xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตใหม่และใหญ่ในวงการยาง..จะหวังอะไรจาก “ไอ้เต้น?!”

เผยแพร่:   โดย: ปิยะโชติ อินทรนิวาส


บนโต๊ะอาหารค่ำที่ผู้นั่งล้อมวงส่วนใหญ่คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจยางและไม้ยาง อีกทั้งถือเป็นระดับแถวหน้าของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แก่ สุทิน พรชัยสุรีย์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย มานะผล ภู่สมบุญ วีระ เจนเจริญวงศ์ สมบูรณ์ พฤกษานุศักดิ์ กับสื่อมวลชนค่ายต่างๆ อีก 4 คน โดยมีโต้โผผู้นัดแนะให้มาเจอกันคือ ทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น

ขณะที่วงกำลังคุยกันอย่างออกรสชาติถึง “วิกฤตใหม่” และน่าจะต้องจัดว่าเป็นอีก “วิกฤตใหญ่” ในวงการยางพาราไทย ผมได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่ามีเหตุคาร์บอมบ์และเป็นผลให้ไฟฟ้าดับไปทั่วเมืองปัตตานี เมื่อทราบเรื่องวงสนทนาก็ชะงักงันไปชั่วครู่ พร้อมๆ กับใบหน้าและสายตาฉงนสนเท่ห์ของแทบจะทุกคน

แวบนั้นผมคาดเดาได้ทันทีว่า ความฉงนสนเท่ห์ของแหล่งข่าวคงต้องรวมเอา “ความคาดหวัง” ที่จะถูกลดทอนลงไปอย่างมากด้วย

โดยเฉพาะประเด็นวิกฤตไฟใต้ที่มีแต่จะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ มันจะไปกลบการนำเสนอข่าวสารอันเป็นวิกฤตใหม่และใหญ่ในวงการยางไทยไปอีกนาน ทั้งที่ต้องถือเป็นวิกฤตชาติที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่ในเรื่องของวงการยางแล้ว ผลสะเทือนดูจะรุนแรงและขยายวงไปกระทบผู้คนได้มากกว่าหลายเท่า

กับวิกฤตไฟใต้เราจะวาดหวังอะไรได้อีกเล่าจากรัฐบาลปูนิ่ม โดยเฉพาะเด็กเมื่อวานซืนทางการเมืองที่มีชีวิตแบบพริตตี้มาตลอดอย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้อ่อนด้อยทั้งความรู้และความคิดที่จะใช้นำพาประเทศชาติให้ก้าวพ้นมรสุมที่รุมเร้าอยู่มากมายในเวลานี้

เช่นเดียวกับวิกฤตต่างๆ มากมายในวงการยาง สังคมไทยจะหวังอะไรได้อีกหรือกับไพร่ที่แปลงกายเป็นอำมาตย์ จากดาวสภาโจ๊กที่หันไปนำแก๊งแดงเผาบ้านเมืองจนได้เข้าสู่สภาหินอ่อน แล้วได้ดิบได้ดีได้รับมอบหมายให้เป็นรัฐมนตรีกำกับดูแลแก้ปัญหาในวงการยางโดยตรงคือ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือ “ไอ้เต้น” ตามคำเรียกขานอย่างติดปากของชาวบ้านร้านตลาดแบบเดียวกับไอ้ตู่ ไอ้เหลิม ไอ้หมัก หรืออะไรเทือกนั้น

วิกฤตในวงการยางที่นับว่าหนักหน่วงอยู่แล้วคือเรื่องของราคาผลผลิตที่ตกต่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง จากที่ชาวสวนยางเคยขายได้ถึงกว่า 180 บาท/ก.ก.เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ตอนนี้ตกลงมาอยู่ที่ประมาณ 90 บาท/ก.ก. หรือเงินในกระเป๋าเกษตรกรหายไปกว่าครึ่ง

