xs
xsm
sm
md
lg

มติพรรคร่วม ตั้งคณะทำงานศึกษาแก้รธน.- ชะลอลงมติวาระ3ออกไปก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แกนนำพรรคร่วมรบ. ตบเท้าหารือ แนวทางการแก้ไข รธน. ที่ร.ร.มิราเคิลแกรนด์ อย่างคึกคัก พร้อมออกแถลงการณ์ จัดตั้งคณะทำงานของพรรคร่วมรบ. ศึกษาแก้รธน.อย่างเป็นระบบและเร่งด่วน เมื่อศึกษาเสร็จให้นำเข้าสภาให้สมาชิกรัฐสภาร่วมพิจารณาหาทางออกร่วมกัน ขณะเดียวกัน ให้ชะลอการการลงมติในวาระที่ 3 ไปก่อน และรบ.ร่วมมือกับทุกภาคส่วนรณรงค์ให้ปชช.เข้าใจถึงความจำเป็นในการการแก้ไขรธน.

ที่โรงแรมมิราเคล แกรนด์ วันนี้(31 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.30 น. บรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้เดินทางเข้าร่วมประชุมถึงท่าทีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล นายวราเทพ รัตนากร นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา สมาชิกพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิริินิล หัวหน้าทีมกฏหมายพรรคเพื่อไทย นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี เพื่อไทย และ ประธานคณะกรรมการประสานงานร่วมรัฐบาล (วิปรัฐ) นายสาโรช หงษ์ชูเวท คนใกล้ชิด พ.ต.ท ทักษิณ นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส. อ่างทอง. พรรคชาติไทยพัฒนา น.พ. วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ร.ต.ประภาส ลิมปพันธ์ ส.สบัญชีรายชื่อชาติพัฒนา นายสันศักดิ์ งามพิเชษฐ์ ส.สบัญชีรายชื่อพรรคพลังชล

ทั้งนี้นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาร่วมเลี้ยงสังสรรค์พรรคร่วมหลังจากเสร็จงานประธานในพิธีละศีลอดในเดือน รอมฏอน ที่ทำเนียบรัฐบาลในเวลา 20.00น.

ภายหลังการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ดังนี้

แถลงการณ์พรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

จากการที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ ได้รับการจัดทำขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร และแม้จะได้รับความเห็นชอบโดยประชามติของประชาชน 14 ล้านคนเศษ แต่ก็มีประชาชนอีก 10 ล้านคนเศษไม่เห็นชอบ ทั้งยังมีบทบัญญัติหลายมาตราที่ขัดแย้งกันเอง ขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญอ้างไว้อย่างชัดแจ้ง บุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในองค์กรสำคัญหลายองค์กรที่อาจใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการปฏิบัติหน้าที่ทั้งของฝ่าย นิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจำนวนมากมาจากการแต่งตั้งหรือได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐประหาร ทั้งหมดนี้เป็นบ่อเกิดอันสำคัญของความอยุติธรรมและความขัดแย้งที่ดำรงอยู่และกำลังดำเนินไปในสังคมไทย

การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้งจากรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 99 คน โดย 77 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนจังหวัดละ 1 คน อีก 22 คนรัฐสภาเลือกจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ในด้านที่เกี่ยวข้องนั้น ก็เพื่อให้ตัวแทนของประชาชนไปยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือฉบับใหม่ จากนั้นก็นำไปให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงประชามติ โดยคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดยประชาชนและหากได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในที่สุดแล้ว จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมและสร้างเสริมประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ขึ้น เพื่อเป็นหลักอันมั่นคงของสังคมไทยต่อไป โดยไม่เปลี่ยนแปลงเรื่องรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รูปของรัฐและหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ควรจะให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งเป็นการสอดคล้องต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 นั้น ได้ทำให้เกิดปัญหาและข้อสงสัยในทางปฏิบัติหลายประการ กล่าวคือ

ประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักการรับเรื่องที่มีผู้ร้องว่ามีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเสียใหม่ว่า ศาลรับเรื่องโดยตรงได้ ไม่ต้องเสนอให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ดี เว็บไซต์และเอกสารเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญที่แนะนำประชาชนระบุว่า ต้องเสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น โดยศาลอ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเองว่าเป็นเช่นนั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อธิบายไว้ในคำวินิจฉัยเลยว่าทำไมศาลพึ่งมาอ้างเช่นนี้ ทำไมไม่แก้ไขเว็บไซต์และเอกสารของตนเองเสียตั้งแต่แรก นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามปกติ และตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญของผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและรัฐสภา อาจเข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ ได้ ถ้าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับหรือการให้มีฉบับใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องคนละประเด็น ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 80 ปี นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่มีแนวคิดแปลกประหลาดเช่นนี้

ประการที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเองและสำคัญยิ่งกว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกล่าวอ้างเช่นนี้ เท่ากับเป็นการให้ศาลรัฐธรรมนูญแต่เพียงองค์กรเดียว เป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นการเคารพในตัวอักษรที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์ของผู้ร่างและสถาบันตลอดจนองค์กรต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจและหน้าที่ไว้

ประการที่สาม ข้อแนะนำที่ว่าควรจะทำประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ทำให้เกิดคำถามว่าองค์กรใดจะเป็นผู้ทำ เนื่องจากผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ดี สมาชิกวุฒิสภาก็ดี หรือแม้แต่ประชาชน 50,000 คนที่เข้าชื่อกัน ไม่มีอำนาจทำประชามติได้ คงมีแต่เพียงคณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 กำหนดให้มีสิทธิทำได้ และก็ไม่ทราบว่าหากคณะรัฐมนตรีจะจัดทำ ต้องทำในลักษณะของการหาข้อยุติ หรือเป็นการขอคำปรึกษาจากประชาชน ซึ่งคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบจะแตกต่างกัน

อนึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นี้เอง ก็เกิดจากการให้ประชาชนลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยใช้เพียงเสียงข้างมากของผู้ไปลงประชามติเท่านั้น ทั้งยังมีการวางเงื่อนไขบังคับด้วยว่า หากประชาชนลงมติไม่เห็นชอบด้วย คณะรัฐประหารสามารถนำรัฐธรรมนูญที่เคยใช้บังคับในอดีต มาปรับปรุงและบังคับใช้ต่อไปได้ จึงเป็นที่มาของคำกล่าวของทุกฝ่าย แม้แต่ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญเองว่า ขอให้ประชาชนรับไปก่อนแล้วค่อยแก้ไขทีหลัง

ประการที่สี่ การพิจารณาในวาระที่ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ค้างอยู่ในขณะนี้ จะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามมิให้ลงมติวาระที่ 3 ต่อไป แต่แนะนำว่าควรทำประชามติก่อนดังได้กล่าวมาแล้ว ทั้งๆ ที่ตุลาการรัฐธรรมนูญ 4 ท่านใน 8 ท่านมีความเห็นในคำวินิจฉัยส่วนตนว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 291 นอกจากนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านยังสำทับอีกว่า เป็นคำแนะนำที่มีอิทธิพล ดังนั้น ถ้าเดินหน้าต่อไปจะมีปัญหาหรือไม่

ความไม่ชัดเจนที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับความมุ่งมั่นที่จะต้องให้สังคมไทยมีรัฐธรรมนูญไทยที่ดี เป็นธรรม ปกปักษ์รักษาและส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องกันว่า

1)ให้จัดตั้งคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบและเร่งด่วน ทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการเพื่อเป็นแนวทางให้พรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมกันพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสมให้แก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป ภายใต้บริบทของการทำความเข้าใจและการร่วมมือกันของทุกฝ่าย

2)ในระหว่างการรอผลการศึกษาของคณะทำงานดังกล่าว ควรจะมีการชะลอการลงมติในวาระที่ 3 ไปสักระยะหนึ่งก่อน

3)ให้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลโดยการร่วมมือกับทุกภาคส่วน รณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความมุ่นมั่นของพรรคร่วมรัฐบาลที่กล่าวมาข้างต้น โดยเน้นการสถาปนาหลักนิติรัฐ นิติธรรม ให้ปรากฏเป็นจริงในสังคม เพื่อให้สามารถบริหารและพัฒนาประเทศไปได้ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา

31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555




กำลังโหลดความคิดเห็น