xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย” ไส้แตกอัดกันเละ ส.ส.ทิ่มพรรคตัวเองเผด็จการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
รายงานการเมือง

เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกไปแล้วเมื่อวันพุธที่ 1 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา หลังเสร็จสิ้นงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล ไปเมื่อคืนก่อนหน้านี้คือ 31 ก.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล หลักสี่

ต้องคอยดูว่าประชุมสภาฯ สมัยสามัญรอบนี้จะร้อนแรงแค่ไหน องค์ประชุมจะล่มสักกี่ครั้ง แล้วนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะโผล่มาร่วมประชุมสภาฯมากกว่าที่ผ่านมาหรือไม่เพราะประชุมสภาฯ สมัยที่แล้วแทบไม่เข้าประชุมสภาฯเลย

ส่วนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มติของพรรคร่วมรัฐบาลในงานเลี้ยงที่มิราเคิลก็เป็นไปตามคาด คือ ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ไม่กล้าตัดสินใจอะไร ทำได้แค่ตั้งคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 11 คนทำหน้าที่ เช่น ศึกษาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า สิ่งใดมีผลผูกพันและไม่ผูกพัน เพื่อนำไปสู่การพิจารณาโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าสามารถโหวตในวาระ3 ได้หรือไม่ หรือหากมีการแก้ไขเป็นรายมาตรา จะแก้ไขในประเด็นใดบ้าง

ส่วนระยะเวลาบอกกันมาแล้วว่าขั้นต่ำประมาณ 3-4 เดือน หากเป็นไปตามนี้ประชุมสภาฯรอบนี้ คณะทำงานชุดนี้ก็ยังศึกษาไม่เสร็จ แต่ก็ต้องจับตาอาจสับขาหลอก ถึงเวลาจริงๆ อาจทำงานไม่เกิน 2 เดือนก็ฟันธงออกมาแล้ว ว่าให้พรรคร่วมรัฐบาลลุยแก้รธน.เพียงแต่จะออกมาแบบไหน ยังต้องติดตามต่อไป

เหตุที่พรรคร่วมรัฐบาลแม้จะลุยชำเรารธน.แต่ยังคงชักช้าร่ำไรอยู่แบบนี้ น่าจะเป็นเพราะผลจากการสัมมนาใหญ่พรรคเพื่อไทยที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียนเมื่อ 28-29 ก.ค.ที่ผ่านมา

ที่มีการปิดห้องประชุมให้แกนนำพรรค-ส.ส.พรรค ได้ปรึกษาหารือกันทั้งในเวทีใหญ่และเวทีภาค ในเรื่องแก้ไขรธน.ซึ่งแม้ความเห็นของ ส.ส.และแกนนำพรรคที่พากันแสดงความเห็นเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวางแต่ก็ไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการใดๆ ออกมา

เพราะเสียงแตกออกเป็นหลายทาง มีทั้งให้ลุยโหวตวาระ 3 แก้ไขรายมาตรา หรือเสนอให้ทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3

แต่ในความเห็นที่แตกต่างกันดังกล่าวก็มีข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า ให้เดินหน้าแต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่ต้องรีบ มันจึงเป็นที่มาของมติพรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าวที่ตั้งคณะทำงาน 11 คนขึ้นมาศึกษาการแก้ไข รธน.แบบค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการสัมมนาใหญ่ของเพื่อไทยเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาดังกล่าว ต้องติดตามว่าแกนนำพรรคจะมีการทบทวนการบริหารงานอะไรในพรรคเพื่อไทยหลังจากเปิดสภาฯมาแล้วหรือไม่

เพราะพบว่า ส.ส.ในพรรคจำนวนมากเกือบทุกภาคทั้งภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคอีสาน-กรุงเทพมหานครรวมถึงปาร์ตี้ลิสต์อีกบางส่วน แสดงความเห็นแบบตรงๆ ว่าไม่พอใจในระบบบริหารจัดการพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมาพอสมควร เห็นได้จากเสียงสะท้อนและการระบายความอึดอัดใจในการสัมมนาพรรคทั้งในเวทีประชุมภาคและประชุมใหญ่ของพรรค

ซึ่งหลักๆ ที่บรรดา ส.ส.เพื่อไทยสะท้อนออกมาก็เช่น ไม่พอใจระบบบริหารพรรคที่ยกเลิกระบบภาคซึ่งเดิมกำหนดไว้เช่น ภาคอีสาน-ภาคเหนือ-ภาคกลางแล้วใช้ระบบ 19 โซนที่มีการแบ่งตามภาครายจังหวัดเหมือนเดิมแต่ได้ทำการซอยภาคออกเป็นโซนย่อยโดยโซนหนึ่งก็จะมีจังหวัดไม่มากเช่น 3-4 จังหวัดแล้วให้รัฐมนตรีของเพื่อไทยเป็นหัวหน้าโซนคุมพื้นที่ทั้งหมด แต่ปรากฏว่าตั้งแต่มีการแบ่งโซนกันมาร่วมสองเดือน

ปรากฏว่าเกือบ 19 โซนแทบไม่มีการเรียกประชุมกันเลยไม่ว่าจะเปิดหรือปิดสภาฯ โดยรัฐมนตรีอ้างว่าไม่มีเวลาให้

ทำให้พวก ส.ส.ไม่พอใจระบบนี้กันมากเพราะเห็นว่ารัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าโซนยิ่งโดยเฉพาะพวกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส.พากันลอยแพ ส.ส.

