xs
xsm
sm
md
lg

“โภคิน” นำทีมนั่ง กก.พรรคร่วมแก้ รธน.ยังมึนคำวินิจฉัยกลางไม่สอดคล้องส่วนตน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายโภคิน พลกุล สมาชิกพรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพ)
“โภคิน” เผย 11 กรรมการพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อไทย 7 เน้นก๊วน 111 ร่วม อ้างชะลอวาระ 3 แก้ รธน.หวังสร้างความเข้าใจ ยังงงคำวินิจฉัยกลางกับส่วนตน ให้ทีมงานดูศาลยกเลิกชะลอเปิดทางโหวตได้เลยหรือไม่ แต่รับกำหนดเวลาลำบาก ด้าน “สามารถ” ระบุรายมาตราทำยาก เหตุร่างฯ ยังค้างในสภา ขณะที่ “อุดมเดช” การันตีไม่มีลักไก่ถกปรองดอง

วันนี้ (31 ก.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นายโภคิน พลกุล สมาชิกพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ว่า พรรคร่วมรัฐบาลได้มีแถลงการณ์ขึ้นมา 1 ฉบับ และมีมติใน 3 เรื่อง คือ 1.ตั้งคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วน ทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการ เพื่อให้เป็นแนวทางให้สมาชิกรัฐสภาทั้งหมด พิจารณาได้เหมาะสมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ภายใต้ความเข้าใจของทุกฝ่าย 2.เห็นว่าระหว่างรอผลจากคณะทำงานควรชะลอการลงมติวาระ 3 ไประยะหนึ่งก่อน และ 3.ให้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมมือกับสังคมให้เข้าใจความมุ่งมั่นของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะดำเนินการในหลายด้านทั้งความเป็นธรรม การรักษาระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้รัฐบาลบริหารประเทศไปได้ตามที่ได้แถลงไว้ต่อสภา

เมื่อถามว่า มีหลายฝ่ายคัดค้านการลงมติวาระ 3 นายโภคิน กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้เราจึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา ระหว่างนี้จึงอยากขอแนะนำผู้เกี่ยวข้องชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น เมื่อถามว่า เหตุเลือกชะลอมากกว่าการถอน นายโภคิน กล่าวว่า ประเด็นเรื่องถอนเราอาจพูดกันไปเป็นธรรมดา แต่ความจริงเมื่อไปสู่วาะ 3 โดยหลักต้องลงมติกันต่อไป ส่วนจะลงมติ แล้วผ่านหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องการชะลอเป็นอำนาจของประธานรัฐสภาที่จะไปดูต่อไปว่า หากยังไม่พิจารณาในทันที หรือเป็นเรื่องแรกๆ ก็ต้องว่ากันไป แต่ทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีมากขึ้นต่อสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลที่ยังมีปัญหาที่ต้องทำความเข้าใจอีกพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในคำวินิจฉัยส่วนตน 4 ใน 8 ตุลาการ บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยมาตรา 291 หรือพูดง่ายๆ คือ อำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของรัฐสภา หรือผู้ที่มีสิทธิจะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน คำวินิจฉัยกลาง กลับให้คำแนะนำว่าหากจะแก้ไขทั้งฉบับต้องทำประชามติ ตรงนี้เลยไม่แน่ใจว่าตกลงจะไปทำประชามติตามกฎหมายอะไร จะต้องทำประชามติตามมาตรา 165 วรรค 2 ใช่หรือไม่ แล้วใครจะเป็นคนทำประชามติได้ เพราะคนเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถไปทำประชามติได้

เมื่อถามว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญยกเลิกคำสั่งชะลอโหวตวาระ 3 นายโภคิน กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวคงจะเป็นหลักการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นศาลใดเวลามีคำพิพากษาไปแล้วคำร้องที่ขอคุ้มครองชั่วคราว ก็จะยกเลิกไปในตัวในคำวินิจฉัย โดยประเด็นดังกล่าวเพิ่งจะมีการยกเลิก เมื่อถามต่อว่า การที่ศาลยกเลิกคำสั่งชะลอโหวตวาระ 3 เหมือนเป็นการเปิดทางในโหวตเลยหรือไม่ นายโภคิน กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าเปิดทางหรือไม่เปิดทาง อย่างไรก็ตาม เราจะให้คณะทำงานไปตรวจสอบอีกครั้งเพื่อดูความหมายว่าเป็นปกติอย่างที่เขาทำกันหรือไม่ ส่วนเรื่องกรอบเวลาของคณะทำงานก็จะพยายามทำงานให้เร็วที่สุด การจะกำหนดเวลาเรื่องนี้ลำบาก เพราะประเด็นมีเยอะ ความไม่เข้าใจมีมาก และพวกเราในฐานะผู้ปฏิบัติ ก็ไม่เข้าใจว่าต้องไหนต้องทำอย่างไร ก็ขอใช้เวลาสักระยะ

เมื่อถามว่า ความร่วมมือกันรวมถึง ส.ว.ด้วยหรือไม่ นายโภคิน กล่าวว่า ทุกหน่วยงาน ทั้งหมด ภาครัฐ ภาคเอกชน ส.ส.ส.ว.เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่วนฝ่ายค้านถ้าจะกรุณาทำความเข้าใจอย่างที่ควรเข้าใจด้วยก็ดี