ที่ผ่านมา ชาวสวนยางเคยรวมตัวกันลุกฮือขึ้นเรียกร้องต่อรัฐบาลมาหลายระลอก รวมตัวปิดถนนและจะบุกทำเนียบฯ ก็มีให้เห็นมาแล้ว ขณะที่ ครม.เมื่อถูกกดดันหนักเข้าก็ยอมที่จะเทเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านไปพยุงราคา และดูเหมือนไอ้เต้นก็รับปากกลายๆ ไปแล้วว่าจะเดินหน้าดันให้ราคายางขึ้นไปอยู่ที่ 120 บาท/ก.ก.ตามที่ชาวสวนต้องการให้ได้โดยเร็ว

ท่ามกลางวิกฤตมากมายกลับกำลังมีวิกฤตใหม่และใหญ่เกิดขึ้นในวงการยางไทยสมทบเข้าไปอีก นั่นคือ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรย (EU) เปิดฉากเล่นเอาเถิดเจ้าล่อต่อการนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้จากไทย ซึ่งปัญหานี้แม้จะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับไม้ทุกประเภท แต่เป้ากลับทะลุทะลวงพุ่งตรงไปยังไม้ยาง และไม่เพียงเท่านั้นยังกระทบกระเทือนเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปยังวงการยางไทยโดยรวมทั้งระบบ

ปมของวิกฤตนี้อาจจะเป็นเรื่องเข้าใจยากหน่อย โดยเฉพาะกับเกษตรกรรายย่อยหรือเจ้าของสวนยาง กล่าวคือ อียูได้ออกกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (EU Timber Regulation : EUTR) ซึ่งกฎระเบียบนี้เป็นมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาลและการค้าของสหภาพยุโรป (Forest Law Enforcement, Governance and Trade : FLEGT)

หากจะบอกว่านี่เป็นอีกมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งถูกควักมาใช้เพื่อฟื้นฟูอียูในยามที่กำลังเผชิญมรสุมเศรษฐกิจก็น่าจะได้

เรื่องนี้แม้จะมีฐานคิดจากภาวะโลกร้อนและต้องการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมโลก โดยพุ่งเป้าต่อต้านการทำไม้เถื่อนหรือไม้ที่ได้มาโดยไม่มีกฎหมายครบทุกขั้นตอน ต้นเรื่องมาจากที่ประชุมผู้นำ 8 ประเทศ หรือ G8 เมื่อปี 2541 แล้วคณะกรรมาธิการยุโรปก็มาสานต่อเป็นแผนปฏิบัติการ EU-FLEGT ในปี 2546 จากนั้นเริ่มเจรจากับหลายประเทศให้ยอมรับ มีการดึงเอาธนาคารโลกมาช่วยประสาน สำหรับในกลุ่มอาเซียนนอกจากจะบีบไทยเราให้เร่งเจรจายอมรับแล้ว ก็ยังมีการกดดันไปยังอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซียและลาวอีกด้วย

ในส่วนของไทยเรานั้น แผนปฏิบัติการ EU-FLEGT ได้ขีดเส้นตายให้เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2556 เป็นต้นไป

ซึ่งที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และคณะผู้แทนไทยประจำสภาพยุโรป ได้ออกมาเคลื่อนไหวให้คนไทยได้รับรู้มาอย่างต่อเนื่อง และในส่วนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในไทยเองก็ดิ้นเปิดเวทีหาทางออกในเรื่องนี้แล้วอย่างน้อย 2 ครั้งคือ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2555 กรมป่าไม้ร่วมกับสหภาพยุโรปเป็นเจ้าภาพ จากนั้นจัดสัมมนาโฟกัสกรุ๊ปลงลึกระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555

สำหรับองค์กรที่รับลูกต่อแบบเอาจริงเอาจังคือ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งในเวลานี้ได้จัดทำร่างความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยต่อการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาลและการค้าของสหภาพยุโรป เสนอให้ ครม.นำไปพิจารณาแล้วด้วย โดยมีทั้งข้อเสนอที่เป็นมาตรการระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาวแบบละเอียด

มาตรการระยะเร่งด่วน ดำเนินการช่วง 2 เดือนนับจากนี้คือ สิงหาคม-กันยายน 2555 เร่งเปิดเจรจาระหว่างผู้แทนไทยกับอียู เพื่อรับทราบแนวทางการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreements : VPAs) เพื่อลดผลกระทบ โดยมอบให้รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นหัวหอกขับเคลื่อนให้ทันต่อการบังคับใช้

มาตรการระยะกลาง ดำเนินการช่วง 6 เดือนคือ ตุลาคม 2555-มีนาคม 2556 ประกอบด้วย 1. ยกระดับคณะทำงานในการเจรจาทำข้อตกลงให้เป็นภารกิจเร่งด่วน 2. มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการส่งออก เร่งปฏิบัติตามข้อเจรจา 3. สนับสนุนด้านงบประมาณให้เพียงพอ 4. ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบและเข้าใจสาระสำคัญของข้อตกลง สามารถนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

มาตรการระยะยาว หรือตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เตรียมความพร้อมของไทยให้พร้อมรับมาตรการที่ประเทศคู่ค้าในภูมิภาคต่างๆ ที่นอกเหนือจากอียูจะกำหนดมาตรการในลักษณะเดียวกันมาบังคับใช้ เพื่อให้ไทยคงศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ได้ยั่งยืน และภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองและรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนต่อไป

ว่ากันว่า มีอีกหลายประเทศที่จ่อจะออกมาตรการกีดกันการนำเข้าไม้แบบเดียวกับที่สหภาพยุโรปประกาศใช้ไปแล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น

ผลกระทบต่อไทยนั้น ไล่เรียงได้ตั้งแต่ผู้ประกอบการ ผู้ค้า หรือผู้ส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้เกือบทุกชนิดจากไทยไปอียู ไม่ว่าไม้นั้นจะได้จากป่าปลูกเพื่อการพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม อาทิ ไม้ยาง ไม้อัด ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ กรอบรูปไม้ และชิ้นส่วนที่ทำจากไม้ หรือจากขี้เลื่อยและเศษไม้ รวมไปถึงไม้ Medium-Density Fiberboard หรือ MDF ไม้ปาร์ติเคิลบอร์ด ไม้ลามิเนต อีกทั้งกระดาษและเยื่อกระดาษด้วย

ไทยส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ไปต่างประเทศ ตลาดใหญ่อยู่ที่สหภาพยุโรปและอเมริกา ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2552 ไทยส่งออกมูลค่า 140,872.95 ล้านบาท ปี 2553 เพิ่มเป็น 168,003.89 ล้านบาท และปี 2554 เพิ่มสูงถึง 183,405.03 ล้านบาท

ในจำนวนรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาทต่อปีนั้น เป็นไม้ยางและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางถึงประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

มูลค่านี้ประมาณการที่ได้จากสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทยนี้ นับว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยทีเดียว และไม่ใช่จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเท่านั้น ยังไล่เรียงไปถึงผู้ผลิตในขั้นตอนต่างๆ ลงไปจนถึงเจ้าของสวนที่ปลูกและตัดไม้ยางขายด้วย

แม้วิกฤตใหม่และใหญ่ที่เกิดกับวงการยางไทยในครั้งนี้จะไม่ตื่นเต้นเร้าใจเท่าวิกฤตไฟใต้ ไม่ส่งเสียงดังสนั่นหวั่นไหวเท่าคาร์บอมบ์ แต่สำหรับผลกระทบที่จะแผ่ขยายเป็นวงกว้างและความรุนแรงที่ผู้คนจะได้รับนับว่ามากมายกว่าหลายเท่านัก
กำลังโหลดความคิดเห็น