อย่างเวลาต้องการความช่วยเหลือหรือติดต่อประสานงานอะไรเพื่อผลทางการเมืองในพื้นที่ก็เลยทำไม่ได้ เลยมีการเรียกร้องให้แกนนำพรรคยกเลิกระบบ 19 โซนได้แล้วและกลับมาใช้ระบบภาคเหมือนเดิมโดยเฉพาะ ส.ส.อีสาน ซึ่งคงทำให้ไม่นานจากนี้พรรคคงมีการยกเลิกระบบโซนตามมาแน่นอน

หรือถ้าไปดูในการสัมมนาของภาคกลางและกรุงเทพมหานครของเพื่อไทย ก็มีข่าวปรากฏออกมาว่า บรรดา ส.ส.และอดีต ส.ส.ของเพื่อไทย ระบายความคิดเห็นกันในห้องประชุมว่า ระบบบริหารจัดการภายในพรรคหลายเรื่องมีปัญหา ขาดระบบบริหารจัดการที่ดีโดยเฉพาะการกระจายอำนาจ ส.ส.ไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมตัดสินใจ บางเรื่องก็ตัดสินใจล่าช้าและคนในพรรคไม่ค่อยได้รับรู้เช่นเรื่องการเตรียมส่งคนลงสมัครเป็นผู้ว่าฯกทม.ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่นาน ก็มีคนในพรรคสะท้อนกันว่า ถึงตอนนี้ไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทยได้เตรียมการอะไรไปบาง ทำไมเงียบเหลือเกินแล้วหากเปิดตัวช้าจะสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่

ส่วนเรื่องภาพรวมการทำงานของรัฐบาลก็มีแสดงความคิดเห็นกันพอสมควร แต่ที่ตกเป็นเป้าหนักสุดคงไม่พ้น การดำเนินการเรื่องนโยบายรับจำนำข้าวที่กำลังมีปัญหาอยู่ตอนนี้ เพราะมีเสียงสะท้อนออกมามากว่าชาวนาไม่ค่อยได้ประโยชน์จากโครงการมากนักอีกทั้งระบบบริหารจัดการก็มีปัญหา

ผลก็เลยทำให้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ศิษย์รักของเจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ โดนหางเลขพอสมควรเพราะมีบรรดา ส.ส.-อดีตส.ส.ของพรรค อภิปรายเรื่องการรับจำนำข้าวกันพอหอมปากหอมคอ ส่วนใหญ่บอกว่าข่าวที่ออกมาทางลบเวลานี้เป็นเพราะระบบบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพและเป็นห่วงเรื่องการทุจริตรับจำนำข้าว ที่จะส่งผลต่อรัฐบาลได้

ขณะเดียวกัน บรรดา ส.ส.หลายภาคก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของภูมิธรรม เวชชยชัย รักษาการผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยที่บอกจะทำโครงการ อาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตยของพรรคเพื่อไทยให้ได้ 15 ล้านคนโดยขอให้ ส.ส.ของพรรคไปหาอาสาสมัครที่เป็นประชาชนในพื้นที่มาสมัครกันมากๆ แต่พวก ส.ส.เพื่อไทยเห็นว่าหากจะหาคนมาร่วมกิจกรรมการเมืองกับพรรคก็ต้องหาเป็นสมาชิกพรรคไปเลย ทำไมต้องไปยุ่งยากหาอาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตยของพรรคเพื่อไทยแล้วค่อยให้พวกกลุ่มเหล่านี้ขยับมาเป็นสมาชิกพรรคภายหลังมันจะยุ่งยากเสียเวลาเปล่าๆ

นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนออกมาในอีกหลายเรื่องเช่นการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ของพรรคเป็นระบบเผด็จการ สั่งการจากข้างบนลงมาข้างล่างอย่างเดียว คือสั่งจากแกนนำพรรคให้ ส.ส.ของพรรคต้องทำตามทั้งหมด ไม่มีการเปิดโอกาสให้ ส.ส.และมวลชนของพรรคเพื่อไทยได้มีส่วนร่วม จึงควรเน้นการมีส่วนร่วมในวงกว้างให้มากขึ้น

เสียงสะท้อนเหล่านี้ ไม่รู้ว่า บรรดาแกนนำพรรคโดยเฉพาะทักษิณ ชินวัตร เมื่อได้รับรู้แล้วจะรับฟังและนำไปปรับแก้อะไรหรือไม่ หรือคิดแต่เพียงว่า ข้าคือเจ้าของพรรค พวก ส.ส.ก็แค่พนักงานบริษัท จะสั่งอะไรก็ได้ อย่ามาหือหรือเรียกร้องอะไร ไม่เช่นนั้นจะโดนขึ้นบัญชีดำ

หากออกมาแบบนี้ สิ่งที่ไปประชุมสัมมนากันสองวันของเพื่อไทยก็สูญเปล่า เพราะพรรคเพื่อไทยอย่างไรเสีย ก็ทักษิณคิด เพื่อไทยทำอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น