เมื่อถามว่า จะมีการแก้ไขรายมาตราหรือบางประเด็น เช่น มาตรา 68 ที่ประชุมเห็นอย่างไร นายโภคิน กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีความเห็นเป็นหลายอย่าง วิธีที่ดีที่สุดคือพรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันส่งตัวแทนมาศึกษา อย่างไรก็ตามหากเราทำเร็วก็ว่าทำช้าก็หาว่าซื้อเวลา ส่วนเรื่องพ.ร.บ.ปรองดองไม่ได้มีการหารือกัน วันนี้เป็นเวทีแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่ง พ.ร.บ.ปรองดอง ก็เป็นอีกเวทีหนึ่ง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือต้องทำความเข้าใจกับประชาชน และมุ่งหวังว่าจะให้เกิดผลดีกับประเทศชาติ

นายโภคิน กล่าวว่า สำหรับคณะกรรมการจะมีทั้ง 11 คน สัดส่วนพรรคเพื่อไทย 7 ประกอบด้วย อาทิ นายโภคิน นายพงศ์เทพ นายวราเทพ นายภูมิธรรม เป็นต้น ชาติไทยพัฒนา 2 นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง นายชยุต ภุมมะกาญจนะ ส.ส.นครนายก ชาติพัฒนา 1 คน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล พลังชล 1 คน นายสันต์ศักดิ์ งามพิเชษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

นายโภคิน กล่าวว่า ยืนยันว่า ระหว่างที่คณะทำงานของพรรคร่วมกำลังทำงานอยู่ จะไม่มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแน่นอน หากจะทำต้องดูช่องทางว่าสามารถทำได้หรือไม่ นอกจากนี้ ในการพิจารณาของคณะทำงานจะหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรให้รอบคอบ เพื่ออธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้น และจะทำอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด เมื่อได้ผลสรุปแล้วพรรคร่วมต้องมีการชี้แจงในพรรค และประชาชน ส่วนการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย เพราะมีกลไกมากที่สุด ส่วนการลงละเอียดรายมาตราจะมีการพิจารณาอีกครั้ง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญแนะนำมา ว่า การแก้รายมาตราเหมาะสมที่จะทำได้ อย่างตนเห็นว่าควรแก้ไขในประเด็นที่มีการขัดแย้งกันเอง เช่น มาตรา 309 ที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ทำสั่งของคณะรัฐประหารใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญหมดเลย โดยตนได้เสนอต่อที่ประชุมว่ามันเป็นปัญหา

ด้าน นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา291 กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่มองว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ระหว่างที่กรรมการหารือกันอยู่ ไม่เห็นว่าจะเสนอแก้ไขได้ เนื่องจากยังมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 วาระ 3 ค้างอยู่ในสภา ซึ่งมีหลักอยู่ว่าหากมีกฎหมายที่มีหลักการเดียวกันอยู่ในสภา ไม่สามารถเสนอกฎหมายอื่นมาซ้อนกันได้ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ต้องมีการหารือกันว่าต้องทำอย่างไรต่อไป ส่วนการจะยื่นขอคำชี้แจงจากศาลหรือไม่ ก็ต้องให้คณะกรรมการหารือ เพราะในคำวินิจฉัยกลางที่ออกมายังคงมีความสับสน ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะขัดกับคำวินิจฉัยส่วนตนของบางคน ที่ระบุว่า การทำประชามติต้องทำ แต่พอออกมากลายเป็นคำว่า ควรทำ ดังนั้น จึงไม่รู้ว่าควรจะยึดถืออย่างไร

ขณะที่ นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงความกังวลหากพรรคเพื่อไทยเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ขณะเปิดประชุมสภา ทันที ว่า บรรยากาศในขณะนี้ไม่เหมาะสมกับการพิจารณาร่างพรบ.ปรองดอง วิปรัฐบาลเห็นว่าควรชะลอไว้ก่อน เพราะผู้คัดค้านได้ออกมาระบุว่า หากมีการบรรจุวาระก็พร้อมจะระดมมวลชนออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งหากจะถอน พ.ร.บ.ปรองดองออก ก็ต้องมีการบรรจุวาระเข้ามา แต่ดูแล้วไม่ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร อาจมีการออกมาชุมนุมอยู่ดี ตนได้คุยกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นการส่วนตัว ท่านระบุว่า ประเทศมีความจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจและต้องปรองดอง ถ้าใครไม่เข้าใจก็ต้องใช้เวลาในการสร้างความปรองดอง ส่วนข้อกังวลของพรรคประชาธิปัตย์ที่กลัวว่า พรรคเพื่อไทย จะลักไก่นำมาพิจารณานั้น คงไม่มีไก่ให้ลักแล้ว หากจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาคงไม่ใช่ใช้เวลาแค่ 1-2 ชั่วโมงแล้วจะให้ผ่านการพิจารณา 3 วาระรวด คงเป็นไปไม่ได้ สำหรับคณะกรรมการร่วมที่ตั้งขึ้นมาหารือนั้นจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเลยว่าจะเลือกแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือเป็นรายมาตรา
กำลังโหลดความคิดเห็น