมด แต่ปรากฏว่า ตั้งแต่มีการแบ่งโซนกันมาร่วมสองเดือน
ปรากฏว่าเกือบ 19 โซน แทบไม่มีการเรียกประชุมกันเลย ไม่ว่าจะเปิดหรือปิดสภาฯ โดยรัฐมนตรอ้างว่า ไม่มีเวลาให้
ทำให้พวกส.ส.ไม่พอใจระบบนี้กันมาก เพราะเห็นว่ารัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าโซน ยิ่งโดยเฉพาะพวกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็นส.ส. พากันลอยแพ ส.ส.
อย่างเวลาต้องการความช่วยเหลือหรือติดต่อประสานงานอะไร เพื่อผลทางการเมืองในพื้นที่ ก็ทำไม่ได้ เลยมีการเรียกร้องให้แกนนำพรรค ยกเลิกระบบ 19โซนได้แล้ว และกลับมาใช้ระบบภาคเหมือนเดิม โดยเฉพาะส.ส.อีสาน ซึ่งคงทำให้ไม่นานจากนี้ พรรคคงมีการยกเลิกระบบโซน ตามมาแน่นอน
หรือถ้าไปดูในการสัมมนาของภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ของเพื่อไทย ก็มีข่าวปรากฏออกมาว่า บรรดาส.ส.และอดีตส.ส.ของเพื่อไทย ระบายความคิดเห็นกันในห้องประชุม ว่า ระบบบริหารจัดการภายในพรรคหลายเรื่องมีปัญหา ขาดระบบบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะการกระจายอำนาจ ส.ส.ไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมตัดสินใจ บางเรื่องก็ตัดสินใจล่าช้า และคนในพรรคไม่ค่อยได้รับรู้ เช่น เรื่องการเตรียมส่งคนลงสมัครเป็นผู้ว่าฯกทม. ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่นาน ก็มีคนในพรรคสะท้อนกันว่า ถึงตอนนี้ไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทย ได้เตรียมการอะไรไปบาง ทำไมเงียบเหลือเกินแล้วหากเปิดตัวช้า จะสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่
ส่วนเรื่องภาพรวมการทำงานของรัฐบาล ก็มีการแสดงความคิดเห็นกันพอสมควร แต่ที่ตกเป็นเป้าหนักสุดคงไม่พ้น การดำเนินการเรื่องนโยบายรับจำนำข้าว ที่กำลังมีปัญหาอยู่ตอนนี้ เพราะมีเสียงสะท้อนออกมามากว่า ชาวนาไม่ค่อยได้ประโยชน์จากโครงการมากนัก อีกทั้งระบบบริหารจัดการก็มีปัญหา
**ผลก็เลยทำให้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ศิษย์รักของ เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ โดนหางเลขพอสมควร เพราะมีบรรดา ส.ส.-อดีตส.ส. ของพรรค อภิปรายเรื่องการรับจำนำข้าวกันพอหอมปากหอมคอ ส่วนใหญ่บอกว่า ข่าวที่ออกมาทางลบเวลานี้เป็นเพราะระบบบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ และเป็นห่วงเรื่องการทุจริตรับจำนำข้าว ที่จะส่งผลต่อรัฐบาลได้
ขณะเดียวกัน บรรดาส.ส.หลายภาค ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย ที่บอกจะทำโครงการ อาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตยของพรรคเพื่อไทย ให้ได้ 15 ล้านคน โดยขอให้ ส.ส.ของพรรคไปหาอาสาสมัครที่เป็นประชาชนในพื้นที่มาสมัครกันมากๆ แต่พวกส.ส.เพื่อไทย เห็นว่าหากจะหาคนมาร่วมกิจกรรมการเมืองกับพรรค ก็ต้องหาเป็นสมาชิกพรรคไปเลย ทำไมต้องไปยุ่งยาก หาอาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตยของพรรคเพื่อไทย แล้วค่อยให้พวกกลุ่มเหล่านี้ขยับมาเป็นสมาชิกพรรคภายหลัง มันจะยุ่งยากเสียเวลาเปล่าๆ
นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนออกมาในอีกหลายเรื่อง เช่น การตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ของพรรคเป็นระบบเผด็จการ สั่งการจากข้างบนลงมาข้างล่างอย่างเดียว คือ สั่งจากแกนนำพรรคให้ส.ส.ของพรรค ต้องทำตามทั้งหมด ไม่มีการเปิดโอกาสให้ ส.ส.และมวลชนของพรรคเพื่อไทยได้มีส่วนร่วม จึงควรเน้นการมีส่วนร่วมในวงกว้างให้มากขึ้น
เสียงสะท้อนเหล่านี้ ไม่รู้ว่า บรรดาแกนนำพรรคโดยเฉพาะ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อได้รับรู้แล้ว จะรับฟังและนำไปปรับแก้อะไรหรือไม่ หรือคิดแต่เพียงว่า ข้าคือเจ้าของพรรค พวกส.ส. ก็แค่พนักงานบริษัท จะสั่งอะไรก็ได้ อย่ามาหือ หรือเรียกร้องอะไร ไม่เช่นนั้นจะโดนขึ้นบัญชีดำ
**หากออกมาแบบนี้ สิ่งที่ไปประชุมสัมมนากันสองวันของเพื่อไทย ก็สูญเปล่า เพราะพรรคเพื่อไทยอย่างไรเสีย ก็ ทักษิณคิด เพื่อไทยทำอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น